เก็บตกรายละเอียด Galaxy S8 จากการใช้งานจริง ไม่มีปุ่มโฮมจริงแล้วเปลี่ยนไปอย่างไร

by mk
30 March 2017 - 13:42

หลังจากซัมซุงเปิดตัว Galaxy S8 อย่างเป็นทางการ ผมมีโอกาสได้ลองใช้เครื่องเป็นเวลา 1 วัน (นับตั้งแต่หลังงานแถลงข่าว) จึงมาเก็บตกประเด็นที่น่าสนใจของ Galaxy S8 จากการใช้งานจริงแบบยาวๆ เสียบซิมเป็นมือถือเครื่องหลักแล้วพกติดตัวตลอดทั้งวันครับ

เวอร์ชันของซอฟต์แวร์

อย่างแรกๆ ที่ชาว Android มักทำกันเวลาได้มือถือใหม่มาคือดูเวอร์ชันของซอฟต์แวร์กันก่อน ซึ่ง Galaxy S8 ก็ใช้ Android 7.0 Nougat (ยังเป็น 7.0 ไม่ใช่ 7.1) โดยมี Security Patch Level เป็นตัวล่าสุด 1 March 2017

สีที่มีให้เลือกทั้ง 5 สี

Galaxy S8 มีสีให้เลือกทั้งหมด 5 สี ประกอบด้วยสีพื้นฐาน 3 สีคือ ดำ เงิน ทอง และสีพิเศษอีก 2 สีคือฟ้า Coral Blue ตัวซ้ายสุดในภาพ (โทนสีจะหม่นกว่าของ Note 7) และเทา Orchid Gray ที่จะอมม่วงเล็กน้อย (ที่สองจากขวา)

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ Orchid Gray แต่สีเหล่านี้จะเลื่อมๆ ไปตามมุมของแสงไฟด้วยนะครับ ในภาพจะติดแสงไฟออกสีเหลืองเล็กน้อย อาจแตกต่างไปจากแสงอาทิตย์ธรรมชาติหรือแสงขาวอยู่บ้าง

หน้าจอ Infinity Display เป็นอย่างไร

จุดขายที่สำคัญที่สุดของ Galaxy S8 คือหน้าจอ Infinity Display ที่ซัมซุงบอกว่าเป็นการทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของสมาร์ทโฟนลงไป เพราะเป็นจอไร้ขอบที่กินพื้นที่ด้านหน้าเครื่องเกือบทั้งหมด

ในการใช้งานจริงก็ต้องยอมครับว่า "มันสวยมาก" ยิ่งถ้าเราเลือกภาพพื้นหลังดีๆ มาใส่ มันยิ่งเตะตามาก เพราะภาพที่เห็ฯจะกินพื้นที่เกือบทั้งหมดของเครื่องมือถือเลยจริงๆ

เมื่อมีจอที่ใหญ่และสวยแล้ว การใช้งานของมันย่อมเป็นการดูภาพและวิดีโอ เวลาดูภาพที่ถ่ายมาแล้วก็จะเต็มตาจริงๆ ดูแปลกตาไปจากสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมาก

แต่ตรงนี้ต้องบอกว่าสัดส่วนของจอ Galaxy S8 คือ 18.5:9 (เกือบ 2:1) เวลาดูภาพจะสวยเต็มจอก็ต้องถ่ายด้วยสัดส่วนนี้เท่านั้น (กล้องของ S8 มีให้ตั้งค่าสัดส่วนนี้ แต่ native resolution ของกล้องก็ยังเป็น 4:3 นะครับ)

ถ้าดูภาพที่ถ่ายด้วยสัดส่วน 16:9 ก็จะเห็นขอบดำด้านข้าง ความอลังการของหน้าจอก็ลดลงไปหน่อย

เช่นเดียวกับการดูวิดีโอที่มักเป็นสัดส่วน 16:9 เกือบทั้งหมด ตรงนี้ก็ต้องทำใจเลยว่ามีขอบดำด้านข้างแน่นอน

ไม่มีปุ่มโฮมแล้ว เปลี่ยนไปแค่ไหน

การใช้หน้าจอ Infinity Display ต้องแลกมากับการตัดปุ่มจริงออกไปจากด้านหน้าของเครื่อง ซัมซุงจึงจับแยกปุ่มควบคุมหลักไปเป็นปุ่มบนหน้าจอ (on-screen button) และตัวสแกนลายนิ้วมือไปไว้ด้านหลังของเครื่อง ส่งผลให้แนวทางของ Galaxy S8 จะคล้ายกับมือถือตระกูล Nexus/Pixel ของกูเกิลมากขึ้น

