ซีอีโอ MFEC ชี้บริษัทไอทียุคหน้ารับจ้างอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างโมเดลธุรกิจร่วมกับลูกค้า

by sponsored
1 February 2017 - 03:40

Blognone เคยสัมภาษณ์ คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร หรือคุณเล้ง ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC มาแล้วเมื่อสองปีก่อน ผ่านมาสองปีธุรกิจไอทีเปลี่ยนไปอย่างมาก การใช้บริการคลาวด์ไม่ใช่เรื่องสำหรับบริษัทขนาดเล็กอีกต่อไป แต่องค์กรทุกขนาดกลับใช้งานกันเป็นปกติ บริการสตรีมมิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกคน และอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดไม่ใช่เพียงบริการสำหรับกลุ่มคนมีกำลังซื้อสูงอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กระทบทั้งบริษัทไอทีอย่าง MFEC ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ขณะเดียวกันบริษัทสื่อ, ธุรกิจการเงินการธนาคาร, หรือแม้แต่วงการบันเทิง ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในแง่ของบุคคลากรไอทีมีแนวโน้มที่บุคคลากรจะออกไปตั้งบริษัทสตาร์ตอัพเองหรือบริษัทขนาดเล็กสามารถให้ข้อเสนอชิงบุคคลากรกับบริษัทขนาดใหญ่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้คุณเล้งเริ่มแนวทางการสร้างธุรกิจแนวใหม่ ภายใต้รูปแบบการลงทุนร่วมกับพันธมิตร รวมถึงการร่วมทุนกับพนักงาน โดยตอนนี้มีบริษัทแรกเป็นบริษัท Playtorium Solutions ผู้ให้บริการทดสอบซอฟต์แวร์แบบ crowd sourcing เรามีโอกาสได้เข้าไปคุยกับคุณเล้งถึงแนวคิดของการลงทุนครั้งนี้ในบทสัมภาษณ์นี้

BN: บริษัทที่มีธุรกิจทำกำไรอยู่แล้วอย่าง MFEC ทำไมถึงต้องหาธุรกิจใหม่ลงทุน

คุณเล้ง: ทุกวันนี้อุตสาหกรรมไอทีแบ่งชั้นกันเป็นเลย์เยอร์เหมือน OSI ในระบบเน็ตเวิร์ค ผมมองว่าในอนาคตอันใกล้ อาจจะ 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมจะถูก disrupt ไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเลย์เยอร์เดียวคือ Application ที่ผูกติดกับธุรกิจโดยตรง

การปรับตัวของธุรกิจ System Integrator (SI) ในยุคต่อไปจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องของการไปแข่งกันเองกับ SI อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทีมเซลล์หรือแข่งขันด้านราคา แต่ SI ทุกรายกำลังถูกเทคโนโลยี disrupt ด้วยกันทั้งหมด โมเดลธุรกิจแบบ MFEC อาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไปในอนาคต สิ่งที่เรากำลังทำคือ เราตั้งคำถามว่าเราจะปรับตัวยังไงจากรูปแบบเดิม

ที่ผ่านมาเรานำทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไปหาลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นเราก็เอาเทคโนโลยีไปตอบปัญหาของลูกค้า เมื่อลูกค้าเลือกซื้อเทคโนโลยีของเราก็เป็นธุรกิจขึ้นมา

แต่ตอนนี้รูปแบบเปลี่ยนไป ความต้องการของลูกค้าไม่เป็นแบบเดิม เราต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่สร้างความต้องการขึ้นมาเอง MFEC จะปรับโมเดลธุรกิจของตัวเองควบคู่ไปกับการช่วยลูกค้าปรับโมเดลธุรกิจไปพร้อมกัน

อย่างธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจทีวี ธุรกิจหนังสือพิมพ์ บางสตาร์ทอัพอาจเข้ามา disrupt เลย แต่ถ้าเราสร้างธุรกิจที่เข้ามาช่วยเจ้าเก่าทรานสฟอร์ม เป็นการใช้จุดแข่งของทั้งสองบริษัทร่วมกันแล้วเจาะตลาดใหม่ไปเลย ตัวอย่างห้างสรรพสินค้าอาจจะทำอีคอมเมิร์ซไม่สำเร็จ ถ้ามีสตาร์ทอัพช่วยอาจจะบินขึ้นได้ทั้งคู่ ซึ่งผมเชื่อในโมเดลการอยู่ร่วมกันและเป็นพันธมิตรกันแล้วช่วยส่งเสริมกันมากกว่าให้แยกกันบินเดี่ยว

BN: การเปลี่ยนแปลงธุรกิจเช่นนี้ทำโดยเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจของ MFEC เองก็ได้ แล้วทำไมจึงต้องหาทางลงทุนบริษัทแยกออกไปอีก

