โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ทางเลือกที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

by mk
23 September 2008 - 18:27

บทความโดยคุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2551 ผมเห็นว่ามีประโยชน์เลยนำมาลงซ้ำอีกครั้ง โดยได้รับคำอนุญาตจากคุณศิริพงษ์แล้ว - mk

โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ทางเลือกที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

นึกขึ้นมาได้ว่าผ่านหูผ่านตาประกาศกำหนดปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อย่างจริงจังโดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (บิซิเนส ซอฟต์แวร์ อัลไลน์ซ) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดีเดย์ไว้วันที่ 15 ตุลาคมนี้ เป็นเส้นตายสำหรับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หากตรวจพบจะถูกจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยบีเอสเออ้างว่ามีรายชื่อบริษัทธุรกิจในมืออยู่แล้วราว 100 บริษัท

นับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน บริษัทไหนยังมีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมเงินเผื่อเอาไว้หน่อย

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ขึ้นมา องค์กรนี้เป็นองค์กรใหญ่ที่ริเริ่มเรื่องโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ มาตั้งแต่ราวปี 2537 เริ่มจากเซิร์ฟเวอร์ขยายมาเรื่อยๆ และลงเป็นแผนจริงจังในปี 2547 ขยายการใช้งานไปสู่เดสก์ท็อป แม้ระบบปฏิบัติการที่พนักงานใช้ทั่วๆ ไปยังเป็นวินโดว์สอยู่ แต่ซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์ส ถูกขยายการใช้งานไปเรื่อยๆ อย่างเช่น โอเพ่น ออฟฟิศ หากดูตามแผนงานแล้วถึงสิ้นปีหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 10,000 เครื่อง ของ กฟผ.จะใช้โอเพ่น ออฟฟิศ แทนไมโครซอฟต์ ออฟฟิศ

ก็ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ใครด้วย จำได้ว่าผู้บริหาร กฟผ.บอกว่า การปรับองค์กรให้หันมาใช้โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์มากขึ้นตามแผนงานนี้ ช่วยประหยัดงบประมาณได้ราวปีละ 30 ล้านบาท

ถ้าองค์กรใหญ่ระดับ กฟผ.ยังใช้โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ได้ ก็ไม่มีข้อกังขาอะไรแล้วละครับ

เท่าที่เห็นๆ มา คนทั่วๆ ไปเกี่ยงงอนท่าโน้นท่านี้กับโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ แล้วก็ก้มหน้าก้มตาใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร บางคนก็อ้างเอาดื้อๆ ว่าก็อยากขายแพง ซึ่งว่าที่จริงแล้วของราคาแพงไม่ได้เป็นเหตุผลอันชอบธรรมให้เราต้องไปขโมย เขามาใช้ ในกรณีที่มีทางเลือกอื่นให้เลือกอยู่ไม่น้อยอย่างในเวลานี้

อันที่จริงถึงแม้จะยังใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์สอยู่ เพราะบางคนไม่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานทดแทนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้นมีอยู่ครบถ้วนให้ใช้ ถ้าไม่พร้อมจะเสียเงินไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ควรจะหันมาหาทางเลือกที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

จากประสบการณ์ส่วนตัว อย่าว่าแต่พวกโปรแกรมใช้งานต่างๆ เลยครับ แม้แต่ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ก็เป็นลินุกซ์ในสายพันธุ์อูบุน ตูหมด ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ถ้ามีก็หาทางแก้เอา เหมือนสมัยก่อนโน้นที่ยังใช้วินโดว์สก็มีปัญหาให้แก้อยู่เนืองๆ

แต่ลินุกซ์ได้เปรียบกว่าก็ตรงความเร็วและความปลอดภัยไร้กังวลเรื่องไวรัส มีชุมชนบนอินเตอร์เน็ตที่คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา

ผมเข้าไปใน www.ubuntuclub.com ซึ่งเป็นชุมชนอูบุนตูของไทยที่แข็งแกร่ง และสักระยะหนึ่งมาแล้ว เจอเข้ากับอูบุนตูฉบับคนไทยอีกตัว ใช้ชื่อว่า "ไพเรต เอดิชั่น" ซึ่งก็คือเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงตบแต่งจากต้นฉบับดั้งเดิม ปิดจุดอ่อนหลายๆ จุด เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ซึ่งก็สรุปปัญหามาจากประสบการณ์ที่เจอๆ กันนั่นแหละครับ สำหรับมือใหม่และคนอยากลองของโดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน แนะนำให้เอาตัวนี้ไปทดสอบจะดีกว่าตัวต้นฉบับ สนใจก็เข้าไปดาวน์โหลดมาได้จาก http://mirror.nytes.net/linux/clubuntu/preview/somjate/ และเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งได้ที่อูบุนตูคลับ

ข้อดีของระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์ส อยู่ตรงที่สามารถนำมันมาดัดแปลงให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการใช้งาน อย่างเช่น ไพเรต เอดิชั่น เป็นตัวอย่างหนึ่ง ความจริงแล้วในต่างประเทศยังมีการดัดแปลงกันไปอีกมากมายสำหรับงานเฉพาะทาง เช่น อูบุนตู สตูดิโอ สำหรับคนทำงานด้านมีเดียโดยเฉพาะ เป็นต้น

อีกตัวหนึ่งสำหรับคอมพิวเตอร์เก่าๆ ของคนไทยก็คือ SUTLinux ที่ดัดแปลงมาจาก PuppyLinux ดาวน์โหลดได้จาก linux.sut.ac.th/download/

เหล่านี้ล้วนเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชมทั้งในวงการโอเพ่นซอร์ส

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนรายวัน

Blognone Jobs Premium