ไขข้อข้องใจ ทำไม Firefox ต้องแปลภาษาไทย

by mk
27 September 2008 - 19:58

หลังจาก Firefox 3.0.2 เวอร์ชั่นภาษาไทยเบต้าออกแล้ว ตามมาด้วย Firefox 3.0.3 อย่างรวดเร็ว มีคนสนใจเรื่องการแปลภาษาไทยมาก ผมในฐานะตัวแทนทีมแปล ก็ขอชี้แจงอย่างละเอียดดังนี้

ว่าด้วยแนวคิดในการแปลภาษาไทย

ส่วนนี้จะกล่าวถึงแนวคิดต่างๆ ในการแปลภาษาไทย เช่น ทำไมต้องแปล แปลแล้วได้อะไร

ทำไมต้องแปลภาษาไทย

คำตอบที่ชัดเจนที่สุด ผมแนะนำว่าให้เดินไปดูคอมพิวเตอร์ของห้องธุรการที่ใกล้ที่สุด ว่า Office ที่คุณพี่หรือคุณป้าธุรการใช้ เป็นภาษาอะไรครับ

ส่วนคำตอบแบบขยายความขึ้นมาหน่อย ก็ต้องบอกว่า "ไม่ใช่ทุกคนที่เก่งภาษาอังกฤษ" อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

สมัยก่อนผมก็เคยคิดแบบนี้ว่า คนไทยอ่านภาษาอังกฤษออก จะแปลภาษาไทยไปทำไมให้งง แต่หลังจากผมได้ทำงานด้าน deployment ชุดออฟฟิศในหน่วยของรัฐไทยขนาดใหญ่หลายแห่ง (ในที่นี้คือ OpenOffice.org) ความเชื่อของผมก็สั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อผมพบว่าผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถใช้งานโปรแกรมภาษาอังกฤษได้เลย

สรุปว่า การส่วนติดต่อผู้ใช้ภาษาไทยเป็นการ "สร้างโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์" ให้กับคนจำนวนมากขึ้น ถ้าตอบแบบวิชาการก็คือลด digital divide ทำลายกำแพงด้านภาษาลงไป (ถือเป็นการพัฒนาประเทศแบบอ้อมๆ อย่างหนึ่ง) มันคือการสร้าง "ทางเลือก" อันใหม่ขึ้นมาให้คนเลือก เมนูภาษาอังกฤษก็ไม่ได้หายไปไหน

ทำไมเมนูภาษาไทย ใช้แล้วไม่คุ้นเลย

อันนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ คือปกติแล้วเวลาเราอ่านเมนูภาษาอังกฤษ เราจะ "อ่าน" เพียงครั้งแรกๆ เท่านั้น พอรู้แล้วว่ามันใช้ทำอะไรได้ หลังจากนั้นเราจะใช้วิธีจำ "รูปร่าง" และ "ตำแหน่ง"​ แทนการอ่านเพื่อเอาความหมาย

ในเมื่อเราถูกฝึกให้ใช้งานเมนูภาษาอังกฤษมาตลอดชีวิตการใช้คอมพิวเตอร์ พอมาเจอเมนูภาษาไทยแค่ไม่กี่นาที มันไม่มีทางคุ้นเคยได้ในเวลารวดเร็วปานนั้น อารมณ์เดียวกับคนใช้เมาส์เปลี่ยนไปใช้ trackball หรือคนใช้วินโดวส์เปลี่ยนไปใช้แมค-ลินุกซ์

นอกจากนี้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คำหนึ่งคำมีความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ และใช้ตัวสะกดน้อย ในขณะที่ธรรมชาติของภาษาไทย ความหมายไม่แน่ชัดนัก (ตัวอย่างเช่น "ค่อนข้างมาก" กับ "มาก" ในภาษาไทย แทบไม่ต่างกัน) และมักอธิบายโดยใช้ประโยคหรือวลีที่ยาว

