นอกจากเป็นเกมยอดนิยมอันดับต้นๆ ณ เวลานี้แล้ว Dota 2 ยังเป็นเกมที่ถูกนำมาแข่งขันกันในรูปแบบของกีฬา esports อย่างแพร่หลาย มีการจัดตั้งทีมอาชีพ และจัดทัวร์นาเมนต์อย่างต่อเนื่องพร้อมเงินรางวัลมหาศาล มีคนดูทั่วโลกที่เฝ้ารอชมรอเชียร์ทีมโปรด ไม่ต่างกับการแข่งขันกีฬาปกติทั่วๆ ไป
เพื่อตอบรับกับกระแส esports ที่กำลังอยู่ในช่วงตื่นตัวแบบสุดๆ และกำลังถูกจับตามองจากคนในหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต คนทำโฆษณา แบรนด์สินค้า หรือ นักลงทุน ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งซึ่งติดตาม Dota 2 ในฐานะการแข่งขันกีฬา จึงอยากจะลองชวนทุกคนทั้งคนที่ไม่เคยรู้จักเกมนี้มาก่อน หรือเคยเล่นแต่ไม่เคยติดตามการแข่งขันระดับมืออาชีพ มาลองเริ่มดู Dota 2 แบบ esports ไปกับบทความนี้ครับ
Dota 2 คือเกม MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Valve บริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเกมจากอเมริกา
รูปแบบการเล่นคือผู้เล่นถูกแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 5 คน ผู้เล่นจะเลือกเล่นตัวละคร (ในเกมเรียกว่า Hero) ที่มีความสามารถแตกต่างกัน ร่วมมือกันไปทำลายฐานทัพใหญ่ (ในเกมเรียกว่า Ancient) ของอีกฝั่งให้แตก
ความสนุกของ Dota 2 คือการต้องร่วมมือกันเป็นทีมเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีการสร้างกลยุทธ์ที่หลากหลายจาก Hero ที่แต่ละคนเลือกเล่น และความตื่นเต้นเร้าใจจากการเล่นที่ต้องปรับเปลี่ยนแผนการกันตลอดเวลา
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมขอแนะนำคลิป TEDx ของ Clement 'Puppey' Ivanov ผู้เล่นมืออาชีพและกัปตันของ Team Secret ที่ได้พูดถึงภาพรวมของ Dota 2 เอาไว้อย่างละเอียดและเข้าใจง่ายครับ
จริงๆ แล้ว esports กับการแข่งขันกีฬาทั่วไปแทบไม่แตกต่างกันเลย มีการแข่งขันจริงจังแบบมืออาชีพ มีการจัดตั้งทีมหรือสังกัดของผู้เล่น มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน มีผู้เล่นซูเปอร์สตาร์ที่แฟนๆ ชื่นชอบ มีทัวร์นาเมนต์ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก มีการขายตั๋วเข้าชม (ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์) เรียกได้ว่ากีฬาทั่วไปมีอะไร esports ก็มีแบบนั้นเหมือนกัน
สำหรับคนที่เริ่มสนใจ อยากจะลอง Dota 2 ในฐานะ esports กันบ้างแล้ว จุดเริ่มต้นแรกสุดที่อยากให้ลองชมก่อนคือหนังเรื่อง Free to Play: The Movie สารคดีตามติดชีวิตผู้เล่น Dota 2 ระดับมืออาชีพ 3 คน โดยพวกเขากำลังจะต่อสู้เพื่อชิงชัยในงาน The International กับเงินรางวัลรวม 1,000,000$ (ถือว่ามากที่สุดในขณะนั้น)
สิ่งที่จะได้จากหนังเรื่องนี้คือบรรยากาศจริงๆ ติดขอบสนามของการแข่ง รูปแบบของเกมเบื้องต้น และเบื้องหลังชีวิตของผู้เล่นแต่ละคนที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง มีทั้งความสนุก ความมัน และเรื่องราวดราม่าครบรสครับ
สามารถรับชมได้จาก Youtube ด้านล่าง (มีคำบรรยายภาษาไทยให้เลือกชมด้วย)
