ภาคประชาชนชี้ ปฏิรูปสื่อไม่ก้าวหน้า ถ้าทหารไม่วางมือคืนคลื่นวิทยุให้ประชาชน

by sunnywalker
25 January 2017 - 11:24

ปลายปี 2559 คสช.ใช้อำนาจตามมาตร 44 ยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมทีวีดิจิทัลและยืดเวลาคืนคลื่นของหน่วยงานรัฐอีก 5 ปี ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชน ผู้เช่าคลื่นวิทยุชุมชน และเครือข่ายนักวิชาการจึงมีฉันทามติร่วมกันว่า คำสั่งดังกล่าว ทำให้การปฏิรูปสื่อ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2560) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมหรือ กสทช. จัดงานเสวนาโต๊ะกลม "มองอดีต แลอนาคต การจัดสรรคลื่นความถี่" โดยเชิญนักวิชาการ และผู้ประกอบการวิทยุชุมชนเข้ามาร่วมพูดคุยปัญหา เนื่องจากปัจจุบันคลื่นวิทยุส่วนใหญ่ถือครองโดยกองทัพ ตามแผนเดิมจะคืนให้ กสทช.ไปจัดสรรคลื่นความถี่ในเดือนเมษายนนี้ แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา คสช.ใช้มาตรา 44 ยืดขยายการคืนคลื่นวิทยุออกไปอีก 5 ปี เป้าหมายเสวนาครั้งนี้จึงมาพูดคุยว่าคลื่นวิทยุซึ่งเป็นสื่อชุมชนท้องถิ่นสำคัญจะไปทางไหนต่อ

ก่อนเริ่มงานเสวนา ภาคประชาชนและเครือข่ายนักวิชาการใช้เวลาไม่มากในการแถลงว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้การปฏิรูปสื่อล้มเหลว คลื่นวิทยุตามแผนแม่บทเดิม ควรคืนให้เป็นของภาคประชาชนในเดือนเมษายนปีนี้ จนมามีคำสั่งเลื่อนไปอีก 5 ปี เท่ากับภาคประชาชนรอมา 10 ปีแล้ว และในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติชาติ ฉะนั้น หมดเวลาแล้วที่รัฐจะถือครองคลื่นต่อไป

สาระสำคัญงานเสวนาโต๊ะกลม "มองอดีต แลอนาคต การจัดสรรคลื่นความถี่"

รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้ว่า สื่อคือโรงเรียนของสังคม แต่เจ้าของสื่อวิทยุส่วนใหญ่เป็นกองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ เหลือมาถึงภาคประชาชนน้อยมาก คำถามคือ กองทัพจะถือครองสื่อไปทำไม เพราะการบริหารจัดหารสื่อภาคเอกชนประชาชนทำได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การให้เช่าคลื่นความถี่มีราคาแพง ภาคประชาชนมาเช่าส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าทำแนวการเมือง ทำแนวบันเทิงเพื่อหาโฆษณา แล้วจะเป็นสื่อคุณภาพได้อย่างไร

ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พูดถึงงานวิจัย การสำรวจคลื่่นความถี่วิทยุ 500 กว่าคลื่นในไทย รวมถึงความจำเป็นในการถือครองว่า เป็นความลับมาก หาข้อมูลยาก

แต่จากที่ลงมือสำรวจเอง พบว่า ข้อมูลไม่เพียงพอ บางหน่วยงานก็ไม่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ก็สามารถสรุปผลการวิจัยได้ว่า 79% ของคลื่นวิทยุ ใช้ประโยชน์ไม่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน ในส่วนคลื่นที่กองทัพถือครองมีเพียง 11% เท่านั้น ที่ใช้งานสอดคล้องตามหลักการ

ผศ.ดร. เอื้อจิต จึงเรียกร้องให้เผยแพร่ผลการสำรวจออกสู่สาธารณะออกสู่สาธารณะ นอกจากนี้ยังตั้งคำถามต่อ คสช.ว่า ที่เป็นอยู่นี้โปร่งใสเพียงใด และภาคประชาชนจะหารือกับใครที่จะดูเรื่องความโปร่งใสได้บ้าง ผศ.ดร. เอื้อจิต ยังบอกด้วยว่า ปฏิรูปสื่อไทยไม่ไปไหน ถ้าทหารไม่วางมือ