ปัญหาคือโปรแกรมที่เราใช้ส่วนมากฝรั่งเขียน และเว้นที่ในโปรแกรมไว้ให้เหมาะกับการใส่ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาตระกูลตะวันตก) ดังนั้นคนแปลไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเลือกคำที่ดีที่สุดที่สั้นกระชับพอจะใส่ลงไปในเนื้อที่ขนาดเท่ากับของฝรั่งได้

นอกจาก Firefox แล้ว มีอะไรบ้างที่แปลไทย

  • Windows Starter Edition
  • Microsoft Office
  • OpenOffice.org ชุดออฟฟิศ
  • Winamp โปรแกรมฟังเพลงยอดนิยม
  • VLC โปรแกรมดูหนังยอดนิยม
  • Nero โปรแกรมเขียนซีดียอดนิยม
  • ไดรเวอร์หลายตัว เช่น ของ Nvidia
  • Filezilla โปรแกรม FTP ใช้งานได้หลายระบบปฏิบัติการ
  • Cyberduck โปรแกรม FTP บนแมคอินทอช
  • GNOME และ KDE สำหรับลินุกซ์ ซึ่งมีโปรแกรมย่อยในชุดจำนวนมาก
  • Chrome
  • บริการหลายอันจาก Google เช่น Google Search, Gmail, Google Maps, Blogger
  • บริการหลายอันจาก Yahoo! เช่น Yahoo! Messenger, Yahoo! Mail, Yahoo! รู้รอบ
  • บริการหลายอันจาก Microsoft เช่น Hotmail, Windows Live Messenger, Live Search
  • Facebook และ Hi5
  • CMS หลายตัว เช่น WordPress, Joomla, Mambo, Drupal, MediaWiki
  • โปรแกรมช่วยจัดการเซิร์ฟเวอร์ผ่านเว็บ เช่น phpMyAdmin หรือ Webmin
  • โปรแกรมเว็บบอร์ด เช่น SMF, Invision
  • คู่มือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น กล้อง ทีวี
  • ส่วนติดต่อผู้ใช้ในโทรศัพท์มือถือหลายยี่ห้อ เช่น Nokia
  • ตู้เอทีเอ็ม

ถ้าใครนึกออกช่วยเพิ่มกันหน่อยครับ

กระบวนการแปล เกิดขึ้นอย่างไร

Firefox เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ถูกพัฒนาโดยชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสียสละเวลาว่างส่วนตัวมาพัฒนาโค้ด เขียนคู่มือ หรือแปลภาษาให้โดยไม่ได้อะไรตอบแทน ยกเว้นความสนุกและความรู้สึกดีๆ ที่ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น คนที่เคยไปออกค่ายอาสาน่าจะพอนึกอารมณ์ออก

การแปลส่วนติดต่อผู้ใช้นั้นใช้ระบบอาสาสมัครเช่นกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแปลภาษาไทยอยู่จำนวนหนึ่ง แยกย้ายกันแปลภาษาในโครงการโอเพนซอร์สต่างๆ จำนวนมากไม่เฉพาะ Firefox อย่างเดียว

สำหรับการแปล Firefox ทำผ่านเว็บ กระบวนการทั้งหมดเปิดเผยให้ "ผู้สนใจคนไหนก็ได้" (ถ้าสนใจนะ) เข้ามาร่วมได้ตลอด

ผมคิดว่าโครงการแปล Firefox นั้นมีความเคลื่อนไหวให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่พอสมควร ประกาศทุกอันหรือทุกครั้งที่ออกสื่อก็ได้เชื้อเชิญให้ผู้สนใจมาร่วมแปลเสมอ (ซึ่งก็มีผู้สนใจมาหัด "แปลครั้งแรก" อยู่หลายคน ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

คนที่มาร่วมแปล มีใครบ้าง

เท่าที่ผมทราบ

  • ผู้ใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ที่ใช้โปรแกรมแล้วอยากช่วยให้โปรแกรมดีขึ้น
  • นักพัฒนา โปรแกรมเมอร์
  • นักภาษาศาสตร์ จบภาษาศาสตร์โดยตรง และทำงานด้านแปลซอฟต์แวร์มาเป็นอาชีพ
  • เว็บมาสเตอร์
  • ดีไซเนอร์
  • ผู้ประกอบกิจการด้านโฮสติ้ง
  • ผู้สนใจทั่วไป

ทีมแปลเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ไม่ใช่วงปิด ไม่ต้องใช้เส้นสายอะไรพิเศษ แค่สมัครเข้าเมลลิ่งลิสต์ก็คุยกันได้ทันที​ ถ้าเกิดว่าไม่ได้สมัคร (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) แล้วบอกว่าทีมแปลปัจจุบันตัดสินใจกันเองแต่ฝ่ายเดียว ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วเหมือนกันครับ (คงต้องบอกว่า "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" แล้วล่ะ)

ใช้แล้วคำแปลไม่ถูกใจ ควรทำอย่างไร?

ผมเสนอให้

  1. สมัครเข้าเมลลิ่งลิสต์ thai-l10n ปัจจุบันขณะที่เขียน มีผู้สนใจเรื่องการแปลเข้าเป็นสมาชิกแล้ว 133 คน แล้วส่งข้อเสนอแนะเข้ามาว่า คำไหนแปลไม่ดี และควรแปลเป็นอะไร
  2. อีกทางเลือกหนึ่งคือ แจ้งบั๊กเข้ามาใน issue tracker ของโครงการแปล Firefox ภาษาไทย

แจ้งบั๊กไม่เป็น ใช้ยาก

ก่อนอื่นต้องย้ำว่า ทีมงานแปล Firefox (และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอื่นๆ) เป็นอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนในการแปล หรือแก้ปัญหาในการแปล

ทีมงานแปลไม่ใช่ทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิค ที่เราสามารถโทรไปถามได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เราเสียเงินซื้อตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่สามารถคุยกับทีมงานเพื่อเสนอข้อคิดเห็นหรือแจ้งปัญหาได้

แต่...

เพื่อให้การทำงานของทีมงาน (ซึ่งทำฟรีไม่ได้อะไรตอบแทน) สะดวกมากขึ้น ไม่รบกวนเวลาในงานประจำ จึงต้องกำหนดช่องทางในการติดต่อที่มีประสิทธิภาพ ติดตามเรื่องได้ง่าย ค้นหาได้สะดวก ฯลฯ ซึ่งสรุปออกมาแล้วว่ามี 2 อย่างดังที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ เมลลิ่งลิสต์และ issue tracker

ทีมงานแปลได้คำนึงถึงผู้ใช้ และพยายามหาระบบแจ้งปัญหาที่ใช้งานได้ง่ายที่สุด ซึ่งมาลงตัวกับ Google Groups และ Google Code

เมลลิ่งลิสต์ใช้งานอย่างไร? สมัครแล้วเขียนอีเมล เหมือนเวลาเมลไปถามการบ้านเพื่อน

issue tracker ใช้งานอย่างไร? คลิก เขียนๆ แล้วกดปุ่ม Submit issue ถ้าดูภาพประกอบด้านล่าง ง่ายกว่านับ 1-2-3

หมายเหตุ: ก่อนแจ้งทั้งในเมลลิ่งลิสต์และ issue tracker กรุณาค้นหาก่อนว่า มีคนถามหรือแจ้งไปแล้วหรือยัง เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

ถ้าแจ้งแล้ว ทีมงานไม่เห็นด้วย ทำยังไง?

ข้อเสนอมีได้ไม่จำกัด แต่การตัดสินใจมีเพียงหนึ่ง

ตามธรรมเนียมของวงการโอเพนซอร์ส (จริงๆ ก็ที่อื่นๆ ด้วย) คนที่มีสิทธิ์มีเสียงคือคนที่ลงแรง ระหว่างคนที่เสนอมาทางอีเมล 1 ฉบับกับคนที่ยอมอดนอนไปนั่งแปล 2-3 วัน ควรให้คนไหนเป็นคนตัดสินใจดีครับ?

