กูเกิลเปิดตัว Android O ที่ยังไม่รู้ว่าชื่อจริงว่าอะไร (แต่คนจำนวนมากก็ลุ้นให้เป็น Oreo) โดยมีฟีเจอร์ชุดแรกออกมาเพื่อฟังเสียงตอบรับจากนักพัฒนากันก่อน ฟีเจอร์เด่นๆ ได้แก่
- จำกัดการทำงานเบื้องหลัง: แอปที่รันอยู่เบื้องหลังจะถูกจำกัดมากกว่าเดิม ตัวแอปจะไม่สามารถรับ broadcast ที่ไม่เจาะจงมายังตัวแอปโดยตรงได้ เช่น
ACTION_PACKAGE_REPLACED
แม้จะประกาศไว้ใน manifest แต่ก็รันไม่ได้หากรันอยู่เบื้องหลัง แต่มี broadcast จำนวนหนึ่งที่ได้รับข้อยกเว้นให้รับได้แม้จะไม่ได้เจาะจงตัวแอป
- แบ่งหมวดหมู่การแจ้งเตือน: การแสดงการแจ้งเตือนเป็นสิทธิ์ของตัวแอปโดยตรง หากผู้ใช้ต้องการรับการแจ้งเตือนเพียงบางหมวด เช่น ทวิตเตอร์ต้องการดูแต่ direct message ก็ต้องไปปรับในตัวแอปเอาเอง หากผู้ใช้ปิดสิทธิ์การแจ้งเตือนก็กลายเป็นว่าแอปส่งแจ้งเตือนอะไรไม่ได้เลย แต่ใน Android O จะเปิดทางให้ผู้ใช้ปิดทีละหมวดได้
- เติมข้อมูลอัตโนมัติ (Autofill API): จากเดิมแอปเติมข้อมูลอัตโนมัติ เช่น แอปเก็บรหัสผ่าน มักให้บริการด้วยการทำตัวเป็นแอปคีย์บอร์ด ใน Android O จะเปิดให้สร้างแอป Autofill ที่กรอกข้อมูลไปยังฟอร์มได้โดยตรง
- Picture-in-Picture (PIP) และการรองรับจอภายนอก: PIP รองรับทั้งโทรศัพท์และแท็บเล็ตแล้ว, ระบบแจ้งเตือนกลางจอ (overlay), และการส่งภาพออกจอภาพภายนอก เมื่อตัวเครื่องแอนดรอยด์มีจอมากกว่าหนึ่งจอ
- รองรับการใส่ฟอนต์: แอปสามารถใส่ฟอนต์ของตัวเองไปกับตัวแอป
- Adaptive Icon: รองรับการแสดงไอคอนในรูปร่างต่างๆ แก้ปัญหาบางเครื่องแสดงไอคอนเป็นวงกลม บางเครื่องแสดงเป็นสี่เหลี่ยม
- Wide-gamut: หากจอรองรับการแสดงผลแบบโคนสีกว้าง ตัวแอปสามารถแสดงสีตามที่หน้าจอรองรับได้
- การเชื่อมต่อใหม่: รองรับการส่งสัญญาณเสียงคุณภาพสูงผ่าน Bluetooth ด้วย LDAC, รองรับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วย Wi-Fi Aware
- รองรับการใช้คีย์บอร์ดจริง: ฟีเจอร์นี้มาจากการรันแอปแอนดรอย์บน Chrome OS ที่ผู้ใช้มักใช้งานผ่านคีย์บอร์ด ตัวแอปจะสามารถทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านคีย์บอร์ดอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การใช้ปุ่มแท็บหรือลูกศรเพื่อเลื่อนไปมา
- AAudio สำหรับการทำงานมืออาชีพ: AAudio API สำหรับการส่งสัญญาณเสียงแบบ latency ต่ำ
- WebView แยกโปรเซส: สามารถแยกโปรเซลตัว WebView ออกจากแอปหลัก, รองรับการแครชของตัว WebView ได้ดีขึ้น, และใช้งาน Google Safe Browsing ใน WebView ได้
- Java 8: API ของจาวาปรับเป็น Java 8 และตัวรันไทม์ก็ทำงานเร็วขึ้นอาจจะถึงสองเท่าตัว
ผู้สนใจดาวน์โหลดมาใช้ได้แล้ววันนี้ โดยโทรศัพท์ที่รองรับได้แก่ Nexus 5X, Nexus 6P, Nexus Player, Pixel C, Pixel, Pixel XL อย่างไรก็ดีรอมนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ใช้ทั่วไป ถ้าใครจะใช้ก็คงต้องระวังกันเอง
ที่มา - Android Developers