พาเดินงาน LAUNCH Festival 2017 งานสตาร์ตอัพระดับโลก

by lew
15 April 2017 - 15:07

กระแสการเปิดบริษัทสตาร์ตอัพบ้านเราอาจจะเพิ่งได้รับความนิยมสูงๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จนมีงานประกวดในไทยอยู่เนืองๆ แต่งานในสหรัฐฯ ที่มีสตาร์ตอัพจำนวนมาก ก็มีการประกวดกันมานานแล้ว หนึ่งในงานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงคืองาน LAUNCH Festival ที่มีการแข่งขันนำเสนอธุรกิจ (pitch) กันเป็นจำนวนมาก ผู้ร่วมงานปีละนับหมื่นคน

งานนี้ทาง Digital Ventures และ IBM ก็เชิญ Blognone ไปร่วมงาน ผมจึงมีโอกาสเก็บบรรยากาศมาเล่าให้ฟังกันครับ

ตัวงานแบ่งออกเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ให้พื้นที่กับสตาร์ตอัพที่มาร่วมงาน กับเวทีการนำเสนอธุรกิจ ที่มีแยกกันสามเวที แต่ละเวทีก็จะมีช่วงเวลาเสวนาในช่วงเช้า พูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ในวงการสตาร์ตอัพ ตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ การที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ และแนวทางที่บริษัท venture capital เลือกลงทุนในบริษัทต่างๆ

ส่วนนิทรรศการ

งานนี้ IBM เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ (เวทีหลักก็เป็นเวทีไอบีเอ็ม) บูตหลักเป็นบูตไอบีเอ็มมาโชว์พลังของ Watson โดยทำแอปพลิเคชั่นตัวอย่าง เป็นแอปแนะนำเบียร์ตามลักษณะของคนดื่ม

ส่วนรอบๆ เป็นการนำเสนอของทีมที่ชนะมาจากการแข่งขัน IBM SmartCamp ทั่วโลก ตัวอย่างในภาพเป็น Pyrenee Drive จอช่วยขับรถ

การนำเสนอธุรกิจ

เนื่องจากเป็นงานใหญ่ บริษัทที่มาร่วมนำเสนอจึงมีเยอะมาก บนเวทีมีการจัดการเวลาค่อนข้างเข้มงวด โดยแต่ละทีมจะมีเวลานำเสนอ 3 นาทีพอดีเท่านั้น หากเกินไปประมาณ 10 วินาทีไมโครโฟนก็จะตัด ถัดจากนั้นเป็นช่วงเวลาถามตอบกับกรรมการอีก 4 นาทีรวมทั้งกรรมการพูดและคนเข้าแข่งขันตอบ โดยการแข่งจะแบ่งเป็นรอบๆ รอบละ 5 บริษัทแล้วให้กรรมการแต่ละชุดชุดละ 5 คนจากบริษัทลงทุนขึ้นเวทีให้คะแนน

แนวคำถามคล้ายกับการแข่งขันที่เราเห็นในบ้านเรา คำถามส่วนมากจะถามถึงการแข่งขัน, มูลค่ารวมในตลาดอนาคต, แนวทางการทำเงิน, ฐานผู้ใช้ ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วเวลาในการนำเสนอค่อนข้างสั้น พิธีกรเองจะเตือนกรรมการว่าเวลาสามนาทีไม่เพียงพอต่อการให้ข้อมูลทุกอย่างแน่นอน และตัวกรรมการเองก็จะละหัวข้อบางอย่างไป หรือบางบริษัทที่เป็นธุรกิจดำเนินการไปแล้วก็อาจจะปฏิเสธไม่ตอบคำถามบางคำถามไปเลย เพราะเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้