ถ้าไม่พอใจจริงๆ มีทางเลือกสองทาง อย่างแรกคือ เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมแปลที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งหมายความว่าต้องลงแรงแปลและมีส่วนร่วมกับวงการแปลเยอะในระดับหนึ่ง ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก ทุกวันนี้มีนักแปลหน้าใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

อย่างที่สองคือแยกไปทำเอง (fork) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในแวดวงโอเพนซอร์ส (และเป็นข้อดีข้อหนึ่งของโอเพนซอร์สว่า ถ้าความเห็นไม่ลงรอยกัน ยังมีทางออกเสมอโดยการแยกไปทำเอง) อย่างไรก็ตามการแยกไปทำเองต้องใช้ทรัพยากรสูงกว่าทำร่วมกัน (เรื่องแบรนด์ก็มีผล) และโครงการโอเพนซอร์สทุกที่รับคำแปลจากทีมงานทีมเดียวในแต่ละภาษา เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน

ว่าด้วยคำแปลภาษาไทยใน Firefox

ในส่วนนี้จะยกตัวอย่างคำแปลที่เป็นข้อขัดแย้งใน Firefox 3 และอธิบายว่า ทำไมถึงแปลแบบนั้น

แรกสุดต้องอธิบายว่า การตัดสินใจ "เลือก" คำแปลนั้น มีหลักการกว้างๆ ดังนี้

  • ความสม่ำเสมอ (consistency) สำคัญมาก เพราะผู้ใช้จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง "คำ" กับ "หน้าที่" ในหัวและจำคำนั้นไปตลอด ถ้านึกภาพตามไม่ออก ลองนึกถึงโปรแกรมที่ใช้คำว่า

    • "Create" แทน "New"
    • "Load" แทน "Open"
    • "Duplicate" แทน "Copy"
    • "Manual" แทน "Help"
  • สั้นกระชับ ได้ใจความ อ่านแล้วไม่คลุมเครือ มีความหมายได้อย่างเดียว
  • เข้ากับบริบทในการใช้งาน คำบางคำภาษาอังกฤษใช้แบบเดียวกันทุกที่ แต่ภาษาไทยต้องใช้หลายคำขึ้นกับตำแหน่งที่ปรากฎ ตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า item คำเดียวได้ทุกกรณี แต่ภาษาไทยต้องเปลี่ยนเป็น "อัน" "ชิ้น" "รายการ" ตามบริบทของโปรแกรม

สำหรับเงื่อนไขด้านความสม่ำเสมอนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกโปรแกรมต้องใช้ให้เหมือนกันเพื่อลดความสับสนของผู้ใช้ โดยปัจจุบัน กลุ่มนักแปลภาษาไทยได้ใช้ข้อมูลจาก Glossary for Open Source Software ซึ่งดูแลโดยเนคเทคเป็นหลัก ถ้าคำใดถูกระบุไว้ใน Glossary แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ไม่ควรปฏิบัติตาม

สำหรับคำแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา และยังไม่ได้บรรจุลงใน Glossary จะใช้การถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเมลลิ่งลิสต์ thai-l10n และหาข้อยุติกันเป็นกรณีไป ถ้ากลัวว่าในอนาคตจะมีคำแปลที่แปลกจนรับไม่ได้ออกมา แนะนำให้สมัครเมลลิ่งลิสต์เอาไว้ และแสดงความเห็นทุกครั้งที่มีคนขอความเห็นในการแปล เป็นการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองครับ

ส่วนการเรียกศัพท์บัญญัตินั้นอ้างอิงตามราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นองค์กรหลักของประเทศไทยที่ทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ใหม่ ตัวอย่างเช่น "อินเทอร์เน็ต" ไม่ใช่ "อินเตอร์เน็ต" ถ้าไม่เห็นด้วยกับราชบัณฑิต ก็คงต้องติดต่อกับราชบัณฑิตเอาเอง แต่ข้อสรุปของทีมแปลคือ