คุณเล้ง: ผมพยายามยิงปืนทีเดียวได้นกหลายตัว อย่างแรกจากสิ่งที่ผมเห็นในวงการไอทีบ้านเรา ถึงแม้สตาร์ทอัพจะกำลังบูม ได้รับความสนใจสูง แต่ปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือเจ้าของทุนไม่มีความรู้จักสตาร์ทอัพดีพอ ทำให้ความเชื่อมั่นถูกสร้างขึ้นได้ยาก ขณะที่เมื่อลงทุนไปแล้ว การหาจุดอ่อนของสตาร์ทอัพเพื่อลดความเสี่ยงก็ยากเช่นกัน ดังนั้นการลงทุนทุกวันนี้เลยคล้ายกับการพนัน ลงทุนไปสัก 100 บริษัทแล้วประสบความสำเร็จสัก 1 บริษัทก็พอใจแล้ว MFEC จึงต้องการเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยการลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด รวมถึงเป็นการ transform ธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

อย่างที่สอง วันนี้ทุกคนอยากเป็นสตาร์ทอัพ แม้แต่พนักงาน MFEC เองก็ด้วย แค่อาจยังหาช่องทางไม่ได้เท่านั้น สถานการณ์ที่ MFEC เจอคือพนักงานเก่งๆ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ลาออกไปทำตามความฝัน พนักงานคนนั้นอาจเคยทำงานได้ยอดเยี่ยมภายในสภาพแวดล้อมของ MFEC แต่พอออกไปทำธุรกิจเองกลับไม่รอด เรารู้สึกเสียดายตรงนี้ เพราะมันเป็นสถานการณ์ lost-lost

อีกสาเหตุหนึ่งคือ เพื่อต้องการกระตุ้นพนักงานที่อยู่ให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจของ MFEC ได้ โดย MFEC ตอนนี้สามารถเป็น Corporate VC ได้ด้วยซ้ำ เพราะมีเงินสดในมือค่อนข้างมาก ขณะที่ธุรกิจเริ่มชะลอตัวซึ่งเป็นสัญญาณว่าควรนำเงินสดมาลงทุน

จากสัญญาณเหล่านี้รวมกัน หาก MFEC สร้างบริษัทแยกออกไป จะสามารถสร้างสตาร์ทอัพจากบุคลากรของเราเองได้ ขณะเดียวกันก็จะไม่มีปัญหาแบบเดียวกับ VC หรือสตาร์ทอัพทั่วไป เพราะเรารู้จักคนของเราดี เราจะรู้ว่าขาดอะไร เช่น เงินทุน, พันธมิตรทางเทคนิค, หรือการตลาด เราสามารถช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปได้เป็นการลดความเสี่ยงไปในตัว

สาเหตุสำคัญที่สตาร์ทอัพล้มเหลวเป็นเพราะองค์ประกอบต่างๆ (ingredient) มันไม่ครบ สตาร์ทอัพนั้นๆ อาจจะเก่งด้านไอเดียทางธุรกิจหรือด้านการตลาดแต่เพียงด้านเดียว ขณะที่แนวทางของ MFEC เองใช้เวลาบ่มเพาะสักปีสองปีให้พร้อมก่อน ค่อยแยกออกมาเป็นสตาร์ทอัพ แบบนี้จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนเราผลักสตาร์ทอัพให้ตกน้ำ โดยมี MFEC ถือห่วงยางให้อยู่ข้างหลัง หากพลาดเราสามารถโยนห่วงยางลงไปช่วยได้ โมเดลนี้จะตอบโจทย์ความเสี่ยงของสตาร์ทอัพในไทยได้ดีกว่า

เราเชื่อว่าถ้าใช้โมเดลหลอมหลวมกันแบบนี้ ยุคของการแข่งขันจะหมดไป เราจะเปิดรับแม้กระทั่ง SI เจ้าอื่น หรือเพื่อนฝูงในวงการ หรือต่างเทคโนโลยีกัน ก็สามารถมาร่วมงานกันก็ได้ เบื้องต้นมีคุยกับพาร์ทเนอร์บางเจ้าแล้ว ก็มีหลายรายสนใจ

BN: ความแตกต่างของการเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพภายใต้ MFEC กับการสร้างบริษัทผ่านโครงการ accelerator

คุณเล้ง: เราไม่เรียกตัวเองว่าเป็น accelerator เพราะเราเชื่อว่า การเอาความรู้ไปเทรนนิ่งให้สตาร์ทอัพ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เขาต้องการ ต้องบอกว่าการทำ accelerator เป็นการนำกระบวนการของซิลิคอน วัลเลย์มาใช้ แต่หลายๆ อย่างอาจเอามาไม่ครบ หรือเอามาเป็นแค่บางส่วนบนพื้นฐานที่ต่างกัน เช่น พื้นฐานของสตาร์ทอัพในซิลิคอน วัลเลย์เขาจะมองไปถึงตลาดโลก เวลาขยายธุรกิจจะขยายแบบเจาะแบบตลาดโลก ลิมิตและสิ่งต่างๆ ที่เขาคาดหวัง เงินทุนที่ลงมันสูงกว่า

