วันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางใดเรื่องของ Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้มีความน่าอยู่มากขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน เพื่อเกิดบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่นั้น และส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยได้มากขึ้น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า แนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะนั้น จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ รัฐบาล รวมถึงประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาเมือง ด้วยการหันหน้ามาพูดคุย และเสนอแนะ ของกลุ่มคนต่างๆที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ซึ่งเมื่อสามารถทำก็จะสามารถทำให้การขับเคลื่อนพัฒนาเมืองต่างๆ สามารถเดินไปข้างหน้า โดยไม่ต้องรอพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง และทำให้ประเทศสามารถก้าวสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ได้ อย่างมั่นคง
ซึ่งแนวทางที่เหมาะสม Smart City ในวันนี้คือการกระจายอำนาจและสร้างความสามารถในการบริหารจัดการเมืองของแต่ละท้องถิ่น การสร้างอำนาจให้กับประชาชน และชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทาง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเมือง เช่น การมีระบบแจ้งเหตุร้ายหรือความเสียหายของเมืองจากประชาชนผ่านระบบแอปพลิเคชัน โดยหากมีการใช้อย่างต่อเนื่องและมีการแสดงความคิดเห็นเข้ามา ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาและความชัดเจนด้านต่าง ๆ
แต่เรื่องเหล่านี้ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะความท้าทายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเมือง การบริหาร การจัดทำงบประมาณ รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม และที่สำคัญ คือ หัวใจหลักของการเรียนรู้และพัฒนาทั้งคน สังคม เมือง ต้องร่วมมือกัน ร่วมไปถึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และมีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถประเทศเดินหน้าก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทางกระทรวงดีอีได้ สนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การจัดทำโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (Hi Speed Internet) ร่วมถึงขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟ (Free Wi-Fi)
เพื่อให้ Smart City เกิดขึ้นทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จึงได้หมายหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหน่วยงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินตามหลักแนวคิด ประชารัฐ ที่ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม โดยได้เริ่มตั้งแต่โครงการ Phuket Smart City และทำให้ทราบปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น สำหรับการพัฒนา Smart City แบบยั่งยืน อาทิ ปัญหาด้านงบประมาณในการขับเคลื่อนที่ไม่ต่อเนื่อง การขาดผู้ดำเนินงานในระยะยาว โดยพบว่าหากต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย ซึ่งหลาย ๆ บริการสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการ หากมีรูปแบบธุรกิจที่ดี จึงเชื่อว่าภาคเอกชนจำนวนมากต้องการเข้ามาดำเนินการตรงนี้ ดังนั้นภาครัฐเองจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่ให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน
และสร้างกลไกสำคัญในการเชื่อมประสานการลงทุนและเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมือง หรือการให้เกิดรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของตนเองไปข้างหน้า และไม่พึ่งพารัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งโมเดลนี้ได้มาจากนักธุรกิจขอนแก่นที่ได้รวมตัวกันจดทะเบียนในชื่อว่า บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) ที่มีแนวคิดต้องการพัฒนาขอนแก่นให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศไทย ในเรื่องของรายได้ระดับปานกลาง และการรอคอยการพึ่งพาจากผู้อื่น โดยไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากคนภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นอย่างมาก ทำให้ทางรัฐเล็งที่จะนำแนวทางดังกล่าวมาใช้กับจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต ให้ดำเนินแนวทางพัฒนาตาม
โดยในเบื้องต้นการจัดตั้ง “บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง (พีเคซีดี)” จะเป็นการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น 25 คน ด้วยงบลงทุนจดทะเบียนเปิดบริษัทในทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และจะดำเนินการบริหารในรูปแบบ บริษัท โฮลดิ้งคอมพานี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ (Business Unit) 12 หน่วยธุรกิจ และมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา โครงการ Phuket Smart City ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ศึกษาหลายมิติ เช่น มิติเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ที่จะเน้นการใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนด้านดิจิทัล ได้ให้ทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าไปในบทบาทของที่ปรึกษา ร่วมไปเรื่องของการถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุนร่วมกับ BOI และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ทดลองนำร่องโครงการ Phuket Smart City และเมื่อมีการผนวกการทำงานร่วมกัน จะทำให้กลไกในการทำงานง่ายขึ้นเพราะเป็นการขยายผลต่อ โดยล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เองก็ได้ลงนามความร่วมมือ ในการขับเคลื่อน Smart City โดยมี บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ปี 2560 โดยจะเริ่มจากการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่จะทำให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเรื่องรถขนส่งสาธารณะ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวคำนวณเวลาการเดินทาง และรู้ว่าควรเดินทาง อย่างไร ร่วมถึงจะพัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุน
นอกจากนี้ ในช่วงระยะ 3 ปีต่อจากนี้ จะดำเนินการศึกษาพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน อาทิ การพัฒนาความปลอดภัยเมือง การดูแลสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชน พลังงานลม และคลื่นในทะเล โดยโครงการนี้จะเป็นแผนต่อเนื่องระยะยาวไม่ใช่การลงทุนเพียง 1 ปีแล้วเลิก สำหรับงบประมาณที่จะนำลงทุน เราคาดหวังว่าภาคเอกชนจะเป็นคำตอบที่จะทำให้กลไกทั้งหมดเดินหน้าไปได้ ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมากต้องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพะจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งมีความพร้อมหลายด้าน แต่ติดปัญหาด้วยวิธีปฏิบัติ การหาเจ้าภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจน ดังนั้น การมีบริษัทพัฒนาเมืองจะเป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะทำให้ง่ายขึ้น ด้วยแนวทางการจับคู่ธุรกิจทั้งจากผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี นักลงทุน สถานทูต และเมื่อโมเดลการพัฒนาเมืองพัฒนามีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้วในเฟตสองจะมีการเปิดให้นักธุรกิจเข้ามาเพิ่มทุน และขยับไปถึงการเข้ามาของประชาชนในพื้นที่ ตลอดไปถึงความสำเร็จสูงสุด คือ การระดมทุนจากทั่วประเทศผ่านการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นยั่งยืนต่อไป
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เลขที่ 120 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 0-2141-7101
โทรสาร : 0-2143-8059
อีเมล์ : ossc@sipa.or.th
และสามารถเข้าเยี่ยมชมโครงการประจำปี ร่วมถึงโครงการ Flagship อื่นๆ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กว่า 20 โครงการ ได้ที่เว็บไซต์ www.sipa.or.th/th/projects