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คลื่นวิทยุของสถาบันการศึกษามีแค่ 11 แห่ง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับตัว ไม่รับเงินรัฐ หาเงินดำเนินการเองมาตั้งแต่ปี 2541 เห็นว่าควรคืนคลื่นให้ภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนบริหารจัดการคลื่นวิทยุเอง เพื่อจะได้มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ สุวรรณา ยังระบุว่า ถ้าตนมีภาคีร่วมมือมากพอ จะฟ้อง กสท. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจคลื่นวิทยุในประเทศไทย และจากงานสำรวจของคุณเอื้อจิตเห็นได้ชัดว่า สถานีวิทยุของจุฬาฯทำตามกฎระเบียบ และดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมาย ตนอยากให้สาธารณะชนรับรู้ จึงเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูล

สุวรรณา ยังบอกอีกว่า หากกองทัพยังตั้งใจจะถือครองคลื่นวิทยุต่อไป ก็จะไม่ดีกับตัวกองทัพเอง เพราะอนาคตอันใกล้ เพราะเทคโนโลยีเลี่ยนไป วิทยุแอนะล็อกจะไม่มีค่า

ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ คณบดีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่าตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ประชาชนมองว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่ผู้ดู ผู้ฟัง ผู้ซื้อ ประชาชนมีสิทธิ์ใช้ทรัพยากรสื่อ คนไทยมีความรู้และเข้มแข็งมากพอที่จะแยกแยะได้ว่า สื่อไม่ใช่แค่รับใช้รัฐและธุรกิจเท่านั้น แต่สื่อยังรับใช้สาธารณะได้ด้วย

ภาคประชาชนรอคอยที่จะใช้คลื่นนี้มานาน ไม่อยากให้การใช้อำนาจมาอยู่เหนือกฎหมาย

เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบอาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย บอกว่าคนไทยอาจคิดว่าวิทยุชุมชนเป็นอีแอบ เช่าใช้ของรัฐแบบนี้ดีแล้ว จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน แต่วิทยุชุมชนต้องเผชิญกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมาย ถ้าพลาดก็หมดอนาคตในวงการวิทยุไปเลย วิทยุชุมชนจึงไม่ใช่อีแอบ แต่อยู่ในวิบากกรรมมานานแล้ว

อนาคตถ้ายังไม่มีการประมูลคลื่น เจ้าของคลื่นก็ยังคงเป็นเจ้าของคลื่นต่อไป วิทยุชุมชนจะค่อยๆ ตายไป

วิชาญ อุ่นอก (คนตรงกลาง)

วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งประเทศไทย มองว่า หัวข้องานเสวนางานนี้คือแลอนาคต แต่บอกตรงๆ ว่ายังมองไม่เห็น เกือบ 20 ปีที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพื่อนๆ หลายคนเสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย มองว่าคุณค่าวิทยุชุมชนอยู่ตรงไหน ทำไปโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ การกลับมาเกิดใหม่ของวิทยุชุมชนก็ยาก ต้องใช้เงินหลายหมื่น ไหนยังจะต้องทำ MOU กับทหารในพื้นที่ หลายคนจึงเลือกยุติการออกอากาศไป

ปิดท้ายงานเสวนาที่ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม ระบุว่า คลื่น FM ในกรุงเทพฯ 3 ใน 4 บริหารจัดการโดยเอกชน ถ้าเช่นนั้น ยังจำเป็นหรือไม่ที่รัฐยังคงถือครองอยู่

คุณวิชาญระบุว่า ยังทันเวลาที่ กสทช.จะเริ่มต้นกำหนดทิศทางห้าปีต่อจากนี้ กสทช.มีอำนาจกำหนดระยะเวลาได้ จึงขอท้าทาย กสทช. ให้นำคลื่นมาพิจารณาใหม่ ก่อน 3 เมษายนนี้ และถ้าเบื้องบนว่าอย่างไร ก็ค่อยคิดต่อ

Blognone Jobs Premium