สิ่งที่ซัมซุงใส่เพิ่มเข้ามาคือใต้หน้าจอปุ่มโฮม จะมีกลไกแบบ haptic feedback ให้เรารู้สึกเหมือนกดปุ่มโฮมลงไปได้จริงๆ (แบบเดียวกับของฝั่ง iPhone) ตรงนี้ก็ถือว่าทำได้ดี แต่ค่าดีฟอลต์ต้องออกแรงกดไปพอสมควร ปุ่มโฮมถึงจะสั่นให้เรารู้สึกว่ากดโดน (แตะเบาๆ มันก็ทำงานนะครับ แต่ไม่สั่นให้รู้สึกว่ากดโดนแล้ว) ตรงนี้มีตัวเลือกปรับแต่งค่า sensitivity ของปุ่มโฮมได้

ในการใช้งานทั่วๆ ไปตอนที่หน้าจอเปิดอยู่ ผมไม่รู้สึกว่าการเอาปุ่มโฮมจริงออกไปเป็นปัญหาอะไร ปรับตัวใช้งานได้ทันที แต่จุดที่ปรับตัวยากพอสมควรคือตอนปลดล็อคเครื่อง

เดิมทีในมือถือซัมซุงรุ่นก่อนๆ เราปลดล็อคหน้าจอได้ 2 วิธีคือกดโฮมหรือกดปุ่ม power เพื่อให้หน้าจอติดขึ้นมา จากนั้นจะสแกนนิ้วหรือลากไอคอนกล้องเพื่อถ่ายภาพก็แล้วแต่สะดวก

พอมาถึง Galaxy S8 การแตะปุ่มโฮมขณะหน้าจอดับอยู่ ไม่สามารถปลุกเครื่องให้ตื่นได้ ต้องกดโฮมลงไปแรงๆ ให้ haptic feedback ทำงาน หน้าจอจึงจะติดมาให้เราสั่งงานหรือใส่ PIN ปลดล็อคเครื่อง (หรือไม่ก็ต้องกด power แทน ซึ่งจะยากกว่าในกรณีวางเครื่องไว้บนโต๊ะ) ตรงนี้คงต้องใช้เวลาปรับตัวกันอีกพอสมควรครับ

ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้คือเปลี่ยนมาใช้การปลดล็อคด้วยลายนิ้วมือแทน ซึ่งเราไม่ต้องยุ่งอะไรกับปุ่มบนหน้าจอ หยิบเครื่องขึ้นมาแล้วสแกนนิ้วมือด้านหลังเครื่อง (ต้องฝึกการวางนิ้วให้คุ้นกับตำแหน่งอีกสักพักด้วย) สแกนเสร็จแล้วหน้าจอหลักก็จะเปิดขึ้นมาพร้อมใช้งานทันที

ปุ่ม Back สลับข้างซ้ายขวาได้

ผลพลอยได้อีกอย่างของการไม่ใช้ปุ่มจริง คือเราสามารถคอนฟิกตำแหน่งของปุ่มได้ตามต้องการ ที่ผ่านมาซัมซุงวางปุ่ม Back ไว้ด้านขวา สลับด้านกับ Pure Android อาจทำให้หลายคนไม่ชอบ ตอนนี้ตั้งค่าได้เองแล้ว จะเอาซ้ายหรือขวาเลือกได้ตามชอบ หรือจะเพิ่มปุ่มช็อตคัตอื่นๆ เข้ามาจาก 3 ปุ่มมาตรฐานก็ทำได้เช่นกัน

กระจกหน้าจอโค้ง จับยากหรือไม่

Galaxy S8 ไม่ได้แยกรุ่นเป็นหน้าจอแบนราบ กับหน้าจอโค้งแบบ Edge อีกต่อไปแล้ว เพราะเปลี่ยนมาใช้หน้าจอโค้งทั้งหมด เหตุผลคงเป็นว่าทำให้เครื่องเล็กลง เพราะโค้งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จับแล้วไม่มีขอบนูนขึ้นมา

หลายคนอาจรู้สึกว่ามันจับยาก จากที่ลองใช้มาทั้งวัน ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้โค้งเยอะเหมือนสมัย Edge ออกมาแรกๆ ทำให้ความโค้งไม่ใช่ปัญหานัก สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือวัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องค่อนข้างลื่น ถ้าจะจับยากคงเป็นเรื่องนี้มากกว่าเรื่องจอโค้ง

ส่วนฟีเจอร์ของ Edge อย่างการแสดงผลข้อมูลที่ขอบก็ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดขายอะไรมากนัก ใครชอบก็ใช้งาน ไม่ชอบก็ปิดไป

