พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 สั่งแก้ไขกฎหมายด้านการประกอบธุรกิจ เพื่อปรับปรุงให้การประกอบธุรกิจในประเทศไทยสะดวกขึ้น หลังจากธนาคารโลก จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยอยู่อันดับ 46 จาก 190 ประเทศ
ในประกาศ คสช. มีประเด็นแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ จำนวน 17 ประเด็น โดยประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการลดการใช้เอกสารกระดาษ มีดังนี้
แก้ไข มาตรา 1016 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ของเดิม
การจดทะเบียนนั้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้ง สำนักงานแห่งใหญ่ทำกิจการอยู่ ณ ตำบลใดในพระราชอาณาจักร ท่านให้จดทะเบียน ณ หอทะเบียนสำหรับตำบลนั้น
การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนประการหนึ่งประการใดใน ภายหลังก็ดีกับทั้งแก้ไขการอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดอันบทบัญญัติ แผนกนี้บังคับหรืออนุญาตให้จดทะเบียนก็ดี ก็ต้องจด ณ หอ ทะเบียนแห่งเดียวกันนั้น
ของใหม่
การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามที่ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท กําหนดให้จดทะเบียนให้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงประกาศกําหนด
เพิ่มมาตรา 148/1 ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ในกรณีที่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กําหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โฆษณาคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในหนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทน ตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกําหนดก็ได้
ประกาศ คสช. ข้อนี้ไม่ได้แก้กฎหมายฉบับใด แต่กล่าวถึงกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐโดยทั่วไป หากต้องการเอกสารทางราชการของประชาชน (เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาใบขับขี่ หนังสือจดทะเบียนบริษัท) เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นในการประสานงานเพื่อขอเอกสาร แทนแบบเดิมที่ประชาชนต้องเป็นฝ่ายเตรียมมาให้
ในกรณีที่กฎหมาย กฎ หรือระเบียบใดกําหนดให้ผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาต หรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้แจ้ง ต้องใช้เอกสารที่ทางราชการออกให้แก่ผู้นั้นเพื่อประกอบการพิจารณาหรือดําเนินการ ให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอํานาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตรับจดทะเบียน รับจดแจ้ง หรือรับแจ้งนั้น ที่จะต้องดําเนินการให้หน่วยงานที่ออกเอกสารราชการเช่นว่านั้นส่งข้อมูลหรือสําเนาเอกสารดังกล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือดําเนินการ
ในกรณีที่ต้องทำสำเนาเอกสาร หน่วยงานนั้นต้องเป็นฝ่ายทำสำเนา โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากประชาชน
ในกรณีที่ผู้มีอํานาจดังกล่าวประสงค์ได้สําเนาเอกสารนั้นจากผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาต หรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้แจ้ง ให้ผู้มีอํานาจนั้นเป็นผู้จัดทําสําเนาเอกสารดังกล่าวเอง เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทําสําเนาดังกล่าวจากผู้ขอรับอนุมัติ อนุญาต หรือใบอนุญาตหรือผู้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้ง หรือผู้แจ้ง
ที่มา - ราชกิจจานุเบกษา via Facebook Sak Segkhoonthod