Recode ได้ออกบทความสัมภาษณ์ผู้บริหาร Instagram ในช่วงที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านฟีเจอร์ (ที่หลายคนเชื่อว่าน่าจะลอกจาก Snapchat มา) และจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นว่า Instagram ทำอะไรไปบ้าง และอะไรเป็นการตัดสินใจของ Instagram ว่าทำไมจึงคิดจะเพิ่มฟีเจอร์เหล่านี้ขึ้นมา
Kevin Weil หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Instagram ได้กล่าวว่า ช่วงหนึ่ง Instagram กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนสนใจไปที่คุณภาพของโพสต์ว่าการโพสต์แต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จเท่าไร ซึ่ง Instagram ไม่ต้องการแบบนั้น
ปัญหาดังกล่าวเป็นแรงกดดันภายใน Instagram เพราะผู้ใช้แชร์ภาพน้อยลง ขณะที่ Snapchat เริ่มมาแรง เพราะให้ประสบการณ์กับผู้ใช้ในแบบที่ Instagram ให้ไม่ได้ คือเป็นการแชร์ภาพแบบไม่คงอยู่ตลอดไปในโลกออนไลน์ (มีผลสำรวจพบว่า Instagram แพ้ Snapchat ในแง่ความเป็น social network ที่สำคัญแล้ว) Systrom จึงคิดว่า Instagram ต้องเปลี่ยนแปลง
Systrom อธิบายว่า การเชื่อมต่อกับเพื่อนหรือครอบครัวทำให้ Instagram สำเร็จได้ ถ้ายิ่งติดตามมาก ข้อมูลก็จะเยอะ แต่การที่ติดตามเฉพาะเซเลบหรือแบรนด์ไม่ใช่สิ่งที่ Instagram ต้องการ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า Instagram ในปี 2016 จึงเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Stories, feed จัดโดยใช้อัลกอริทึม, ข้อความที่ส่งแล้วลบอัตโนมัติ, ถ่ายทอดสดวิดีโอ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้แชร์มากขึ้น และมีทางเลือกในการดูภาพมากกว่าฟีดแบบเดิม
ในด้านทีมวิศวกรของบริษัท ก่อนหน้านั้นนำมาโดย Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้งมาโดยตลอด และได้เปลี่ยนตัวเป็น Jim Everingham อดีตผู้บริหาร Yahoo ในปี 2015 และ Krieger ก็ไปอยู่ในตำแหน่งซีทีโอ หลังจากนั้นก็ได้ขายขนาดทีมวิศวกรมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีพนักงานจำนวน 200 คนแล้ว
ส่วนด้านการจัดการผลิตภัณฑ์ก็เติบโตขึ้นด้ว โดย Instagram ได้จ้าง Weil อดีตผู้บริหาร Twitter ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งเขาก็มาตำแหน่งเป็นหัวหน้างานด้านผลิตภัณฑ์ และเขาเป็นคนที่ทำให้วิสัยทัศน์ของ Systrom เป็นจริงขึ้นมาได้ (ทั้งสองคนนี้รู้จักกันมานับสิบปีแล้ว)
Stories นั้นเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้แบ่งปันภาพกับเพื่อน และจะลบเองเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ออกมาเพื่อจับกลุ่มผู้ใช้ของ Snapchat ซึ่ง Instagram มองว่าเรื่องที่โพสต์ใน Stories เป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาด จึงนำไว้บนสุดซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดมาแล้วก็เจอเลย ขณะที่ Snapchat จะเปิดมาแล้วเจอกล้องเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้แชร์ก่อน
(Kevin Systrom ซีอีโอ Instagram)
Systrom อธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจเพิ่มฟีเจอร์และเลิกใช้การโพสต์ภาพแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสว่าเป็นการยึดติดที่ไม่ถูกต้อง เขาเรียนรู้จากบริษัทอื่นทั้งบริษัทที่สำเร็จและล้มเหลว และพบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้เวลาทุกสองปีไปโฟกัสกับสิ่งใหม่ ๆ
Instagram ก็ไม่ได้ปฏิเสธเสียทีเดียวว่าไอเดียของ Stories ยืมมา โดย Weil กล่าวว่าฟีเจอร์นี้สร้างมาจากฟอร์แมตแบบเดียวกับที่ Snapchat สร้างขึ้นมา สามารถแก้ปัญหาได้ในแบบเดียวกัน มันเป็นฟอร์แมต และเราเชื่อว่าฟอร์แมตนี้จะเป็นสากลได้
หลังจากเปิดตัวฟีเจอร์เหล่านี้มา Instagram ก็พบว่าเพียง 6 เดือนที่ผ่านมานั้นมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคน ถือว่าเยอะที่สุดตั้งแต่ที่ Instagram ให้บริการมา รวมถึงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ใช้ที่แชร์เป็นจำนวนมากขึ้น และแต่ละคนก็แชร์เยอะขึ้นด้วย ซึ่งผลที่จะได้ตามมาคือ Facebook จะสามารถใช้ Instagram มาแข่งกับ Snapchat พร้อมทั้งยังช่วยในการขายโฆษณาของได้ดีขึ้นด้วย ในขณะที่บริการหลักของ Facebook ก็ใกล้หมดพื้นที่การโฆษณาใน News Feed ไปแล้ว
ที่มา - Recode