รีวิวการใช้งาน Google Home เทียบกับ Amazon Echo ในบริบทของประเทศไทย

by arnans
8 March 2017 - 13:48

กระแส Conversational Action กำลังมาแรงในช่วงนี้ โดยมี Amazon Echo เป็นหนึ่งในตัวจุดประกายสำคัญ และขายดิบขายดีจน Google ต้องทำ Google Home ออกมาแข่ง

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสนำทั้ง Amazon Echo และ Google Home มาใช้เป็นหัวข้อในวิชาเรียนที่ผมสอนอยู่ มีนักศึกษาช่วยกันค้นคว้าและลองเล่นอุปกรณ์ทั้งสอง จึงนำประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่าการใช้อุปกรณ์ทั้งสองในประเทศไทยเป็นอย่างไร โดยแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ และทำการประเมินด้วยว่าอุปกรณ์จากค่ายใดเด่นกว่า

การติดตั้ง

ทั้ง Amazon Echo และ Google Home จะตั้งค่าเริ่มต้นผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แต่ Amazon Echo ค่อนข้างจริงจังกับการจำกัดการใช้งานให้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นหลัก การติดตั้งจะยุ่งยากกว่า Google Home นับตั้งแต่การลงแอพพลิเคชันที่ไม่สามารถติดตั้งผ่าน Play Store หรือ App Store ได้ ต้องไปดาวน์โหลดไฟล์มาติดตั้งในโทรศัพท์เอง นอกจากนั้นการตั้งเวลายังผูกกับที่อยู่และรหัสไปรษณีย์เป็นหลัก (หลังๆ มาตั้ง timezone เองได้แล้ว)

ในขณะที่ Google Home ติดตั้งง่ายมาก สามารถติดตั้งแอพพลิเคชัน Home จาก Play Store ได้โดยตรง แม้ตัวแอพพลิเคชันจะแจ้งเตือนว่าไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานในพื้นที่นี้ แต่การติดตั้งทุกอย่างทำได้ปกติ วันเวลาของระบบก็สามารถดึงมาจากเครือข่ายโดยอัตโนมัติได้อย่างถูกต้อง

ผล: Google Home ชนะ

การฟังเพลง

การฟังเพลงบนอุปกรณ์ทั้งสองจะเป็นการสตรีมจากอินเทอร์เน็ต โดยมีบริการจาก Spotify, Pandora, และ TuneIn ที่ทั้งสองอุปกรณ์เข้าใช้งานได้เหมือนกัน จากนั้นเป็นบริการเฉพาะของแต่ละค่าย โดย Amazon มี Prime Music, Amazon Music ส่วน Google ก็จะใช้ Google Play Music, YouTube Music ทั้งหมดเป็นบริการที่ต้องเสียค่าบริการและมีเพียงบริการของฝั่ง Amazon เท่านั้นที่เปิดให้บริการในประเทศไทย

อย่างไรก็ดีมีนักศึกษาของผมได้ลองใช้ VPN สมัครสมาชิก Spotify และพบว่าใช้งานได้เช่นกัน ดังนั้นถ้ายอมเสียเวลาแฮกสักหน่อยก็น่าจะใช้บริการของทั้งสองค่ายได้ไม่ยากนัก

ในส่วนของการควบคุม พบว่าทั้งสองอุปกรณ์สามารถใช้คำสั่งเสียงในการควบคุมเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี เช่น การเลือกเพลง ปรับระดับเสียง ข้ามเพลง เป็นต้น ไมโครโฟนของทั้งสองอุปกรณ์ไวพอที่จะจับเสียงจากระยะห่างออกไป 3-5 เมตรได้หากไม่มีเสียงอื่นรบกวน

เสียงจากลำโพงมีบุคลิกที่ต่างกันอย่างชัดเจน Amazon Echo จะเสียงใสกว่า ในขณะที่ Google Home เสียงทุ้มเน้นเบส ส่วนตัวแล้วชอบเสียงจาก Amazon Echo มากกว่า ต้องยอมรับว่าการที่เดินเข้าบ้านมาแล้วสั่งได้ว่า “Alexa, shuffle my music” นั้นสะดวกมากจริงๆ ไม่สงสัยเลยว่าทำไมอุปกรณ์เหล่านี้จึงขายดี