ช่วงประกาศผลของแต่ละรอบจะค่อนข้างเร็ว เพราะพิธีกรจะขอให้กรรมการแต่ละคนบอกบริษัทอันดับ 2 และ 3 ก่อน ทีละคน จากนั้นจึงบอกบริษัทอันดับ 1 ของแต่ละคนอีกครั้ง (บอกสองรอบให้มีลุ้นว่าใครจะได้ที่หนึ่งมากที่สุด) และคิดคะแนนจากอันดับของกรรมการแต่ละคน กรรมการไม่มีโอกาสปรึกษากันจึงจบได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ตัวอย่างการนำเสนอบางบริษัทในงาน

Topology Eyewear

บริษัทผลิตแว่นตาแบบปรับขนาดให้พอดีกับทุกคน โดยอาศัยการสร้างโมเดลใบหน้าของผู้สวมใส่จากกล้องโทรศัพท์มือถือ เมื่อสร้างโมเดลได้แล้วก็จะสามารถสร้างแว่นตาที่พอดีกับใบหน้าได้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกการออกแบบได้เอง รวมถึงปรับขนาดบางส่วนได้เองในกรณีที่ต้องการขนาดต่างจากที่แนะนำ

การสร้างแว่นตาตามสั่งเช่นนี้ต้องใช้เทคโนโลยีทั้งฝั่งไคลเอนต์ คือแอปพลิเคชั่นที่จะสร้างโมเดลสามมิติ และฝั่งการผลิตที่ต้องสามารถผลิตทีละชิ้นได้ โดยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเบต้า

Topology ได้รับคอมเมนต์จากกรรมการว่าราคาของแว่นมีราคาแพง (ประมาณ 700 ดอลลาร์ต่อชิ้น) และอาจจะต้องพยายามให้เข้าเครือข่ายบริษัทประกันเพื่อให้ได้ลูกค้าง่ายขึ้น

MegaBots

MegaBots ที่เคยระดมทุนสร้างหุ่นยนต์ต่อสู้ไปรับคำท้าจากทีมหุ่นยนต์ญี่ปุ่น ตอนนี้มานำเสนอในเวทีในฐานะธุรกิจ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเป็นทีมสร้างหุ่นยนต์ แต่ MegaBots ก็นำเสนอแผนธุรกิจในฐานะผู้จัดการแข่งขัน

บริษัทเตรียมแผนการที่จะวางตัวเป็นผู้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้ แบบเดียวกับการแข่งขันมวยปล้ำ แนวทางรายได้มีตั้งแต่รายได้จากการเข้าชมสดริมเวที, ค่าไลเซนส์นำการแข่งขันออกเผยแพร่ที่ต่างๆ, สปอนเซอร์รายการ, และการขายสินค้าที่ระลึก

อาจจะดูงงๆ สำหรับคนทั่วไป แต่กรรมการก็มองเห็นว่า MegaBots มีโอกาสทางธุรกิจที่สูงมาก หากทำสำเร็จจะกลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูงกำไรดี ทำให้ MegaBots กลายเป็นผู้ชนะในการนำเสนอ LAUNCH Festival ปีนี้ไปด้วย

AID:Tech

บริษัทให้บริการ Blockchain เพื่อการยืนยันตัวตน โดย AID:Tech จะสร้างซอฟต์แวร์ให้กับ NGO และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไม่มีเอกสารของราชการ เช่นผู้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ เมื่อหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเริ่มลงทะเบียนตรวจสอบแล้วก็จะออกหมายเลขประจำตัวให้กับผู้ประสบภัยได้ เมื่อได้หมายเลขประจำตัวแล้ว ผู้ประสบภัยจะสามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่างๆ ฟีเจอร์หนึ่งที่ระบุบนเวทีคือการบริจาคเงินตรงเข้าไปยังผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันระบบก็ตรวจสอบได้ว่าผู้ประสบภัยคนไหนได้รับเงินไปแล้วเท่าไหร่

แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือสำหรับให้ความช่วยเหลือ แต่ AID:Tech ก็เป็นธุรกิจเต็มตัว คิดค่าบริการ 1 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อผู้ใช้หนึ่งคน โอกาสในตลาดคืองบประมาณการส่งเงินช่วยเหลือที่โดยรวมแต่ละปีสูงถึง 6 ล้านล้านบาท แต่กลับมีประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่ำ ประเมินกันว่างบประมาณถึง 30% สูญเสียไปจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ

Legal Robot

การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานด้านกฎหมายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในยุคหลังๆ (1, 2, 3) ในงานนี้ก็มี Legal Robot มานำเสนอธุรกิจ โดยขายบริการวิเคราะห์เอกสารสัญญาด้วยปัญญาประดิษฐ์

Legal Robot มีความสามารถในการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของสัญญาว่านิยามต่างๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนหากมีข้อความใดผิดไปจากรูปแบบปกติและต้องระมัดระวัง โดยจะให้คะแนนความสมบูรณ์ของสัญญาไว้ด้วย จากนั้นก็มีสรุปเป็นภาษาเข้าใจง่ายๆ ว่าสัญญานี้คือเรื่องอะไร

ในแง่ธุรกิจ Legal Robot คิดค่าบริการเดือนละ 299 ดอลลาร์สำหรับการวิเคราะห์สัญญา 25 สัญญาต่อเดือน ทีมงานระบุว่าตั้งเป้าจะขายให้กับบริษัทเป็นหลักเพราะมีสัญญาต้องตรวจสอบจำนวนมาก แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทีมกฎหมายก็ยังใช้เวลาตรวจสอบสัญญากันเป็นเวลานาน การใช้ Legal Robot มาช่วยกรองสัญญาจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ปิดกระบวนการทำสัญญาได้เร็วขึ้น

กรรมการเสนอว่า Legal Robot อาจจะขยายตลาดไปยังผู้ใช้ทั่วๆ ไป เช่น การอ่านข้อตกลงการใช้งาน หรือสัญญาที่นานๆ ใช้ทีเช่นการกู้เงิน ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ก็มีควรมีแพลนเก็บเงินที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

Fotokite

โดรนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้จากความสามารถในการควบคุมที่ง่ายขึ้นมาก สื่อมวลชนเริ่มให้ความนิยมเพราะสามารถเก็บภาพในมุมแปลกใหม่ได้ แต่ Fotokite กลับสร้างโดรนมีสาย และทำงานง่ายกว่าโดรนที่ปกติแล้วมักมีระบบควบคุมซับซ้อน

Fotokite เป็นโดรนแบบมีสายที่ติดกับผู้ควบคุมตลอดเวลา ตัววงจรในโดรนออกแบบให้ดึงสายจนนิ่งทำให้ผู้ควบคุมสามารถควบคุมโดรนได้โดยง่ายแบบเดียวกับว่าว

แม้ว่าตัวโดรนจะเรียบง่าย แต่ Fotokite กลับวางตัวเองเป็นสินค้าสำหรับงานมืออาชีพเป็นหลัก เพราะเป็นโดรนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้แม้จะอยู่ท่ามกลางฝูงชน สำหรับช่องข่าวในสหรัฐฯ หลายช่องซื้อไปใช้งานกันแล้ว จากการที่มีลูกค้ากลุ่มมืออาชีพใช้งาน Fotokite ยังมีรุ่นส่งภาพและพลังงานผ่านสาย ทำให้สามารถบินได้นานต่อเนื่องนับสิบชั่วโมงและส่งภาพได้ยาวนาน ทำให้เหมาะกับการใช้ถ่ายทอดสดกีฬาได้อีกทางด้วย

เสวนาอนาคตแห่งอาหาร

ในงานยังมีช่วงเสวนาอีกหลายช่วง แต่ช่วงหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือรายการ Future of Food การใช้หุ่นยนต์กับอาหารในอนาคต ร่วมเสวนาโดย Alex Garden จาก ZUME Pizza บริษัทพิซซ่าที่ใช้หุ่นยนต์ผลิต, Henry Hu จาก Cafe X ร้านกาแฟที่ไม่มีบาริสต้า (แต่ยังมีพนักงานในร้าน), และ Deepak Sekar จาก chowbotics บริษัทขายเครื่องทำสลัดอัตโนมัติ