"เห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับคำแปล เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ความสม่ำเสมอของคำแปล เป็นเรื่องของทุกคน"

ทีนี้มาดูคำเจ้าปัญหากันทีละคำ

"วาง"

คำนี้เป็นกรณีคลาสสิก ที่มานั้นมาจากคำว่า "Paste" ซึ่งตามพจนานุกรมเป็นคำนามแปลว่า "กาวหรือแป้งเปียก" แต่พอมาอยู่ในโปรแกรม มันกลายเป็นคำกริยาเข้าชุดกับ Cut และ Copy ซึ่งคำกริยาสำหรับ "กาว" ที่ใช้กันเป็นปกติในภาษาไทยก็คือ "แปะ" ซึ่งถ้านำไปใช้คู่กับคำว่า "Cut" ซึ่งแปลว่า "ตัด" ก็จะสมเหตุสมผลคือเป็น "ตัดแปะ" ซึ่งตรงกับการทำงานของ Cut-Copy-Paste

ปัญหาของคำว่า Paste คือในโปรแกรมของไมโครซอฟท์แปลว่า "วาง" ซึ่งผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่าคนแปลตั้งต้นของไมโครซอฟท์ ต้องการสื่อความหมายแบบอ้อมๆ ว่า "ตัดออกจากที่เดิม แล้วนำมาวางไว้ที่อื่น" ซึ่งมันอ่านรู้เรื่องถ้าเขียนในรูปประโยคยาวๆ แบบนี้ แต่ตามเหตุผลที่เขียนไปข้างบนว่า เนื้อที่มันไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น เราต้องคิดคำที่สั้นที่สุดที่สื่อความหมายได้ดีที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ ทีมแปลไทยลงความเห็นว่า ควรใช้ "แปะ" แทน "วาง"

"ที่คั่นหน้า"

คำว่า Bookmark นั้นต้องย้อนกลับไปสมัยแรกเริ่มของเบราว์เซอร์และ HTML สมัยนั้นเว็บมีลักษณะใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือ (สังเกตได้จากการที่เราใช้คำว่า "เว็บเพจ" ซึ่งหมายถึง "หน้า" ในความหมายของหน้าหนังสือ)

แนวคิดของคำว่า Bookmark จึงใช้การกระทำแบบเดียวกันกับหนังสือจริงๆ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย นั่นคือ "คั่นหน้าที่ชอบเอาไว้ แล้วกลับมาอ่านทีหลัง" ซึ่งการคั่นหน้า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bookmark

เมื่อเบราว์เซอร์อย่าง Firefox ต้องแปลภาษาไทย คำว่า "ที่คั่นหน้า" ซึ่งเป็นนามหมายถึงสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่เอาไว้คั่นหน้าหนังสือ จึงเป็นคำที่เหมาะสม

ลองสังเกตคำว่า "Bookmark this page" ในเมนู "Bookmark" เมื่อแปลเป็นไทยใช้คำว่า "คั่นหน้านี้" ด้วยเหตุผลเดียวกัน

"มีเชิง"

ตัวอักษรภาษาละตินนั้นมีรูปแบบใหญ่ๆ อยู่ 2 อย่างคือ Serif กับ Sans Serif ซึ่งเกิดมาหลายศตวรรษแล้ว โดยรากฐานของมันมาจากระบบการพิมพ์และการออกแบบตัวอักษรของยุโรป

Serif คือแบบอักษรที่มีการตกแต่งหรือการตวัดตามขอบมุม ส่วน Sans-serif ตรงข้ามคือไม่มีการตกแต่ง มีแต่เส้นตรงโล้นๆ ดูภาพประกอบเข้าใจง่ายกว่า (ภาพจากวิกิพีเดีย)

คำว่า Sans เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "ไม่มี" (without) ดังนั้น Sans-serif แปลว่าแบบอักษรที่ไม่มีการตกแต่งหรือตวัดแบบ Serif

