ชาติในอาเซียนที่สนับสนุนแอปเรียกรถรับจ้างที่ใช้รถส่วนบุคคลมาให้บริการ นอกจากสิงคโปร์แล้ว มาเลเซียก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่มีท่าทีต่อแอปเหล่านี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปี 2016 ที่ผ่านมา หลังจากที่ช่วงปี 2015 ขนส่งทางบกมาเลเซีย (Suruhanjaya Pengangkutan Awam Darat - SPAD) ไล่กวาดล้างทั้ง Uber และ GrabCar อย่างแข็งขัน การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2016 กลับเปลี่ยนท่าทีเป็นการหาทางอยู่ร่วมกันระหว่าง Uber, Grab และแท็กซี่ดั้งเดิม
ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แสดงท่าทีแบบเดียวกันหลังมติคณะรัฐมนตรีของมาเลเซียประมาณสิบวัน (พูดวันที่ 22 สิงหาคม 2016)
แนวทางของมาเลเซียตรงกับแนวทางของสิงค์โปร์ คือ แม้จะเปิดให้คนทั่วไปมาประกอบอาชีพได้บางเวลา แต่ก็เพิ่มมาตรการควบคุมในบางระดับ ได้แก่ คนขับต้องใช้ใบขับขี่สาธารณะ (public service vehicle licence - PSV), ทำประกันรถให้ครอบคลุม, รถที่นำมาขับต้องมีการลงทะเบียนและตรวจสภาพ ต่างจากสิงคโปร์เพียงการติดป้ายแสดงตัวบนรถที่มาเลเซียไม่มีกฎข้อนี้
ภาพ Nazri Aziz ในการแถลงข่าวปี 2013 โดย Bernama tv 2013
โต้โผใหญ่ในการเปลี่ยนท่าทีของคณะรัฐมนตรีมาเลเซียคือรัฐมนตรีการท่องเที่ยว Nazri Aziz ที่ระบุว่าชื่อเสียงของแท็กซี่ในมาเลเซียที่มักโกงผู้โดยสารกำลังทำร้ายการท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่แอปเรียกรถเหล่านี้กลับได้รับความนิยมไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวสามารถเรียกรถจากแอปได้โดยตรง และเมื่อนักท่องเที่ยวสามารถเรียกรถผ่านแอปเหล่านี้ได้ก็ไม่ต้องกลัวการมาเที่ยวมาเลเซียอีกต่อไป เขาระบุว่าหากมาเลเซียไม่สนับสนุนแอปเหล่านี้ เมืองใหญ่ๆ ของมาเลเซียก็จะถูกเมืองอื่นในโลกแซงไป
การปรับกฎเพื่อรองรับ Uber และ GrabCar มาพร้อมกับการผ่อนปรนกฎเกณฑ์สำหรับแท็กซี่เดิม ผ่อนปรนกฎให้มีรถแท็กซี่ราคาประหยัด, มีกองทุนสนับสนุนสำหรับรถแท็กซี่ใหม่, และเปิดทางให้คนขับเดิมเป็นเจ้าของรถเองได้จากเดิมที่ต้องสังกัดบริษัท
ตอนนี้มีแท็กซี่ทั่วมาเลเซีย 77,000 คันในระบบ คาดว่าระบบใหม่จะทำให้ทั้งรถแท็กซี่, Grab, และ Uber เพิ่มเข้ามาในระบบอีก 150,000 คันในสามปีข้างหน้า
Nazri Aziz ระบุว่าคนขับแท็กซี่เดิมก็ควรเรียนรู้ที่จะปรับตัว รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้บริษัทแท็กซี่ท้องถิ่นทำแอปของตัวเอง แต่หากตามไม่ทันก็ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล
ที่มา - The Star, Free Malaysia Today (1), Free Malaysia Today (2)
ภาพ SPAD ยึดรถที่นำมาขับ GrabCar และ Uber เมื่อปี 2015