Uber โดนประท้วงหนัก แคมเปญ #DeleteUber ชวนลบบัญชีทิ้ง เหตุเพราะสนับสนุน Trump

by mk
30 January 2017 - 02:25

บรรดาผู้นำโลกไอทีสหรัฐต่างออกมาคัดค้านนโยบายผู้อพยพของ Donald Trump ที่ดูเป็นเอกภาพ แต่กรณีของ Uber กลับแตกต่างออกไป

Travis Kalanick ซีอีโอของ Uber เคยเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับ Trump มาก่อน (คนอื่นที่เข้าร่วมคือ Elon Musk และซีอีโอของบริษัทใหญ่อื่นๆ เช่น Disney, IBM, Wal-Mart, GM, PepiCo รวม 19 คน) ทำให้เขาถูกวิจารณ์มาก่อนแล้วว่าเข้าไปช่วย Trump และในแถลงการณ์ของเขาเรื่องผู้อพยพ ก็ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจน (เท่ากับซีอีโอคนอื่นๆ) ในการคัดค้าน Trump

ความไม่พอใจแต่เดิม มาบวกกับเหตุการณ์ประท้วง Trump ที่สนามบิน JFK ในนิวยอร์ก โดยกลุ่มคนขับรถแท็กซี่นิวยอร์ก รวมตัวหยุดงาน 1 ชั่วโมงเพื่อประท้วง Trump ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่มีรถแท็กซี่ให้เรียก เหตุการณ์นี้ทำให้ Uber New York ประกาศลดราคา surge pricing ที่สนามบิน JFK ชั่วคราว

การลดราคาของ Uber มองได้ทั้งสองแง่คือ ช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องเสียค่ารถแพง ในช่วงที่แท็กซี่หายาก (แม้จะต้องรอรถกันนานขึ้น) แต่ในมุมของผู้คัดค้าน Trump มองว่า Uber มาฉวยจังหวะทำกำไรจากโอกาสนี้ และบวกกับประวัติเก่าของ Uber ที่ไม่ค่อยรักษาผลประโยชน์ของคนขับรถ (ข่าวเก่า) และการที่ซีอีโอเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้ Trump เลยเกิดแคมเปญ #DeleteUber ขึ้นมา

คนที่ไม่พอใจ Uber จำนวนหนึ่ง ร่วมติดแท็ก #DeleteUber โดยปิดบัญชี Uber ของตัวเอง แล้วให้เหตุผลที่ปิดบัญชีว่า "ไม่ต้องการสนับสนุนผู้นำเผด็จการ"

หลังแคมเปญนี้แพร่หลายออกไป ฝั่งของ Uber ต้องออกมาแก้ข่าว โดยบอกว่าเหตุผลที่ยกเลิก surge pricing เป็นเพราะต้องการช่วยให้คนเดินทางไป-กลับสนามบิน JFK ในราคาปกติ

ส่วนซีอีโอ Travis Kalanick ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กอีกรอบ ยืนยันว่าบริษัทจะช่วยเหลือคนขับรถที่ถูกแบนเข้าประเทศ โดยส่งทีมกฎหมายไปช่วยเหลือ และชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงที่ถูกแบน และ Kalanick ยังประกาศตั้งกองทุน 3 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือคนขับรถในปัญหาเรื่องการเข้าเมือง และการแปลภาษาอีกด้วย

ก่อนที่ Kalanick จะออกมาแถลง คู่แข่ง Lyft ออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน Trump อย่างหนัก และประกาศบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้องค์กร ACLU (American Civil Liberties Union) ที่เป็นจุดศูนย์กลางในการประท้วง Trump รอบนี้ ส่งผลให้การออกมาตั้งกองทุน 3 ล้านดอลลาร์ของ Uber ถูกมองว่าเป็นการเกทับ Lyft อีกด้วย

ที่มา - Slate, The Verge, Lyft

Blognone Jobs Premium