คำภาษาไทยที่ใช้เรียกกันในวงการออกแบบตัวอักษรนั้นเรียก Serif ว่า "มีเชิง" (ในความหมายเดียวกับ "เชิงเทียน" ที่มีอะไรยื่นๆ ออกมา) และเรียก Sans-serif ว่า "ไม่มีเชิง" ซึ่งตรงกับรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส

สำหรับตัวอักษรภาษาไทยนั้นไม่มีแนวคิดเรื่อง "เชิง" ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตามเมื่อภาษาไทยอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งคิดโดยฝรั่ง และมีการแบ่งฟอนต์ออกเป็นสองตระกูล จึงต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านอยู่บ้างเหมือนกัน

ผมยกตัวอย่างฟอนต์ยอดนิยม 2 อันของคนไทย นั่นคือ Angsana UPC และ Cordia UPC

ถ้าดูเฉพาะตัวภาษาอังกฤษ อันนี้ชัดเจนว่า

  • Angsana UPC เป็นฟอนต์แบบ Serif เช่นเดียวกับ Times
  • Cordia UPC เป็นฟอนต์แบบ Sans-serif เหมือน Arial

แต่พอต้องใส่ตัวภาษาไทยลงไป ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์เลยต้องหาทางสร้างจุดต่างในฟอนต์ทั้งสองตัว โดยอิงจากหลัก Serif และ Sans-serif อย่างของฝรั่ง แล้วใส่ลวยลายเพิ่มเติมเข้าไปในฟอนต์แบบ Serif (สังเกตวงกลมสีส้มในภาพ จะเห็นว่าหลักการไม่ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดนัก แต่ก็มีใน Angsana เยอะกว่า Cordia)

หมายเหตุ: ข้อมูลอันนี้ผมได้มาจากการพูดคุยกับคุณบุญเลิศ ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์ตระกูล UPC เป็นการส่วนตัว

กลับมาที่ประเด็นการแปล ในเมื่อ Firefox เป็นโปรแกรมที่มีรากเหง้ามาจากอเมริกา และมีคำว่า Serif กับ Sans-serif ให้แปล การเลือกใช้ "มีเชิง" และ "ไม่มีเชิง" ซึ่งเป็นคำไทยที่ใช้กันในวงการประดิษฐ์อักษรจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ลองนึกถึง "เซริฟ" กับ "ซานเซริฟ" ดูได้ครับ)

encrypt

จากพจนานุกรมลองดู

encryption (เอน' สคริพเชิน) n. การสร้างรหัสลับ, การนำข้อความมาเข้ารหัส

ตอนแปลนั้นมี 2 ทางเลือกคือ "เข้ารหัส" หรือ "เข้ารหัสลับ" ซึ่งสุดท้ายตัดสินใจเลือก "เข้ารหัสลับ"​ เพราะต้องการนำคำว่า "เข้ารหัส" ไปใช้กับคำว่า encode ซึ่งมีใน Firefox เช่นกัน (ลักษณะของ encode ต่างจาก encrypt ตรงที่ไม่เป็นความลับ ทุกคนสามารถถอดรหัสได้ถ้ารู้ตาราง)

desktop

ใน Glossary ใช้คำว่า "พื้นโต๊ะ" ถ้าไม่เห็นด้วย เสนอเข้ามาในเมลลิ่งลิสต์ได้ครับ แต่ตอนนี้ระหว่างที่ยังไม่มีคนเสนอเข้ามา ก็ต้องทำตามข้อตกลง ด้วยเหตุผลที่ผมเขียนไปแล้ว

about:robots

อันนี้ผมคิดว่าแปลตรงตัวนะครับ

ต้นฉบับ

ภาษาไทย

about:config

ต้นฉบับ

หน้าจอนี้ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเองก็มีที่มาครับ อ่านแบบเต็มๆ ในบล็อกของ Jesse Ruderman

เรื่องแบบสั้นๆ มีอยู่ว่า Mike Beltzner ทีมงานด้านออกแบบอินเทอร์เฟซของ Mozilla เสนอว่า หน้า about:config ควรมีคำเตือนเพราะมันมีสิทธิ์ทำให้ Firefox พัง (เขาเสนออย่างเป็นทางการในบั๊ก 339720) ซึ่งแรกมีคนใช้คำเตือนแบบเป็นทางการหน่อย ดังภาพ

