ช่วงนี้คนไทยจะได้ยินวลี "ไทยแลนด์ 4.0" และ "ดิจิทัลไทยแลนด์" (Digital Thailand) กันบ่อยๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร ทำงานอย่างไร ส่งผลอะไรต่อชีวิตเราบ้าง
คนไทยมีชีวิตผูกติดกับดิจิทัลมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเทอร์เน็ต ซื้อขายออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ทำธุรกรรมการเงินผ่านแอพพลิเคชั่น การสื่อสารพูดคุย แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอที่จะพาสังคมไทยเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ได้
นิยามของ ดิจิทัลไทยแลนด์ คือ ประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อน พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
จะเข้าสู่สังคมดิจิทัลไทยแลนด์ได้ต้องมีแผนการก่อน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ข้อ คือ
แต่การเข้าสู่ "ดิจิทัลไทยแลนด์" อย่างเต็มตัว คงไม่สามารถทำได้ในปีสองปี ในแผนการจึงกำหนดระยะการทำงานเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ภายใน 1 ปี 6 เดือนแรก) มุ่งลงทุนฐานรากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในภายหลัง
ระยะที่ 2 เน้นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม (5 ปี) เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์แล้ว ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น
ระยะที่ 3 ก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ (10 ปี) ระยะนี้คือประเทศไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศในทุกด้าน
ระยะที่ 4 สู่ความเป็นผู้นำดิจิทัลของโลก (20 ปี) สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
การจะไปสู่จุดหมายได้ต้องมียุทธศาสตร์ 6 ข้อ เผื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ได้สำเร็จ
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
กำหนดให้มีเทคโนโลยีมีความเร็วและราคาเพียงพอกับความต้องการและการใช้งานของประชาชน ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะกลายเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
การใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนการผลิต ช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจได้ จึงต้องเร่งสร้างธุรกิจดิจิทัลขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน
สร้างสังคมที่เท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
กลุ่มเกษตรกร ผู้ที่อยู่ในชุมชนห่างไกล ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆ ของรัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้ เพิ่มโอกาสทางการแพทย์ การเข้าถึงเทคโนโลยี และการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล
ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปฏิรูปการทำงานและการบริการภาครัฐ พัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่าย สนับสนุนให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อความรวดเร็วในการให้บริการหรือ open data
พัฒนาคนให้พร้อมสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล
พัฒนากำลังคนทุกสาขาอาชีพ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบอาชีพ รวมถึงพัฒนาคนสาขาเทคโนโลยีโดยตรงให้อยู่ในมาตรฐานสากล
สร้างความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัล
จัดให้มีกฎหมาย ระเบียบกติกาที่มีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ คุ้มครองสิทธิ์ผู้ใช้งาน สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนเรื่องความปลอดภัย
แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ต้องเจอความท้าทายหลายอย่าง แต่เราก็ควรเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาและอุดรอยรั่วได้
ทิศทางของประเทศชัดเจนว่ามุ่งไปสู่การเป็น "ดิจิทัลไทยแลนด์" ประชาชนและภาคธุรกิจก็ควรเตรียมพร้อม ปรับตัวเพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ Digital Thailand