เปรียบเทียบการเล่นเพลง และตัวอย่างคำสั่งเสียงที่ใช้ได้

Amazon Music เด่นตรงที่แม้ไม่ได้สมัครสมาชิกแบบจ่ายเงิน ก็สามารถอัพโหลดไฟล์เพลงเข้าไปในบัญชีของเราได้ฟรี 200 เพลง เพลงเหล่านี้สามารถสั่งงานผ่านเสียงได้ ฝั่ง Google นักศึกษาส่วนใหญ่ลองสมัคร Google Play Music แล้ว แต่ยังใช้งานในประเทศไทยไม่ได้ มีเพียงคนเดียวที่สมัครผ่าน (ทำอย่างไรไม่แน่ใจ) แล้วพบว่าสามารถอัพโหลดเพลงเข้าไว้ในบัญชีถึง 50,000 เพลง!

เราสามารถใช้ Amazon Echo เป็นลำโพงได้โดยการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เฉกเช่นลำโพงไร้สายที่มีขายทั่วไป ส่วน Google Home แม้ไม่มี Bluetooth แต่ก็สามารถ cast ผ่าน WiFi ได้ โดยทำตัวเหมือน Chromecast Audio นั่นคือต้องทำผ่านแอพพลิเคชันที่สนับสนุนการ cast เช่น YouTube หรือ Google Play Music

ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าการ cast เป็นทิศทางในอนาคตที่จะมาแทน Bluetooth เพราะเสียงที่ส่งไปเป็นเฉพาะเสียงที่ต้องการ หากมีโทรศัพท์เข้ามาในขณะที่ cast อยู่ เสียงโทรศัพท์ก็ไม่ไปรบกวนเสียงที่เล่นอยู่เหมือน Bluetooth นอกจากนั้นอุปกรณ์หลายๆ ตัวยังสามารถเข้าไปควบคุมการ cast พร้อมกันได้ เช่น การเลื่อนเพลง ปรับเสียง สามารถทำผ่านโทรศัพท์หลายๆ เครื่องได้พร้อมกัน หรือแม้แต่การเพิ่มเพลงจากหลายอุปกรณ์ การ cast สามารถจัดคิวให้ได้ (คล้ายคิวตู้คาราโอเกะ) แต่ในปัจจุบันแอพพลิเคชันที่สนับสนุนการ cast ยังมีจำกัดอยู่

ผล: เสมอกัน

การพูดคุยตอบโต้

จุดขายที่สำคัญของอุปกรณ์ที่สั่งงานด้วยเสียงคือความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติในการสนทนา จริงๆ แล้วความสามารถนี้ก็ไม่ต่างจาก Siri, Cortana, Google Now บนโทรศัพท์ แต่จุดต่างในเชิงการใช้งานคืออุปกรณ์เหล่านี้จะฟังอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องเข้าแอพพลิเคชันหรือกดปุ่มกระตุ้นให้ฟังแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีอุปสรรคสำหรับคนไทยก็คงหนีไม่พ้นการพูดภาษาอังกฤษให้ชัดเจนพอที่อุปกรณ์จะเข้าใจ แต่จากที่ได้ทดสอบมากับกลุ่มนักศึกษาก็พบว่าการสื่อสารกับอุปกรณ์ไม่ได้ยากนัก มีบางคนเท่านั้นที่สำเนียงยังมีปัญหาจริงๆ

ในตอนแรกผมคาดหวังไว้ว่า Google Home น่าจะกินขาดในเรื่องการรู้จักสำเนียงที่หลากหลายเพราะ Google Speech API สนับสนุนสำเนียงภาษาต่างๆ มากมาย รวมทั้งภาษาไทยด้วย ดังนั้นตีความการพูดอังกฤษสำเนียงไทย เช่น “ฮัลโหล ฮาวอายู” ฝั่ง Google น่าจะกินขาด แต่ดูเหมือนว่าทาง Google ยังไม่สนับสนุนการเลือกสำเนียงท้องถิ่น จึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้

