ยุคสมัยเปลี่ยน ทัศนคติต่อเด็กติดเกมก็เปลี่ยน คนติดเกมหลายรายมีความรู้ความสามารถจากการเล่นเกมนำไปต่อยอดในวิชาชีพได้ และหากเกมเป็นพิษร้าย วงการ eSport ก็คงไม่รุ่งเรืองขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองก็ห้ามความกังวลใจที่เกิดขึ้นกับลูกหลานติดเกมไม่ได้ แล้วเกมเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายกันแน่ งานเสวนานี้จึงนำเสนออีกมุมมองที่มีต่อเด็กติดเกมให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองได้รับรู้กัน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Blognone จัดงานเสวนา "ติดเกมแต่ก็ยังได้ดี" ที่ Hangar dtac Accelerate โดยเชิญ คุณปรเมศวร์ มินศิริ คนเล่นเกมที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน คุณไตร อัครวิเนค ผู้ประกอบอาชีพด้านเกมและ eSport นพ. ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ กุมารแพทย์ และ คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ตัวแทนผู้ปกครองที่สนับสนุนการเล่นเกม
ใครที่พลาดไปงานเสวนาก็รับชมย้อนหลังผ่าน YouTube ได้ ส่วนใครที่อยากอ่านสรุป Blognone ก็ได้สรุปมาให้ในที่นี้แล้ว
คุณไตร อัครวิเนค ผู้ประกอบอาชีพด้านเกมและ eSport มีประสบการณ์ทำงานโปรดักชั่นเกม และคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม
คุณไตรเล่าประสบการณ์ว่ามาทำงานด้านเกมเพราะชอบเล่นเกม จนเริ่มคิดว่า ทำอย่างไรที่การเล่นเกมจะเลี้ยงตัวเองได้
คุณไตรเข้าสู่วงการ eSport โดยเริ่มแข่งเกมตอนอายุ 20 ปี จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัยปีสองได้รางวัลชนะเลิศของไทย และบริษัท World Dota Championship ของจีนชวนไปแข่ง และชนะที่ 1 อันดับโลก
เหตุที่ตัดสินใจมาทำงาน eSport เต็มตัวเพราะรู้ตัวเองว่าไม่สามารถเล่นเกมไปได้ตลอด จึงเรียนรู้งานทำเกมอย่างโปรดักชั่นเกม คอนเทนต์ เป็นต้น รายได้หลักของคนในวงการมาจากเงินรางวัล เงินสปอนเซอร์ เงินจากแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดที่เอื้อให้ผู้ทำไลฟ์ได้เงินง่ายขึ้น
ถามว่าอาชีพเกมเลี้ยงตัวเองได้ไหม ตอบว่าได้ แต่มีคนจำนวนน้อยที่ทำได้
ผู้ดำเนินการเสวนาถามถึงประเด็นว่าคนนอกมองคนเล่นเกมเป็นอาชีพอย่างไร คุณไตรตอบว่า ภาพยังติดลบอยู่ เช่น ทำเป็นอาชีพได้จริงหรือ เลี้ยงตัวเองได้จริงหรือ จึงยืนยันว่า เลี้ยงตัวเองได้แน่นอน ถ้าไปให้ถึงจุดสูงสุดของวงการเกม
นพ. ฉัตรชัย อิ่มอารมย์ กุมารแพทย์ประจำศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี ให้มุมมองด้านสุขภาพเด็ก เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งต่างจากมุมผู้เล่นเกมว่า การติดหน้าจอมากเกินไป ส่งผลต่อสุขภาพเด็กอย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาคือ เวลาการอยู่ติดหน้าจอของเด็ก ไม่เพียงแค่เกม แต่รวมถึงทีวี ซีรีส์ ยูทูบ ทำให้สุขภาพแย่ลง เด็กอายุช่วงสองขวบ ควรพัฒนาด้านอื่นอีกมาก นพ. ฉัตรชัย ยกตัวอย่างคนไข้เด็กอายุ 7 ขวบรายหนึ่ง ใช้แท็บเล็ตเก่งมาก แต่ระบายสีและจับดินสอไม่แข็งแรง เพราะกล้ามเนื้อช่วงนิ้วขาดการพัฒนา
