12 มีนาคมเป็นวันครบรอบ 28 ปีของ World Wide Web ซึ่ง Sir Tim Berners-Lee ผู้พัฒนาระบบและผู้ก่อตั้ง Web Foundation ได้เขียนจดหมายในโอกาสครบรอบไว้ดังนี้
จดหมายของ Berners-Lee กล่าวไว้ว่า เขาคิดว่าเว็บคือแพลตฟอร์มเปิด ที่ให้ทุกคนจากทุกหนทุกแห่งเข้ามาร่วมกันแชร์ข้อมูล, เข้าถึงโอกาส และร่วมมือโดยข้ามผ่านพรมแดนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานี้ ตัวเขาเองเริ่มรู้สึกกังวลเทรนด์ 3 ประการนี้มาก
ประการแรก คือการสูญเสียการควบคุมข้อมูลส่วนตัว เพราะว่าโมเดลธุรกิจจากเว็บไซต์ปัจจุบันให้คอนเทนต์ฟรีแลกกับข้อมูลส่วนตัว แม้จะมีการยอมรับข้อตกลงการใช้งานอันยืดยาวและซับซ้อน แต่โดยพื้นฐานแล้วเราไม่สนใจข้อมูลที่ถูกเก็บไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการฟรีแน่ ซึ่งถ้าข้อมูลเราถูกเก็บไว้ห่างไกลสายตาเรา เราก็สูญเสียประโยชน์การคุมข้อมูลเหล่านี้เพื่อจะกำหนดว่าจะแชร์ให้ใคร เมื่อไร แต่เราแทบไม่มีทางบอกกับบริษัทเลยว่าข้อมูลอะไรที่เราไม่ต้องการให้แชร์โดยเฉพาะกับบุคคลที่สาม ซึ่งเรามีสองทางเลือก คือแชร์หมด หรือไม่แชร์เลย
การเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางนี้ยังส่งผลกระทบแบบอื่นอีกด้วย ผ่านการร่วมมือ (บีบบังคับขู่เข็ญ) ของเหล่าบริษัทและรัฐบาลซึ่งจะสอดส่องทุกการเดินทางในโลกออนไลน์ของเรา ผ่านกฎหมายที่เหยียบย่ำสิทธิในข้อมูลของเรา และจะเป็นเรื่องง่ายมากที่เห็นการคุกคามเกิดขึ้นในระบอบการปกครองแบบกดขี่ บล็อกเกอร์สามารถถูกจับหรือถูกฆ่า, ขั้วตรงข้ามทางการเมืองสามารถถูกจับตามอง แม้แต่ประเทศที่เราเชื่อว่ารัฐบาลได้รับความไว้วางใจ ก็ยังสอดส่องทุกคน ประเทศเหล่านั้นจะสร้าง chilling effect หรือความกลัวต่อกฎหมายของ free speech และหยุดเว็บไม่ให้เป็นสถานที่ที่ค้นหาเรื่องราวสำคัญอย่างเช่นปัญหาสุขภาพที่อ่อนไหว, เพศ หรือศาสนา
ประการที่สอง คือข้อมูลเท็จสามารถกระจายไปทั่วเว็บได้อย่างง่ายดาย เพราะปัจจุบันผู้คนจะค้นหาข่าวและข้อมูลจากเว็บผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเสิร์ชเอนจิน เว็บเหล่านี้สร้างเงินได้มากขึ้นเมื่อเราคลิกลิงก์ที่แสดงขึ้นมา พวกเขาเลือกสิ่งที่จะแสดงให้เราโดยใช้อัลกอริทึมที่เรียนรู้จากข้อมูลส่วนตัวของเราที่พวกเขาเก็บมา ผลลัพธ์คือแสดงเว็บที่เราน่าจะคลิก ซึ่งหมายความว่าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข่าวปลอม ซึ่งทำให้เราตกใจ ประหลาดใจ หรือมีลักษณะลำเอียงสามารถกระจายออกไปได้ดังไฟป่า และด้วยการใช้งานวิทยาการข้อมูลรวมถึงกลุ่มบอท ประกอบกับเจตนาที่ไม่ดี ทำให้ระบบสามารถกระจายข้อมูลที่เป็นเท็จออกไปได้ เพื่อผลประโยชน์ทางการเงินหรือการเมือง
ประการที่สาม คือการโฆษณาด้านการเมืองต้องการความโปร่งใสและความเข้าใจ เพราะปัจจุบันการโฆษณาด้านการเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยความจริงที่ว่าคนทั่วไปมักจะรับข้อมูลจากแพลตฟอร์มเพียงไม่กี่แพลตฟอร์มและการเติบโตของอัลกอริทึมที่พัฒนามาด้วยข้อมูลส่วนตัว หมายความว่าแคมเปญการเมืองสามารถส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 มีโฆษณากว่า 5 หมื่นแบบที่ถูกเสิร์ฟทุกวันบน Facebook ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในการตรวจตรา และน่าจะมีข้อความโฆษณาทางการเมืองบางอย่างทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกที่ผิดจรรยาบรรณโดยชี้นำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับข้อมูลจากเว็บข่าวปลอม หรือทำให้ผู้สมัครคนอื่นหลุดออกจากโพล การโฆษณาแบบตรงกลุ่มเป้าหมายทำให้แคมเปญมีความแตกต่างอย่างสมบูรณ์ และทำให้ขัดแย้งกันในแต่ละกลุ่ม ซึ่งการกระทำลักษณะนี้คือประชาธิปไตยจริงหรือ?
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อน วิธีแก้ไม่ง่าย แต่หนทางของกระบวนการค่อนข้างชัดเจน เราต้องร่วมกับบริษัทเว็บเพื่อผลักดันให้การควบคุมข้อมูลระดับที่เสมอภาคกลับไปอยู่ในมือผู้คน, คัดค้านรัฐบาลในการออกกฎหมายควบคุมที่มากเกินไป, ต่อต้านข้อมูลเท็จโดยกระตุ้นบริษัทอย่าง Google และ Facebook ให้จัดการ แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงการเป็นศูนย์กลางในการตัดสินว่าอะไรถูกต้อง, ต้องการความโปร่งใสในอัลกอริทึมเพื่อเข้าใจว่าการตัดสินใจของอัลกอริทึมมีผลกับชีวิตเรามากแค่ไหน และต้องการปิด “จุดบอดทางอินเทอร์เน็ต” เพื่อเป็นการควบคุมแคมเปญทางการเมือง
ทีมงาน Web Foundation ได้ทำงานเพื่อวิจัยปัญหาในด้านรายละเอียด ซึ่ง Berner-Lee ขอให้ทุกคนช่วยสนับสนุนงานเท่าที่ทำได้ คือช่วยกระจายคำพูดออกไป กดดันบริษัทและรัฐบาล หรือบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือองค์กร
Berner-Lee กล่าวว่าตัวเขาเองเป็นผู้สร้างเว็บ แต่เว็บทุกวันนี้ผู้ช่วยสร้างคือทุกคน บล็อก, โพสต์, ทวีต, ภาพ, วิดีโอ, แอพพลิเคชั่น, หน้าเว็บ และอื่น ๆ เป็นตัวแทนของความร่วมมือของพวกคุณนับล้านคนทั่วโลก คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่นักการเมืองช่วยต่อสู้ทำให้เว็บยังคงเสรี, องค์กรมาตรฐานอย่าง W3C ปรับปรุงการเข้าถึง, พลัง และความปลอดภัยของเทคโนโลยี และผู้คนทั่วไปที่ประท้วงบนท้องถนน
ที่มา - Web Foundation