วงเสวนาพูดถึงการจ้างงานในอนาคตที่มีคนสหรัฐฯ ถึง 30 ล้านคนทำงานในร้านค้าปลีกและร้านอาหาร Alex Garden ระบุว่าแม้ว่าทาง ZUME จะลดการจ้างคนในห้องครัวลง แต่พนักงานส่งพิซซ่าก็ยังใช้คนอยู่ และตอนนี้ทาง ZUME สามารถจ้างด้วยค่าแรงเกือบสองเท่าตัวของค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับ Cafe X เองก็ระบุว่าตอนนี้ลูกค้ายังต้องการพบกับคนที่ให้คำแนะนำในร้านบ้าง ดังนั้นแม้ Cafe X จะทำกาแฟโดยหุ่นยนต์ทั้งหมดแต่ก็ยังมีพนักงานในร้าน 1-2 คน ทำหน้าที่แนะนำสินค้าให้ลูกค้าและทำความสะอาดหุ่นยนต์วันละสองรอบ ส่วน chowbotics นั้นต่างออกไป เพราะทุกวันนี้สลัดในสหรัฐฯ ก็มักไม่ค่อยใช้คนทำอยู่แล้ว แต่เครื่อง chowbotics จะเข้ามาแทนที่สลัดบาร์ ทำให้ผักสดกว่าสลัดบาร์เพราะอยู่ในตู้แช่ตลอดเวลาก่อนจะถึงจาน และลดความเสี่ยงการติดโรคระหว่างคน

อีกอุปสรรคของการใช้หุ่นยนต์คือการขอใบอนุญาตร้านอาหาร ZUME ระบุถึงกระบวนการขออนุญาตใช้หุ่นยนต์ที่ต้องได้รับการรับรองความปลอดภัย ทำให้ทาง ZUME ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาทำพิซซ่า แม้จะราคาสูงสักหน่อย แต่ก็คืนทุนในระยะเวลาปีกว่าๆ เท่านั้น ส่วน Cafe X ระบุว่ายังมีกฎหมายที่ค่อนข้างสับสนบางจุด เช่นร้านกาแฟอัตโนมัติอย่าง Cafe X หากจดทะเบียนเป็นเครื่องขายกาแฟอัตโนมัติ จะไม่สามารถใช้นมสดในเครื่องได้เลย ไม่ว่าจะดูแลอายุนมอย่างไร ส่วน chowbotics ระบุว่าเครื่องของบริษัทเน้นขายให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบอาหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหารบริษัทหรือร้านอาหารก็ตาม จึงไม่ต้องยุ่งกับตัวใบอนุญาตด้วยตัวเอง

เรียนรู้จาก LAUNCH Festival

ตัวผมเองเพิ่งเคยมีโอกาสไปสตาร์ตอัพขนาดใหญ่เช่นนี้ สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือสตาร์ตอัพเหล่านี้มักเป็นธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว บางรายเปิดตัวในวงจำกัด บางรายมียอดขายและกำไรอยู่ก่อนแล้ว แต่ทุกรายมีเดโมเบื้องต้นใช้งานได้จริงแล้วทั้งสิ้น

เทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มกลายเป็นธุรกิจมากขึ้นเรื่องๆ เช่น Blockchain นอกจาก AID:Tech แล้วในงานก็ยังมี Bancor ที่เปิดให้ทุกคนสร้างโทเค็นของตัวเอง ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ และอีกหมวดหนึ่งคือกัญชาที่สหรัฐฯ เริ่มปล่อยให้ประชาชนทั่วไปปลูกได้เองในหลายรัฐ

ถ้าใครมีโอกาส การไปร่วมงานแบบนี้ก็ทำให้เห็นกระแสและได้ฟังแนวคิดของผู้ก่อตั้งบริษัทจำนวนมาก นับเป็นข้อมูลที่ดีโดยเฉพาะคนที่อยากลงทุนทำสตาร์ตอัพด้วยตัวเองในอนาคต

Blognone Jobs Premium