ขนาดหน้าจอ S8 รุ่นปกติกับรุ่น S8+

ตามสเปกของ Galaxy S8 ใช้หน้าจอขนาด 5.8" ส่วน S8+ ขนาด 6.2" ตัวเลขพวกนี้อาจดูเยอะ แต่มันเป็นการวัดแค่ขนาดหน้าจอเท่านั้น ไม่ใช่ขนาดของตัวเครื่อง (ที่เล็กลงมาก เพราะนอกจากจอแล้วแทบไม่มีอะไรเลย)

แน่นอนว่ารุ่น Galaxy S8 จับได้กระชับมือกว่า แต่ผมลองใช้รุ่น S8+ ก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก เพราะสัดส่วนหน้าจอแบบ 18.5:9 ทำให้เครื่องมีขนาดแคบลง ถ้าเทียบกับ Galaxy Note 5 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ถือว่า S8+ เล็กกว่าพอสมควร ถือง่ายไม่รู้สึกแปลกแยกอะไร

มุมจอโค้งเป็นปัญหาหรือไม่

อันนี้คงเป็นเรื่องของดีไซน์ล้วนๆ ที่ซัมซุงออกแบบมุมจอทั้ง 4 มุมให้โค้งตามมุมด้านนอกของตัวเครื่อง ตอนแรกผมเห็นแล้วก็ดูขัดๆ เหมือนกัน แต่พอได้ลองใช้จริงก็พบว่า ตำแหน่งของมุมจอโค้งมันจะไปตรงกับ Status Bar ด้านบนหรือ Navigation Bar ด้านล่างพอดี ความโค้งจะไม่ทับหน้าจอของแอพทั่วไป (และไอคอนใน Status Bar จะขยับจากมุมมาอีกหน่อยเพื่อไม่ให้โดนตัดขอบด้วย)

ส่วนแอพที่รันแบบ fullscreen เช่น เกม อันนี้ต้องบอกว่ายังไม่ได้ลองครับ แต่มุมมันนิดเดียวจริงๆ ไม่น่าจะบดบังการแสดงผลข้อมูลในแอพอยู่แล้ว ที่น่าขัดใจคงเป็นเรื่องความรู้สึกว่าจอมันถูกตัดมุมไปนั่นล่ะ

Bixby

ฟีเจอร์เด่นอีกอย่างของ Galaxy S8 คือระบบผู้ช่วยส่วนตัว Bixby ที่ใช้พลังของ AI เข้าช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น น่าเสียดายว่าตอนนี้ฟีเจอร์ด้าน AI ของ Bixby ยังไม่พร้อมให้ใช้งาน (ต้องรอ 21 เมษายน เปิดใช้พร้อมวันขายเครื่อง) เลยมีโอกาสทดสอบได้ไม่เยอะครับ

ตอนนี้ Bixby จึงมีแต่การแสดงข้อมูลทั่วๆ ไปเท่านั้น ลักษณะจะคล้ายกับ Google Now ที่แสดงผลข้อมูลแบบ card รวมไว้ให้เราในที่เดียว

การเรียกใช้งาน Bixby ทำได้ 2 วิธีคือ กดปุ่มของมันที่ขอบซ้ายของเครื่อง ใต้ปุ่ม volume หรือไม่ก็ปัดหน้าจอโฮมสกรีนไปทางซ้ายมือ

จุดที่น่าสนใจคือถึงแม้ซัมซุงจะใส่ Bixby ของตัวเองเข้ามา แต่ Galaxy S8 ก็ยังมี Google Assistant ของกูเกิลให้ใช้เช่นกัน วิธีเรียกมันขึ้นมาคือกดปุ่ม Home ค้างไว้ (ในภาพเป็นเครื่องเดโมเลยขึ้นว่าใช้งานไม่ได้)

พอร์ต USB-C และการชาร์จไฟ

Galaxy S8 เปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C ตามยุคสมัยแล้ว ใครที่สะสมสาย Micro-USB เอาไว้ก็คงได้เวลาเปลี่ยนอุปกรณ์กัน

สายชาร์จที่ให้มายังเป็น Fast Charging เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นสีดำทั้งเส้น (ก่อนหน้านี้เป็นสีขาว) คาดว่าปรับมาเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ของ S8 ที่ด้านหน้าเป็นสีดำล้วน

ตอนนี้เครื่องยังอยู่กับตัว ถ้าใครมีคำถามหรือประเด็นอะไรสงสัย ถามมาได้ในคอมเมนต์นะครับ

Blognone Jobs Premium