SCB ร่วมกับ Digital Ventures สรุปเทรนด์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 2017 ในเอเชีย

by sponsored
4 March 2017 - 00:15

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ร่วมกับ Digital Ventures (DV) บริษัทในเครือด้านฟินเทค จัดงานเสวนา Faster Future | SCB FinTech Forum ฉายภาพอนาคตของโลก FinTech และการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ทั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ลูกค้ากลุ่มองค์กร และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีในไทย

หัวข้อการเสวนาได้แก่ 2017 Tech Trend in Asia โดย Jeffrey Paine ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการกองทุน Golden Gate Ventures จากสิงคโปร์ ผู้มีประสบการณ์ลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก, China is the New Silicon Valley โดยผู้เชี่ยวชาญจากวงการสตาร์ตอัพในประเทศจีน, Business Opportunity through Corporate Venture Capital โดยพลภัทร อัครปรีดี จาก Digital Ventures

Blognone ขอนำเสนอเนื้อหาจากหัวข้อ 2017 Tech Trend in Asia ที่เป็นการบรรยายพิเศษประจำงานนี้ เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ใกล้ตัวและแสดงให้เห็นทิศทางของสตาร์ตอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตามหลังจีนและอินเดีย แต่ก็มีอนาคตไกล

คุณ Jeffrey เล่าว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับจีนและอินเดีย แต่ในรายละเอียดก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะเทียบจำนวนประชากรแล้วยังน้อยกว่า และมีความแตกต่างหลากหลายสูงกว่าในจีนหรืออินเดีย

กรณีของจีนและอินเดีย ถึงแม้ประเทศใหญ่ แต่ก็มีวัฒนธรรมในภาพรวมคล้ายๆ กัน จากนั้นค่อยแยกความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค ระบบกฎหมายและการกำกับดูแลก็เหมือนกันทั้งประเทศ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสูงมาก เอาแค่ภาษาราชการก็มีแล้ว 14 ภาษา ระบบกฎหมายแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันเลย

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือสตาร์ตอัพในจีนและอินเดีย มักต้องแข่งขันกันเองกับสตาร์ตอัพในประเทศ แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง เอื้อให้คู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันได้ง่ายกว่าด้วย

ในแง่ของขนาดเศรษฐกิจภาพรวม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขนาดประมาณ 1/4 ของเศรษฐกิจจีน พื้นที่เล็กกว่า มีโอกาสทำเงินได้น้อยกว่า แต่ก็มีข้อดีคือการแข่งขันน้อยกว่าในจีนมาก อาจถึง 10-40 เท่า

ตอนนี้ ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตามหลังจีนและอินเดีย แต่แพทเทิร์นการเติบโตไม่ต่างกันถ้าดูจากกราฟ ซึ่งคุณ Jeffrey ก็เชื่อว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตตามเส้นทางของจีนและอินเดียในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสตาร์ตอัพระดับ "ยูนิคอร์น" (มูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์) อยู่ 7 ราย ได้แก่ Garena, Lazada, Grab, Razer, VNG, Traveloka, Tokopedia

สังเกตว่ามี 4 รายเป็นสตาร์ตอัพระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ (Garena, Lazada, Grab, Razer) และอีก 2 รายมาจากประเทศขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย (Traveloka, Tokopedia) ส่วน VNG เป็นบริษัทด้านเกมจากเวียดนาม

อุตสาหกรรมไหนที่น่าจับตาในปี 2017

คุณ Jeffrey ได้แยกแยะอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเกิดธุรกิจแนวใหม่ๆ ในปี 2017 ดังต่อไปนี้

B2B eCommerce ธุรกิจคอมเมิร์ซแบบ B2B ตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจคือระบบการจัดซื้อ (procurement), การสร้างตลาด B2B เฉพาะทาง (vertical market)

FinTech การนำ big data มาใช้วิเคราะห์เรตติ้งความน่าเชื่อถือ, ธนาคารที่ไม่มีสาขาเลย มีแต่ออนไลน์, ตลาดขายบริการทางการเงิน, บริการประกันแบบออนดีมานด์

Entertainment การทำ video blogging และ live streaming, โฆษณาภายในแอพ และแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นบนมือถือ

Automotive ระบบจัดการที่จอดรถเป็นตลาดที่น่าสนใจ, ตลาดการซ่อมบำรุงรถยนต์, ตลาดสินเชื่อรถยนต์

Healthcare ตลาดการดูแลผู้สูงอายุ, บริการแพทย์ทางไกลแบบออนดีมานด์, อุปกรณ์ IoT สำหรับโรงพยาบาล

Enterprise SaaS เน้นไปที่บริการด้านความปลอดภัย, การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI และ machine learning, บริการลูกค้าและการขาย

Transport บริการเรียกรถแบบเดียวกับ Uber แต่ใช้กับรถบรรทุกที่เดินทางไกลๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านลอจิสติกส์

AgriTech ตอนนี้ยังมีใช้งานกันน้อย ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการเพาะปลูก, การเชื่อมต่อผลผลิตของเกษตรกรไปยังร้านอาหาร (farm to table) และบริการด้านการเงินสำหรับเกษตรกร

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลื่นลูกใหม่ที่ใครจะมองข้ามไม่ได้

คุณ Jeffrey สรุปว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตื่นแล้ว ภูมิภาคนี้มีความเป็นไปได้สูง และจีนจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในตลาดนี้

เพียงแต่ กลุ่มผู้ประกอบการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องเข้าถึงเงินทุน ทรัพยากร และความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ อีกมาก ถึงจะสามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นฮับเทคโนโลยีระดับโลกได้ต่อไป

การเสวนาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่ง SCB และ Digital Ventures ก็เชิญวิทยากรที่มากประสบการณ์จากทั่วเอเชียมานำเสนอความรู้ในหัวข้อต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทั้งธนาคาร และลูกค้าองค์กรต่างๆ ที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน แล้วมาดูกันต่อไปว่า SCB และ Digital Ventures จะนำความรู้ใหม่ๆ อะไรมาให้ติดตามกันอีกในปีนี้

Blognone Jobs Premium