อาชีพการขับรถ Uber กำลังเป็นอาชีพแขนงหนึ่งที่กำลังมาแรง มีคำศัพท์เรียกอาชีพลักษณะนี้ว่า Gig Economy ซึ่งหมายถึงอาชีพแบบพาร์ทไทม์ที่ไม่ต้องทำงานประจำเหมือนในอดีต
แม้ว่า Gig Economy มีจุดเด่นที่ทำงานเวลาไหนก็ได้ที่ต้องการ และถูกโฆษณาว่า "มีโอกาสสร้างรายได้" มากกว่างานแบบดั้งเดิม แต่ชีวิตจริงของผู้ประกอบอาชีพ Gig Economy ก็ไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น และผู้ขับ Uber อาจต้องทำงานอย่างหนักกว่าเดิม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีพของตัวเอง
Bloomberg มีสกู๊ปสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพขับรถ Uber อย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายคนต้องนอนค้างในรถเพื่อมาทำรอบรับผู้โดยสารในพื้นที่ที่ค่าโดยสารแพงมากพอ หลังจาก Uber ทยอยปรับลดราคาทุกปีจนคนขับ Uber เริ่มอยู่ไม่ไหว
คนขับ Uber หลายคนที่อยู่นอกเขตเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก ประสบปัญหาว่าพื้นที่ของตัวเองมีค่าโดยสารราคาถูก ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงต้องเข้ามาขับรับคนในเขตเมืองใหญ่หรือสนามบินที่มีอัตราจ่ายเงินสูงกว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเหล่านี้ต้องขับรถจากบ้านเป็นระยะทางไกลๆ เข้ามาวนรับส่งคนในเขตเมืองตลอดทั้งวันจนถึงช่วงผับบาร์เลิกในตอนดึก ก่อนจะหาจุดจอดรถนอนหลับพักผ่อน เพื่อตื่นเช้ามืดมารับผู้โดยสารในช่วงเช้าต่อไป ทำงานเก็บเงินแล้วค่อยกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวในวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น (เฉลี่ยแล้วทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง หรือวันละ 14 ชั่วโมง)
กลุ่มคนขับ Uber เหล่านี้รวมตัวกันตามลานจอดรถของซูเปอร์มาร์เก็ต สนามบิน หรือโรงแรม ที่รู้กันว่าปลอดภัย ยามไม่มาไล่ และไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวุ่นวาย ในบางเมือง คนขับรถบางกลุ่มใช้วิธีเช่าโรงแรมราคาถูกแล้วแชร์ห้องกัน หรือเลือกนอนพักในโฮสเทลราคาถูกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
การรวมตัวกันมีประโยชน์ทั้งในแง่การระวังภัยให้กัน และสร้างสังคมคนขับที่อบอุ่นในอาชีพการงานที่เปลี่ยวเหงา ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งที่คนขับ Uber ไปรวมตัวกันนอนพักถึงกับได้ชื่อเล่นว่าเป็น "Uber Terminal" โดยเหล่าคนขับมองว่าพนักงานในร้านค้าเหล่านี้เปรียบเสมือน "ครอบครัว" ของตัวเอง
Bloomberg สัมภาษณ์ Walter Laquian Howard คนขับ Uber รายหนึ่งในชิคาโก ที่มาขับรถแบบเต็มเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 โดยใช้วิธีเช่ารถจากบริษัท Uber และต้องหารายได้ต่อวันให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เขาเล่าว่าในช่วงแรกเขาขับ Uber เป็นอาชีพเสริม ตอนนั้น Uber มีโปรโมชั่นหลายอย่างที่จ่ายเงินพิเศษให้คนขับ เขาจึงรู้สึกว่ารายได้ดีจนลาออกมาทำเป็นงานประจำ แต่หลังจากนั้น Uber ทยอยลดค่าจ้างลง จากเดิมที่เขาได้ชั่วโมงละ 40 ดอลลาร์ ก็ลงมาอยู่ที่ชั่วโมงละ 12.5 ดอลลาร์ ทุกวันนี้เขาต้องตื่นมากลางดึกทุก 3 ชั่วโมงเพื่อเปิดฮีทเตอร์ในรถยนต์
ถึงแม้ Uber จะพยายามโฆษณาว่าคนขับของตัวเองทำงานพาร์ทไทม์ รับเป็นอาชีพเสริม แต่ Bloomberg วิเคราะห์สถิติและพบว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้ของ Uber มาจากคนที่ทำงานจริงจัง มากกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง (ถ้าคิดเฉพาะวันธรรมดาคือวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป) ซึ่ง Uber ยืนยันในสถิตินี้
ประเด็นที่ถกเถียงกันมากใน gig economy คือสถานะของคนทำงานว่าเป็น "พนักงาน/ลูกจ้าง" (employee) หรือไม่ ซึ่ง Uber มองว่าเป็น "คู่สัญญา" (contractor/partner) ส่งผลให้ Uber ไม่ให้สิทธิประโยชน์อย่างประกันสังคม-ประกันสุขภาพแก่คนเหล่านี้ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันและมีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้นหลายครั้ง
อีกประเด็นหนึ่งของเศรษฐกิจแบบ gig economy คือการโฆษณาเกินจริงว่าคนขับจะมีรายได้ต่อชั่วโมงเท่าไร ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีเพียงแค่ 10% ที่ทำได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะ Uber แต่ยังรวมไปถึงคู่แข่งอย่าง Lyft และบริษัทลักษณะเดียวกันอย่าง Instacart ด้วย
ที่มา - Bloomberg