วิดีโอทดสอบการสั่งงานด้วยสำเนียงไทย และการเข้าใจคำถามที่ซับซ้อน

Google Home ได้เปรียบ Amazon Echo ในเรื่องการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพราะเป็นความสามารถที่ Google ทำไว้สำหรับงานอื่นๆ อยู่แล้ว จากที่ได้ทดสอบก็พบว่า Google Home สามารถเข้าใจบริบทได้ดี เช่น ถ้าถามว่า “who sang ‘Hello’?“ จะได้คำตอบว่า “‘Hello’ was recorded by Adele” แล้วถ้าถามต่อว่า “what are her other songs?” Google Home จะรู้ว่า “her” ในบริบทนี้หมายถึง Adele และตอบกลับมาว่า “‘Hello’, ‘Someone Like You’, and 36 others” ความสามารถลักษณะนี้ Google Home เหนือกว่า Amazon Echo (แม้ว่าระยะหลัง Amazon Echo ก็เริ่มเก่งขึ้น)

ทดสอบความฉลาดในการเข้าใจบริบทการสนทนา

ในการตอบคำถาม Google Home จะมีรูปแบบที่หลากหลายกว่า Amazon Echo เช่น หากเราถามว่า “How do you feel?” ซ้ำกัน 2 ครั้ง, Google Home จะตอบคำถามแต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน ในขณะที่ Amazon Echo ตอบกลับมาด้วยประโยคเดิม

ผล: Google Home ชนะ

การควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่าน Smart Things

เราทดลองนำทั้ง Amazon Echo และ Google Home ต่อเข้ากับ Samsung SmartThings ที่มีปลั๊กไฟชื่อว่า Lamp จากการทดลองทั้ง Amazon Echo และ Google Home สามารถควบคุมการเปิดปิดไฟได้โดยใช้คำสั่ง “Turn on/off the lamp” แต่ Google Home สามารถเข้าใจคำสั่งที่ใช้คำที่ใกล้เคียงหรือบอกเป็นนัยได้ เช่น “Turn on/off the lights” หรือ “Make it dark” เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติที่ดีกว่านั่นเอง

ผล: Google Home ชนะ (เพราะเข้าใจคำสั่งได้หลากหลายกว่า)

ตัวอย่างการเปิดปิดหลอดไฟ และแสดงให้เห็นว่า Google Home เข้าใจภาษาธรรมชาติได้หลากหลายกว่า Amazon Echo

การแสดงผลผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ผ่าน Chromecast

Google Home สามารถแสดงผลผ่านหน้าจอโทรทัศน์ที่เสียบ Chromecast ได้ นับเป็นการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของ Google ที่มีในตลาดอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี การควบคุมทำได้โดยใช้คำสั่ง “Hey Google, play Moana trailer on TV” ตัว Google Home ก็จะสั่งให้ Chromecast เล่นตัวอย่างภาพยนตร์ดังกล่าวจาก YouTube ให้

แม้ความสามารถนี้จะค่อนข้างน่าตื่นเต้นเมื่อแรกใช้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ไม่สามารถเล่นเพลลิสต์ของเจ้าของบัญชีได้ และดูเหมือน Google ยังไม่อยากให้ใช้ความสามารถนี้เล่นเพลงหรือมิวสิกวิดีโอนัก เดาว่าอาจไปขัดกับตลาดอื่นของ Google เองได้ (เช่น ถ้าสั่งเล่นเพลงบน YouTube ได้แล้วผู้ใช้จะสมัครบริการที่เสียเงินทำไม เป็นต้น)

ผล: Google Home ชนะ (เพียงเพราะ Amazon ยังไม่มีอุปกรณ์ลักษณะนี้มาแข่ง)

