เก็บตกประเด็นวงการ Startup ปีที่แล้วและปีนี้จากเซสชัน Startup/Entrepreneur งาน CTC 2017

by nismod
24 January 2017 - 06:03

rgb72 ผู้ริเริ่มและจัดงาน Creative Talk ได้จัดงาน Creative Talk Conference 2017 เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคมที่ผ่านมาด้วยค็อนเซ็ป A Year in (p)review เป็นการรีวิวเรื่องราวในปีที่ผ่านมา (review) พร้อมมองไปยังเทรนด์ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ (preview)

งานนี้มีเซสชันใหญ่ๆ อยู่ 4 เซสชันได้แก่ Creative/Design, Technology, Digital Marketing และ Startup/Entrepreneur ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปฟังงานนี้ด้วย เลยเอาเซสชันสุดท้ายที่น่าสนใจและมีประเด็นที่สุดมาฝากกันก่อนครับ

เซสชัน Startup/Entrepreneur มีวิทยากรทั้งหมด 4 คนได้แก่

  • คุณพรทิพย์ กองชุน COO จาก Jitta
  • คุณยุทธนา ศรีสวัสดิ์ Tax Designer แทนจาก iTAX
  • คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ Founder และซีอีโอ จาก Ookbee Venture Partner และ 500 Startups
  • ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร Director of New Venture & Entrepreneurship จาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

ปีที่ผ่านมาใครก็พูดถึงสตาร์ทอัพ ecosystem เติบโตเร็ว

วิทยากรพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าปี 59 ที่ผ่านมา คำว่าสตาร์ทอัพ เป็นกระแสที่ใครๆ ก็พูดถึงอย่างมาก โดยหนึ่งในงานที่จุดประกายให้ผู้คนได้ตระหักและรู้จักสตาร์ทอัพมากขึ้นคืองาน Startup Thailand จน "ความเป็นผู้ประกอบการ" (entrepreneurship) เกิดเป็นกระแสตามมา รวมถึงเกิดเป็นสังคม entrepreneurship ในระดับระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย อย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่กระทรวงการต่างประเทศเชิญแจ๊ค หม่า ในฐานะผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาวิทยากร

ขณะที่คุณณัฐวุฒิ ระบุจากมุมมองของนักลงทุนว่ามีสตาร์ทอัพที่ระดมทุนในระดับ seed เยอะมาก จนมันเลยจุดที่จะถามว่า สตาร์ทอัพคือะไร กันไปแล้วโดยหนึ่งในสตาร์ทอัพที่มีการพูดถึงการเยอะมากที่สุดคือ FinTech ขณะที่ธนาคารก็ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนค่อนข้างเยอะ แต่สตาร์ทอัพ FinTech กลับไม่เยอะตาม ธนาคารเองก็หาสตาร์ทอัพลงทุนไม่ค่อยได้ (วิทยากรเน้นว่า FinTech นะไม่ใช่ Online Payment) ซึ่งตามความเห็นของวิทยากร สตาร์ทอัพที่จะเอาตัวรอดได้จะต้องเข้าใจ industry นี้เป็นอย่างดีด้วย ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากขึ้นในปีนี้ว่าใครจะรอดใครจะร่วง

คุณยุทธนาระบุด้วยว่ากลุ่มสตาร์ทอัพ FinTech มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรม FinTech จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อต่อรองอำนาจกับภาครัฐมากขึ้นและพูดคุยถึงแนวางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

และด้วยกระแสที่เกิดขึ้นทำให้ ecosystem โตเร็วมาก เกิดผู้ประกอบการ, VC, Inbucator, Accelerator กันเยอะ แม้แต่ภาครัฐเองก้ให้ความสนใจ เริ่มมีการออกนโยบายที่สนับสนุนสตาร์ทอัพมากขึ้น

เทคโนโลยีที่มีการพูดถึงกันมากในปีที่แล้วคือ AI, Machine Learning และ Blockchain ซึ่งตัว Blockchain น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นและอาจถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในปีนี้ เนื่องจากปีที่แล้วยังขาดวิศวกรที่มีความรู้

สตาร์ทอัพจะไม่ใช่แค่ disrupt แต่จะ collaborate กันมากขึ้น

คุณพรทิพย์มองว่า สภาพการณ์ในปีนี้ยังมีความคล้ายกับปีที่แล้ว คือ ecosystem พร้อมแต่กลับไม่มีความสมดุล อย่างภาครัฐบอกว่าจะสนับสนุนสตาร์ทอัพ 10,000 เจ้า มีผู้ประกอบการ มีนักลงทุน มีศูนย์บ่มเพาะ แต่สิ่งที่ขาดคือวิศวกร โดยเฉพาะวิศวกรที่เก่งๆ ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่

ขณะที่ทิศทางของวงการสตาร์ทอัพปีนี้น่าจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ถูกมองผู้ประกอบธุรกิจเดิมว่าเป็นคู่แข่ง จากแนวคิดของการ disrupt กลายมาเป็นความร่วมมือหรือ collaboration กันมากขึ้น ธุรกิจเดิมจะเริ่มเข้าใจว่าสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจใหม่ที่มีข้อจำกัด ขณะที่ตัวเองก็สามารถร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากความร่วมมือระหว่างธุรกิจเดิมและสตาร์ทอัพแล้ว ภาครัฐเองก็น่าจะมีบทบาทในด้านนี้มากยิ่งขึ้น อย่างการ Open API ที่จะมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ความร่วมมือจากภาคธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณพรทิพย์ระบุว่าสิ่งที่อยากเห็นในเมืองไทยคือบริการประเภท "as a service" ต่างๆ อย่างเช่น Bank as a service แต่ธนาคารมีบริการบางอย่างสำหรับการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ

สุดท้ายคุณยุทธนาฝากให้กับคนที่คิดจะทำสตาร์ทอัพด้วยว่า หากคิดจะทำตามกระแส ทำแล้วดูดีดูเท่ แนะนำว่าอย่าทำ เพราะสตาร์ทอัพคืองานรายได้ไม่ดีและเหนื่อย ถ้าทำเพราะหวังอยากรวย อย่าทำ และหากคุณไม่มีเป้าหมายที่ไกลพอ ไม่มีแรงบันดาลใจ จะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ไปได้เลย ทำไปซักพักก็เลิก

ภาพจาก - Creative Talk Live

Blognone Jobs Premium