หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลในสหรัฐอเมริกา เริ่มใช้ algorithm ในการช่วยประเมินความเสี่ยงในการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ล่าสุด ศาลยุติธรรมไทยก็เริ่มทดลองการประเมินโดยใช้กระบวนการทางสถิติและพฤติกรรมศาสตร์ในศาล 5 ภูมิภาคเป็นการนำร่องแล้ว
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานศาลยุติธรรมโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สู่ยุคใหม่ของการฝากขังและปล่อยชั่วคราว: เปลี่ยนแนวคิด พลิกระบบด้วยวิสัยทัศน์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
หนึ่งในประเด็นสำคัญในการสัมมนาคือการประกาศการทดลองใช้ระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวซึ่งว่าจ้างสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ประสานมิตร) ดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลความเสี่ยงในเชิงจิตวิทยา ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากสำนวนคดีในศาลอาญาเป็น 1,000 สำนวน เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลระบบประเมินความเสี่ยง ช่วยประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี โดยการประกันตัวชั่วคราวนอกเหนือจากการประกันด้วยหลักทรัพย์ที่มีอยู่เดิม
การทดลองนำร่องใน 5 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการสัมมนา นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวถึงการทดลองฯ ดังกล่าวว่า
ถ้าแบบแผนนี้ใช้ได้ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ ก็น่าจะใช้ได้กับทั่วประเทศ และที่ผ่านมาเราได้รับรายงานว่า ศาลจังหวัดจันทบุรีปล่อยไป 10 คน จังหวัดกาฬสินธุ์ 12 คน เชียงใหม่น้อยกว่านั้นหน่อย ทั้งหมดมารายงานตัวตามกำหนดไม่มีใครหนีเลย
ทั้งนี้ สำนักศาลยุติธรรมมีแผนจะดำเนินการระยะที่ 2 ในความผิดทุกฐานความผิด ยกเว้นความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดอุกฉกรรจ์ หรือยาเสพติดจำนวนมาก และระยะที่ 3 กับทุกฐานความผิด โดยมีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 1 ปีต่อระยะ
ที่มา: Thai Publica, กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ: ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารประกอบการเสวนาจากสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ และ slide เผยแพร่โดย Thai Publica