ตัวอย่างการส่งวิดีโอไปยังโทรทัศน์ที่เสียบ Chromecast

ความสามารถเสริม

เนื่องจาก Amazon Echo ออกสู่ตลาดมานานกว่า Google Home ถึงสองปี ประกอบกับการเป็นเจ้าตลาด จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ Amazon Echo จะมีความสามารถเสริมหรือที่เรียกว่า skill จำนวนมากที่พัฒนาโดยนักพัฒนาภายนอก

เราสามารถติดตั้งความสามารถเพิ่มเติมผ่านทางแอปพลิเคชัน Amazon Echo หรือใช้คำสั่งเสียงในการติดตั้ง ความสามารถมีให้เลือกมากมาย เช่น เกม Blackjack, Bingo, Rock Paper Scissors, Lizard Spock หรือ การช่วยอ่านข่าวจากแหล่งต่างๆ เช่น BBC, Fox News, Daily Tech หรือ แม้ความสามารถแปลกๆ เช่น การทำตัวเป็นอุปกรณ์ตั้งสายสำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ เป็นต้น

ตัวอย่างการเพิ่ม skill บน Amazon Echo ผ่านคำสั่งเสียง

ส่วน Google Home มีจำนวนความสามารถเพิ่มเติมน้อยกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งพอเข้าใจได้เพราะ ณ วันที่เขียนบทความนี้ Google Home พึ่งเปิดจำหน่ายได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น สิ่งที่น่าสังเกตคือ Google Home ไม่มีระบบเพิ่มความสามารถแบบ Amazon Echo ความสามารถทุกอย่างจะเรียกใช้งานได้ทันที แม้แต่ความสามารถที่นักศึกษาผมลองเขียนเพิ่มเข้าไปเองก็จะผูกอยู่กับบัญชีของ Google และพร้อมใช้งาน จึงยังไม่ค่อยชัดเจนว่าทาง Google จะจัดการเรื่องความสามารถจากนักพัฒนาภายนอกเมื่อมีจำนวนมากขึ้นอย่างไร

ผล: Amazon Echo กินขาด

สรุป ณ วันนี้ Google Home ชนะแต่ไม่ขาดลอย

จากการใช้งานอุปกรณ์จากทั้งสองค่ายในชั้นเรียน นักศึกษาได้ทดลองใช้งานกันอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างเข้มข้น นักศึกษาส่วนใหญ่ออกเสียงเลือก Google Home ให้เป็นอุปกรณ์ที่เด่นกว่า แม้ยังมีความสามารถน้อยเมื่อเทียบกับ Amazon Echo

Google Home มีความโดดเด่นที่การติดตั้งที่ง่าย เข้าใจภาษาพูดได้ดีกว่า นอกจากนั้นนักศึกษายังชอบสภาพแวดล้อมการเขียนโปรแกรมเพิ่มความสามารถใหม่ของ Google Home มากกว่า เพราะเรียนรู้ได้ง่าย ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน ในขณะที่ฝั่ง Amazon Echo การพัฒนา Skill ใหม่นักศึกษาใช้เวลาในการเรียนรู้นานกว่าพอสมควร

แม้ว่า ณ ขณะนี้ Google Home อาจจะใช้งานในประเทศไทยได้ดีกว่า Amazon Echo แต่สถานการณ์ก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ กุญแจสำคัญในระยะสั้นคงเป็นการเปิดบริการสตรีมมิงเพลงในประเทศไทยให้หลากหลายขึ้น (ฝั่ง Google ยังไม่มีบริการเพลงใดๆ เปิดอย่างเป็นทางการเลย) รวมทั้งบริการอื่นๆ ของไทย เช่น การอ่านข่าว ดูหนัง การสั่งซื้อของ เรียกรถแท็กซี่ ฯลฯ ดังนั้นเวทีนี้ยังเปิดกว้างอยู่

ขอจบท้ายด้วยคลิปน่ารักๆ เมื่อ Google Home ทักทาย Alexa

Blognone Jobs Premium