Dell EMC เตรียมลุยตลาดไทยปี 60 เต็มตัว ปรับระบบพาร์ทเนอร์ใหม่หลังควบกิจการเสร็จ

by mk
26 March 2017 - 10:19

การควบกิจการระหว่าง Dell และ EMC เพิ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว และทั้งสองบริษัทเพิ่งรวมการปฏิบัติงานเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง ปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่ Dell และ EMC จะเริ่มทำตลาดร่วมกันภายใต้แบรนด์เดียว

Blognone มีโอกาสพูดคุยกับคุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไป ภาคพื้นอินโดจีน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ Dell และ EMC ในยุคใหม่ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

รวม Partner Program ใหม่เหลืออันเดียว

ก่อนหน้าที่การรวมกิจการจะเสร็จสิ้น ยังมีความสับสนอยู่มากต่อการควบรวมของ Dell และ EMC โดยเฉพาะจากลูกค้าและคู่ค้า (พาร์ทเนอร์) เดิมของทั้งสองบริษัท ตอนนี้การรวมกิจการเสร็จสิ้น ก็ได้เวลาที่ Dell EMC จะเริ่มบุกตลาดใต้แบรนด์ใหม่อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ Dell EMC จะทำคือปรับระบบของคู่ค้าใหม่ จากเดิมที่มี Partner Program แยกกันระหว่าง Dell กับ EMC ก็ยุบรวมกันเหลือเพียงอันเดียว ภายใต้ชื่อว่า Dell EMC Partner Program

คุณอโณทัย ระบุว่าการปรับปรุง Partner Program เป็นสิ่งแรกที่ Dell EMC ทำหลังรวมบริษัทเรียบร้อย เพราะต้องการให้พาร์ทเนอร์ทำงานได้ทันที จากเดิมในช่วงระหว่างรอรวมกิจการ ลูกค้ารายเก่าอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าอยู่บ้าง แต่เมื่อรวมกิจการเสร็จเรียบร้อย ลูกค้าเข้าใจว่า Dell EMC ยุคใหม่คือใคร ออเดอร์ก็เริ่มกลับเข้ามาอีกครั้ง

Partner Program อันใหม่รวมเอาจุดแข็งจากโปรแกรมเดิมของทั้ง Dell และ EMC เข้าด้วยกัน มีหน้าพอร์ทัลเพียงอันเดียวเพื่อไม่ให้พาร์ทเนอร์สับสน แนวทางของ Dell EMC คือโปรแกรมต้องชัดเจน ให้ความคุ้มครองคู่ค้าเดิม และที่สำคัญคือพาร์ทเนอร์เข้าร่วมแล้วต้องมีกำไร โดย Dell EMC จะช่วยสนับสนุนทุกด้านไม่ว่าจะเป็นส่วนลด หรือรางวัลเมื่อทำยอดขาย-อัตราการเติบโตได้ตามที่กำหนด

รวมตัวเป็น Dell EMC แล้ว ธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างไร

คุณอโณทัย บอกว่าจุดแข็งของ Dell EMC หลังรวมกิจการกันคือการเป็นบริษัทไอทีรายเดียวที่มีโซลูชันแบบ end-to-end คือตั้งแต่โซลูชันองค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงไคลเอนต์อย่างพีซี โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์ IoT ดังนั้นพาร์ทเนอร์ของ Dell หรือของ EMC เดิม จะเข้าถึงเทคโนโลยีของอีกฝั่งเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่พาร์ทเนอร์อาจขายเฉพาะสตอเรจ EMC ก็อาจขายเซิร์ฟเวอร์ของ Dell เพิ่มได้ด้วย

ปัจจุบัน โซลูชันของ Dell EMC มุ่งเป้าตอบโจทย์ Business Transformation โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  • IT Transformation เน้นการเปลี่ยนแปลงสู่สถาปัตยกรรมไอทียุคใหม่ (modern architecture) เช่น hyperconverge, software defined, hybrid cloud หรือถ้าเป็นสตอเรจ ก็จะมุ่งไปทาง all flash
  • Workforce Transformation พาร์ทเนอร์เดิมอาจถนัดการขายฮาร์ดแวร์เป็นชิ้น แต่ Dell EMC ก็พยายามผลักดันให้ขยายเป็นการขายทั้งโซลูชัน โดย Dell EMC จะส่งทีมวิศวกรเข้าไปช่วยประกบพาร์ทเนอร์แต่ละรายให้ใกล้ชิดมากขึ้น
  • Security Transformation Dell EMC มีซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยหลากหลายแบรนด์ เช่น RSA, SecureWork เป็นต้น

ปัจจุบัน Dell EMC อาจมีผลิตภัณฑ์ทับไลน์กันอยู่บ้าง เช่น สตอเรจบางรุ่น ทางออกของ Dell EMC Thailand คือมีทีมพนักงานส่วนกลางที่เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท คอยให้คำปรึกษากับพาร์ทเนอร์และลูกค้าในการเลือกโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยลดความสับสนตรงนี้ลงได้

พีซียังไม่ตาย

ถึงแม้การควบรวมระหว่าง Dell EMC จะส่งผลให้ภาพลักษณ์องค์กรมุ่งไปทาง enterprise แต่จริงๆ แล้ว Dell ยังมีสถานะผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ของโลก บริษัทมองว่าตลาดพีซียังไม่ตาย และธุรกิจของบริษัทยังเติบโตสวนกระแสตลาดพีซีที่หดตัว

ยุทธศาสตร์ของ Dell คือการใช้พีซีเป็นตัวเจาะลูกค้าองค์กร ให้คุ้นเคยกับแบรนด์ Dell ก่อนในช่วงแรก ก่อนจะขยายผลด้วยการขายโซลูชันอื่นๆ ให้กับองค์กรนั้นๆ ต่อไปในภายหลัง

คุณอโณทัย บอกว่ารับทราบเสียงจากผู้บริโภคที่มองว่าพีซีของ Dell ยังหาซื้อยากในเมืองไทย และจะปรับปรุงเรื่องนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

Blognone Jobs Premium