แต่ Beltzner ไม่เห็นด้วย เหตุผลของเขาคือมันเป็นทางการเกินไป ขู่มากเกินไป คนอ่านแล้วไม่เข้าใจว่า security vulnerabilities มันคืออะไร ควรปรับให้อ่านง่ายขึ้น และในหัวเรื่องใช้คำว่า "Be careful, this gun is loaded!" เพื่อให้ดูไม่ซีเรียสจนเกินไป

มีคนติงมาว่า "gun" นั้นรุนแรงเกินไปไหมนะ หลังจากถกกันนานโคตรๆ ก็มาได้ข้อสรุปเป็น "This might void your warranty!" (ระวังนะ มันจะเสียประกันนะ) อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

คำว่า "This might void your warranty!" นั้นเป็นมุกตลก เพราะ Firefox ไม่มีประกัน

ส่วนคำแปลภาษาไทยก็คงไว้ซึ่งอารมณ์ขัน และความหมายตามบริบทเดิม ถ้าไม่ชอบ แจ้งเข้ามาทาง issue หรือเมลลิ่งลิสต์

เครดิตผู้แปล

มีคนถามมาว่าทำไมชื่อต้องใช้ภาษาอังกฤษ ในเมื่อแปลส่วนอื่นๆ เป็นภาษาไทย

คำตอบง่ายมากครับ เวลามีปัญหาฝรั่งมันจะได้ตามตัวถูกว่าใครแปลไว้ เป็นธรรมเนียมของการแปลซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทุกตัวว่า ชื่อผู้แปลให้ใช้ภาษาอังกฤษ​ (บางโปรแกรมให้ใส่อีเมลไว้ติดต่อด้วย)

อยากได้เวอร์ชันภาษาอังกฤษ

ก่อนหน้านี้ดาวน์โหลด Firefox (ที่มีแต่ภาษาอังกฤษ) ยังไง ก็ทำอย่างงั้นเช่นเดิมครับ

แต่อยากได้ความชัวร์ ให้ทำตามนี้

เข้าไปที่ หน้าดาวน์โหลด Firefox ตรงปุ่มมันจะขึ้นอะไรไม่ต้องสนใจ เลือก Other Systems and Languages ตามลูกศรชี้

เลื่อนลงไปหา English (US) ตามภาพ แล้วเลือกดาวน์โหลดตามระบบปฏิบัติการที่ใช้

ขั้นสุดท้ายก็ติดตั้ง Firefox ตามปกติ

สรุป

  • แปลภาษาไทยเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น ไม่มีอะไรเสียหาย
  • ภาษาอังกฤษยังมีให้เลือกใช้เสมอ ไม่หายไปไหน
  • การแปลซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมอะไร เป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีใครมีหน้าที่มาตอบปัญหาหรือแก้ปัญหาโดยตรง
  • ความเห็นในเรื่องการแปล ทุกคนสามารถเสนอได้ โอเพนซอร์สเปิดกว้างเสมอ
  • แต่การเสนอ ควรใช้ช่องทางที่เตรียมไว้ให้แล้ว
  • ถ้าคิดว่าแปลไม่ดี ควรเสนอคำที่ดีกว่าด้วย ไม่ใช่ติอย่างเดียว
  • งานแปลภาษาไทยยังขาดคนอีกมาก ขอเชิญทุกท่านเข้ามาช่วยกันแปล วิธีเริ่มต้นง่ายๆ คือสมัครเมลลิ่งลิสต์เข้ามาก่อน และอ่านบทความชุด "ระดมพลนักแปล" ดังนี้

ถ้ามีข้อข้องใจเรื่องการแปลอื่นๆ ก็ถามมาได้ครับ แต่ถามในเมลลิ่งลิสต์จะดีกว่านะ

Blognone Jobs Premium