อุตสาหกรรมไอทีไทยอยู่อันดับ 42 ของโลก

by mk
17 September 2008 - 06:21

BSA และ Economist Intelligence Unit (EIU) ออกรายงานการจัดอันดับอุตสาหกรรมไอทีของประเทศต่างๆ ในโลก (IT industry competitiveness index) จำนวน 66 ประเทศ ผลคือประเทศไทยอยู่อันดับ 42 ตกลงมาจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ

สหรัฐอเมริกายังเป็นแชมป์ด้วยคะแนนรวม 74.6 ส่วนคะแนนของไทยคือ 31.5

10 อันดับแรก

  1. สหรัฐอเมริกา
  2. ไต้หวัน
  3. สหราชอาณาจักร
  4. สวีเดน
  5. เดนมาร์ก
  6. แคนาดา
  7. ออสเตรเลีย
  8. เกาหลีใต้
  9. สิงคโปร์
  10. เนเธอร์แลนด์

ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นตกจากอันดับ 2 เมื่อปีก่อนลงไปอยู่อันดับ 12 ภายในปีเดียว ส่วนไต้หวันไต่จากอันดับ 6 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้เช่นกัน

อันดับของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

  • ไต้หวัน - 2
  • เกาหลีใต้ - 8
  • สิงคโปร์ - 9
  • ญี่ปุ่น - 12
  • ฮ่องกง - 21
  • มาเลเซีย - 36
  • ไทย - 42
  • ฟิลิปปินส์ - 47
  • จีน - 50
  • อินโดนีเซีย - 58
  • เวียดนาม - 61

วิธีการคิดคะแนนของ EIU ใช้เกณฑ์ 6 ชนิดโดยมีน้ำหนักแตกต่างกันไป ในเกณฑ์แต่ละอันมีตัวชี้วัดย่อยอีกหลายอย่าง ถ้าสนใจก็ดูในรายงานฉบับเต็มกันเอง คะแนนของประเทศไทยมีดังนี้ (คะแนนเต็ม 100 ทุกข้อ)

  • สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ - 78
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที - 6
  • ทรัพยากรมนุษย์ - 43.4
  • สภาพแวดล้อมด้านกฎหมาย - 43.5
  • สภาพแวดล้อมด้านการวิจัยและพัฒนา - 0.2
  • ปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไอที - 62.7

เห็นตัวเลขอันที่น้อยเวอร์ๆ มันน้อยจริงนะครับไม่ใช่พิมพ์ผิด ยกตัวเลขของประเทศอื่นมาเทียบ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของสวิตเซอร์แลนด์ได้ 93.3 แต้ม ส่วนไต้หวันเป็นแชมป์ด้านการวิจัยและพัฒนาที่ 74.3 แต้ม

นิตยสาร BusinessWeek สรุปสถานะของประเทศไทยแบบสั้นๆ ว่า

Thailand scores high for its overall business environment but lags in the development of its IT infrastructure.

การวัดคะแนนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เค้าใช้ตัวชี้วัดย่อย 4 ตัวประกอบกันคือ

  • มูลค่าการใช้จ่ายซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านไอที ต่อประชากร 100 คน
  • จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อประชากร 100 คน
  • จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ต่อประชากร 100 คน
  • จำนวนเซิร์ฟเวอร์บนอินเทอร์เน็ตต่อประชากร 100,000 คน

ส่วนการวัดคะแนนด้านการวิจัย ใช้ตัวชี้วัดย่อย 4 ตัว

  • งบประมาณด้านการวิจัยของรัฐบาลต่อประชากร 100 คน
  • งบประมาณด้านการวิจัยของเอกชนต่อประชากร 100 คน
  • จำนวนสิทธิบัตรด้านไอทีที่จดใหม่ในปีนั้น ต่อประชากร 100 คน
  • รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา (royalty and license fee) ต่อประชากร 100 คน

ที่ต้องสังเกตคือ EIU ให้น้ำหนักกับจำนวนสิทธิบัตรถึง 65% ของคะแนนด้านการวิจัย จึงไม่น่าแปลกใจที่คะแนนด้านนี้ของประเทศไทย (และอีกหลายๆ ประเทศ) จึงต่ำเรี่ยดินแบบที่เห็น

ตัวรายงานฉบับเต็มมีให้โหลดฟรี (เพราะ BSA สปอนเซอร์ให้) ดาวน์โหลดได้จาก How technology sectors grow: Benchmarking IT industry competitiveness 2008

ที่มา - Economist Intelligence Unit, BusinessWeek

Blognone Jobs Premium