ด้านคอนเทนต์เกม ประเทศไทยยังไม่ได้บังคับใช้เรตติ้งเกมอย่างจริงจัง จากประสบการณ์มีเด็กที่เลียนแบบพฤติกรรมในเกม ไม่ใช่ทุกคนที่จัดการตัวเองได้เวลาเล่นเกม และเคยเจอเด็กที่เล่นเกมแล้วนำไปตรวจไอคิว ปรากฏว่าต่ำกว่ามาตรฐาน สติปัญญาบกพร่อง ไม่สามารถตัดสินใจได้ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงจะตกเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา
การปิดกั้นเด็กกับเกมออกจากกันนั้นเป็นไปไม่ได้ การจัดการต้องเริ่มที่การดูแลในครอบครัว มีคนไข้เด็กรายหนึ่งน้ำหนักกว่าร้อยกิโลกรัม เสี่ยงเสียชีวิตจากการหยุดหายใจสูงมาก พอสืบเรื่องราว ได้คุยกับพ่อแม่ พบว่าครอบครัวไม่มีกฎระเบียบร่วมกัน จะเล่นเกมก็เล่น กินก็กิน นอนก็นอน เห็นได้ชัดว่า เกมเป็นเรื่องปลายทาง ต้นทางคือระเบียบกฎเกณฑ์ในครอบครัว ไม่ใช่แค่ระเบียบเล่นเกม แต่รวมถึงระเบียบการกิน นอน ออกกำลังกายด้วย
การโทษกันไปกันมา ระหว่างคนเล่นเกม กับคนไม่เล่น หรืออวยแต่ฝ่ายตัวเองนั้น ไม่แก้ปัญหาใดๆ แต่ต้องมีเวทีที่เป็นเรื่องเป็นราว ยอมรับว่าในทางการแพทย์คิดเรื่องพฤติกรรมติดเกมในด้านลบเยอะกว่าด้านดี แต่เราไม่สามารถกำจัดเกมออกจากสังคมได้ เราต้องอยู่กับเกม แต่จะอยู่อย่างไรนั้นต้องมาถกเถียงกันอย่างเป็นทางการ ตั้งเป็นสมาคม eSport อย่างจริงจัง เพราะวงการนี้กำลังโต ทำวิจัยให้ชัด และเปิดใจมากพอที่จะฟัง แพทย์ก็ทำงานวิจัยของแพทย์ไป คนทำเกมก็ดูแลเรื่องคอนเทนต์และเรตติ้งไป
คำถามที่น่าสนใจจากทางบ้าน
คุณปรเมศวร์ มินศิริ จาก Kapook.com เป็นคนเล่นเกมมากคนหนึ่ง แต่ประสบความสำเร็จในธุรกิจออนไลน์ ผู้ดำเนินรายการ ถามคุณปรเมศวร์ว่าการเล่นเกมส่งผลต่อการทำงานอย่างไร คุณปรเมศวร์ ตอบว่าโชคดีที่มีแนวเกมให้เลือกเล่นเยอะ เกมไหนสนุกก็ดูดวิญญาณและเวลาของเราเหมือนกัน และจากที่ศึกษาเรื่องการแพทย์มาเล็กน้อยพบว่า มีสมอง 'ส่วนประธาน' สั่งงานเรื่องการจัดการ การแบ่งเวลา และความอดทน แต่ละคนมีสมองส่วนนึ้ไม่เท่ากัน บางคนเล่นเกมแล้วทักษะด้านนี้เพิ่ม บางคนก็ตรงกันข้าม
ส่วนตัวจะเลือกเล่นเกมที่ต้องใช้ทักษะการคิด การจัดการทรัพยากรในเกม ไม่ว่าจะเป็นเลือด ไอเทม เงิน จะช่วยเพิ่มทักษะตรงนี้ได้
คำถามที่น่าสนใจจากทางบ้าน
คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ตัวแทนผู้ปกครองที่สนับสนุนการเล่นเกม มีลูกสองคน คนหนึ่งอายุ 9 ปี อีกคนอายุ 12 ปี มีข้อตกลงกับลูกเรื่องเล่นเกมให้เล่นตามเวลาที่กำหนดให้ เช่นทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงไปเล่นเกมหรือเล่นคอมพิวเตอร์ได้
ช่วงลูกอายุน้อยๆ คุณสิทธิพงศ์บอกว่าจะรู้สึกต่อต้านถ้าลูกจะเล่นแท็บเล็ต แต่ก็หลีกเลี่ยงยากเพราะเราเล่นเหมือนกัน แล้วเด็กเห็น แต่ในเมื่อเด็กเล็กยังแยกแยะอะไรเองไม่ได้ เราต้องแยกแยะให้เขา ส่วนตอนนี้เชื่อว่าลูกแยกแยะได้ แต่ควรอยู่ในกฏเกณฑ์
กุญแจสำคัญคือพ่อแม่ต้องใกล้ชิดกับลูก ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นเกมแต่รวมถึงการท่องอินเทอร์เน็ต เพราะเราไม่รู้ว่าในเน็ตมีอะไรบ้าง เราต้องคอยควบคุมใกล้ๆ เล่นเกมกับลูกได้ยิ่งดี บางครั้งก็คอยดูว่าเพื่อนลูกเป็นอย่างไร ตีสนิทกับพ่อแม่ของเพื่อนสนิทลูก ที่ทำไม่ใช่จะกีดกัน แต่เป็นภูมิคุ้มกัน ต่อไปเขาต้องท่องอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง เขาจะได้แยกแยะได้