หากลองแบ่งประเภททัวร์นาเมนต์ Dota 2 แบบคร่าวๆ สามารถแบ่งได้สองแบบหลักๆ คือ แบ่งตามผู้จัด และ แบ่งตามลักษณะของการแข่ง
แบ่งตามผู้จัด
ทัวร์นาเมนต์ที่จัดโดยบริษัท Valve เอง มีชื่อเรียกว่า Major ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่ประจำปี มีเงินรางวัลสูง และ โปรดัคชันการจัดงานที่ยิ่งใหญ่
รูปแบบของ Major จะจัดหมุนเวียนกันไปตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี 2017 จะมีงาน Major 3 ครั้งด้วยกัน (ครั้งแรกที่จะถึงในเร็วๆ นี้คือ Kiev Major 2017)
สำหรับ Major ที่ใหญ่ที่สุดของปีคืองาน The International หรือเรียกกันย่อๆ ว่า TI เปรียบได้กับงานชิงแชมป์โลก เงินรางวัลส่วนหนึ่งจะมาจากส่วนแบ่งการซื้อไอเท็มภายในเกมจากคนเล่นเกมทั่วโลก
ส่วนทัวร์นาเมนต์ที่จัดโดยผู้จัดอื่น ก็มีความใหญ่เล็กแตกต่างกันไป ถ้าเป็นเจ้าใหญ่ๆ ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ESL One, DreamLeague, SL i-League StarSeries, Dota Asia Championship, The Summit เป็นต้น
แบ่งตามลักษณะของการแข่ง
โดยทั่วไปแล้ว โหมดที่ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการของ Dota 2 คือ Captains Mode ในโหมดนี้จะให้ทั้งสองทีมผลัดกัน Pick (เลือก Hero ที่ต้องการจะเล่น) และ Ban (แบน Hero นี้ออกไป ทั้งสองทีมไม่สามารถเลือกเล่นได้) ตรงนี้แตกต่างจากการเล่นในโหมดทั่วไป ที่สามารถเลือก Hero ที่ต้องการได้ตามใจชอบ
การ Pick/Ban นี้จะทำในระยะเวลาที่จำกัด และบางครั้งผลการแข่งของเกมสามารถรู้ได้ตั้งแต่ตอน Pick/Ban เพราะการเลือก Hero ของทีมที่สัมพันธ์กัน และการแบน Hero ตัวถนัดของฝ่ายตรงข้ามออกไป หรือ Ban เพื่อทำลายแผนฝั่งตรงข้าม สามารถชี้ขาดเกมได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ เวลาดูการแข่งขัน Dota 2 ดังนี้
Double Elimination คำนี้อาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าไร ลองมาดูภาพประกอบกันครับ
จากภาพ จะเห็นได้ว่าสายการแข่งขันจะถูกแบ่งออกเป็นสายบนและสายล่าง
เมื่อเริ่มแข่งทีมจะเริ่มที่สายบน (Winner’s Bracket) และถ้าหากแพ้ก็จะตกลงมายังสายล่าง (Loser’s Bracket) และถ้ายังแพ้ตอนอยู่สายล่างอีก ก็จะต้องออกจากการแข่งขันไป ทีมในสายล่างก็จะต้องเจอกับทีมที่ตกลงมาจากสายบนไปเรื่อยๆ และถ้าหากเป็นผู้ชนะในสายล่าง ก็ได้ไปพบกับผู้ชนะสายบนในรอบชิงชนะเลิศนั่นเอง
เว็บไซต์ที่ใช้ติดตามข่าวสารการแข่งขัน Dota 2 มีดังนี้
GosuGamers Dota 2 : เว็บรวบรวมข่าวสารและการแข่งขัน Dota 2 (และ esports เกมอื่นๆ) ที่ใช้งานได้ง่ายที่สุดเว็บหนึ่ง ด้านขวาบนของเว็บจะมี Matchticker ที่จะบอกให้เรารู้ว่า กำลังจะมีการแข่งขันคู่ไหนบ้าง จะแข่งกันในอีกกี่ชั่วโมง แข่งกันในรายการอะไร และเมื่อกดเข้าไปก็จะเข้าไปยังหน้า Streaming ของการแข่งขันนั้นๆ ทันที
Liquipedia Dota 2 : เปรียบได้กับ wikipedia ของ Dota 2 เว็บนี้คือคลังข้อมูลที่ใหญ่ที่สุด มีตั้งแต่ประวัติของผู้เล่น รายละเอียดของทีมต่างๆ สถิติการย้ายทีมของผู้เล่น รายละเอียดทัวร์นาเมนต์พร้อมอัพเดทผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ และ ข้อมูลเบื้องต้นของเกมนี้ เรียกได้ว่า มาที่เดียวครบ จบทุกอย่างที่อยากรู้