ส่วนตลาดไทยมีสภาพแวดล้อมต่างกัน อัตราการใช้เงินต่างกัน และวิธีการกินส่วนแบ่งตลาดที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น MFEC จะเป็นการสอนสตาร์ทอัพให้เข้าใจการทำมาหากินในตลาดประเทศไทย เราไม่เชื่อในโมเดลว่าขาดทุนเรื่อยๆ เพื่อขยายตลาด แล้วขายบริษัทเพื่อ exit แต่อย่างน้อยๆ จะต้องเหมือนกับ Playtorium Solution สตาร์ทอัพของพนักงาน MFEC ที่สามารถออกไปทำกำไรและปันผลได้

BN: ในโมเดลนี้ ถ้าเป็นคนนอกอาจจะเป็นพนักงานที่อื่น เคยทำงานแล้วหรือเด็กจบใหม่ก็ตาม และมีไอเดีย รูปแบบจะเป็นยังไง

คุณเล้ง: เบื้องต้นที่คิดไว้มี 3-4 รูปแบบ เรามีโครงสร้างพื้นฐานให้ มีเงินทุนให้ มีคนให้ประสบการณ์สำหรับสตาร์ทอัพ เราอาจจะทำช่องทางด้านการตลาดต่างๆ อย่างการจัด hackathon รับไอเดียข้างนอกปีละครั้ง โดยรวมทีมงานที่เข้ามาก็ต้องพิสูจน์ด้วยว่าไอเดียนั้นขาดอะไร ต้องพิสูจน์ความสามารถบางอย่างของเขา

บางทีมอาจเป็นสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทไปแล้ว แต่ให้ MFEC ช่วยเป็นพันธมิตรบางด้าน เช่น ด้านเทคนิค บางบริษัทมีไอเดียแต่ขาดโปรแกรมเมอร์หรือวิศวกรด้านอื่น MFEC ก็ส่งคนเข้าไปช่วยได้ เพราะเรามีโปรแกรมเมอร์เป็นจำนวนมาก

BN: มองวงการสตาร์ทอัพเป็นอย่างไร คิดว่าตอนนี้เป็นฟองสบู่หรือยัง

คุณเล้ง: ตอนนี้คนกลุ่มที่เป็น VC มีมากขึ้น เงินก็ไหลเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาของไทยคือหาสตาร์ทอัพที่น่าลงเงินไม่ได้ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่ออกมาเป็นประเภทคุณสมบัติไม่ถึง ไม่เคยทำงาน ทำวิจัยหรือสำรวจตลาดมาก่อน อยู่ๆ เข้ามา pitch ขอเงินเลย

สิ่งสำคัญคือถ้าเราไม่ผลักดันให้ตัวสตาร์ทอัพมีคุณภาพมากขึ้น เงินที่ลงไป ในที่สุดมันก็ไม่ตอบแทนกลับมาเป็นผลกำไร ผมเชื่อว่าโมเดลนี้น่าจะเป็นฟองสบู่ภายใน 1-2 ปี และสตาร์ทอัพระลอกแรกที่ล้มเหลว น่าจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้

สิ่งที่ MFEC ทำคือการมองไปที่คุณภาพของสตาร์ทอัพก่อน น่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ ขณะเดียวกันในมุมของธุรกิจ เราเชื่อว่าหากสตาร์ทอัพออกไปทำธุรกิจเดี่ยวๆ อาจจะไม่รอด แต่ถ้าไปร่วมกับธุรกิจเดิมที่อยากจะ Digital Transform น่าจะช่วยกันไปรอดทั้งคู่ สตาร์ทอัพไปช่วยธุรกิจเดิมให้ transform พอธุรกิจนั้นมีรายได้ ก็จะเอาเงินมาแบ่งมาลงทุนกับสตาร์ทอัพเพิ่มเติม

BN: มีเป้าหมายหรือหวังไหมว่าภายในกี่ปี จะต้องมีธุรกิจกี่ธุรกิจ เงินลงทุนรวมเท่าไร

คุณเล้ง: เป้าหมายของ MFEC ตอนนี้คือมีธุรกิจที่ออกไปจากเราให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันจะคาดหวังการประสบผลสำเร็จของบริษัทที่ออกไปสูงกว่าสตาร์ทอัพปกติด้วย เพราะผ่านการขจัดความเสี่ยงต่างๆ ไปแล้ว

ความสำเร็จที่ MFEC มองในตอนนี้คือความสำเร็จของพนักงาน เราไม่ได้เน้นที่ผลกำไรหรือขาดทุนของ MFEC เป็นหลัก แต่เราเน้นที่สิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนให้พนักงานที่ออกไปประสบความสำเร็จ ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จสูงเท่าไหร่ผลที่ตามมาของ MFEC จะสูงขึ้นเท่านั้น


สนใจข้อมูลเพิ่มเติมการร่วมลงทุนกับ MFEC ติดต่อได้ที่ channel@mfec.co.th

Blognone Jobs Premium