theScore esports : Application บนมือถือเพื่อติดตามผลการแข่งขันกันแบบสดๆ มีทั้งหน้าจอแสดงสถิติต่างๆ ในเกม รวมถึงลิงค์สำหรับดูการถ่ายทอดสด นอกจากนี้ ยังมีข่าวสาร บทสัมภาษณ์และบทวิเคราะห์ให้อ่านอีกด้วย
ลิงค์ดาวน์โหลด: iOS, Android
The Dreamcasters : สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่อยากเข้าใจถึงรายละเอียดของการแข่งขันในแต่ละเกมแบบเจาะลึก ขอแนะนำทีมพากย์จาก The Dreamcasters ที่นอกจากจะพากย์ได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ไม่แพ้กับนักพากย์เมืองนอกแล้ว ยังมีการวิเคราะห์เกมระหว่างแข่งและพร้อมความรู้เกี่ยวกับตัวเกมไปพร้อมๆ กัน อ่านบทสัมภาษณ์ของทีมงานนี้ได้ที่นี่
NoobFromUA : ถ้าหากเวลาไม่เอื้ออำนวยในการดูถ่ายทอดสด ขอเชิญที่ YouTube Channel นี้ ซึ่งจะรวบรวมไฮไลท์เด็ดๆ จังหวะคอมโบโดนๆ ของแต่ละแมตช์การแข่งขันให้เราดูย้อนหลัง
ทัวร์นาเมนต์ Dota 2 ระดับนานาชาติ จะใช้วิธีแบ่งทีมตามภูมิภาคที่ทีมนั้นๆ เล่นอยู่ เพื่อใช้สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค เพื่อหาผู้ชนะเป็นตัวแทนไปแข่งรอบสุดท้าย (ดังนั้น หากทีมที่มีผู้เล่นชาวยุโรปทั้งทีม แต่มีต้นสังกัดของทีมอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็จะถูกจัดเป็นทีมในโซนอเมริกา เป็นต้น)
บทความนี้จะขอแนะนำทีมเด่นๆ จากแต่ละภูมิภาคตามความคิดของผู้เขียน เพื่อที่ว่านักดูมือใหม่จะได้ลองติดตามผลงานของพวกเขากันดูครับ
โซนอเมริกา
โซนยุโรป
โซน CIS (กลุ่มประเทศที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต)
โซนจีน
โซน SEA
ธรรมชาติของทีม Dota 2 (และ esposts อื่นๆ) คือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากการยุบทีม ต้นสังกัดเลือกที่จะปล่อยทีมในสังกัดเดิมออก เพื่อหาทีมใหม่มาเข้าสังกัด หรือการเปลี่ยนผู้เล่นในทีมแบบยกแผง ดังนั้น ผู้ชมหลายคนจึงเลือกที่จะตามเชียร์ตัวผู้เล่นมากกว่าตัวทีม
Dota 2 Ranking จาก GosuGamers
ชุมชนคนเล่นและคนดู Dota 2 ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ Reddit /r/Dota2 ข้างในมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแบบชนิดที่ต้องเรียกครอบจักรวาล ตั้งแต่การอัพเดทผลการแข่งขัน การปล่อยมุกตลก แลกเปลี่ยนเทคนิคการเล่น ไฮไลท์จังหวะสำคัญในการแข่งขัน ทั้งจริงจังและช็อตเรียกเสียงฮา รายงาน Bug ของเกม ไปจนถึงการแฉและดราม่าในวงการ Dota 2
ส่วนตัวแล้ว มองว่า esports น่าจะเป็นอีกหนึ่งวงการที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่มีทีมกีฬามืออาชีพ บริษัทยักษ์ใหญ่ (อย่างเช่น Alibaba) หรือ แวดวงสื่อ (ESPN เริ่มมีการถ่ายถอดสด esports ผ่านช่องของตัวเองแล้ว) เริ่มกระโดดเข้ามาร่วมวงกันมากขึ้นเรื่อยๆ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเกมเมอร์ที่อยากจะเปลี่ยนจาก “คนเล่น” มาเป็น “คนดู” ทุกคน ได้สัมผัสถึงคำว่า “การเล่นเกม” ในอีกมิติหนึ่งที่จริงจัง ตื่นเต้น และ มีความสนุกสนาน ไม่ต่างจากกีฬาทั่วไปครับ
แหล่งข้อมูล