ทดสอบ AMD Ryzen 7 รู้ทุกอย่างแบบรวบรัด ซีพียูความหวังใหม่จาก AMD

by twometre
23 April 2017 - 01:42

เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2017 AMD เปิดตัวซีพียูตระกูลใหม่ในชื่อ Ryzen (ไรเซน; แผลงจาก risen) ที่พัฒนาจากสถาปัตยกรรม Zen ต่อจากชิปตระกูล FX

AMD เข็น Ryzen ออกมาด้วยรุ่นท็อปสุดอย่าง R7 1800X, R7 1700X และไม่กี่สัปดาห์ให้หลังก็เติมด้วย R5 รุ่นรองเบอร์ต่างๆ ทั้ง R5 1400, R5 1500X, R5 1600 และ R5 1600X ราคาเริ่มต้นหกพันกว่าบาท ท่ามกลางผลทดสอบด้านประสิทธิภาพที่เคลมว่าชนะระบบคู่แข่งราคาแพงกว่าหลายเท่าในบางงาน

โอกาสนี้ Blognone ขอสรุปเรื่องราว ณ เวลานี้ของชิปที่เป็นความหวังใหม่อันน่าลุ้นจาก AMD ด้วยการสืบค้นและทดสอบเองจากเครื่องที่ได้รับมาลองระยะหนึ่ง

หน้าตาชิป Ryzen เวอร์ชั่นจำหน่ายจริง (ในรูปคือ R7 1700) ตรงมุมชิปมีการคีย์เครื่องหมายป้องกันการติดตั้งผิด ด้านหลังมีเป็นแบบพินแหว่งพื้นที่สี่เหลี่ยมตรงกลางเหมือนสมัยซ็อกเก็ต 754 (K8 ยุคแรก)

Ryzen เปิดตัวแล้วรุ่นไหนบ้าง?

ถึงตอนนี้ ในบ้านเรามีซีพียู AMD Ryzen พร้อมวางจำหน่ายแล้ว 7 รุ่น ที่สเปคความร้อน 65 ถึง 95 วัตต์ โดยที่รุ่น X จะมากับความเร็วสูงกว่าแต่ไม่มีพัดลมมาให้ ราคา ณ ที่เขียนคือตามนี้ และหลังจากนี้จะมี Ryzen 3 และซีพียูอีกหลายรุ่นที่มีจีพียูในตัว (เมนบอร์ดมีพอร์ตต่อจอรอแล้ว)

  • Ryzen 5 1400 4 คอร์ 8 เธรด เบสคล็อก 3.2GHz บูสท์คล็อก 3.4GHz ทำ XFR ได้ 3.45GHz ราคา 6,290 บาท สเปคความร้อน 65 วัตต์ (รุ่นนี้ได้แคช L3 8MB ต่างกับรุ่นอื่นทั้งหมดในนี้ ได้ 16MB)
  • Ryzen 5 1500X 4 คอร์ 8 เธรด เบสคล็อก 3.5GHz บูสท์คล็อก 3.7GHz XFR ได้ถึง 3.9GHz ราคา 7,190 บาท สเปคความร้อน 95 วัตต์
  • Ryzen 5 1600 6 คอร์ 12 เธรด เบสคล็อก 3.2GHz บูสท์คล็อกที่ 3.6GHz XFR ได้ 3.7GHz ราคา 8,190 บาท สเปคความร้อน 65 วัตต์
  • Ryzen 5 1600X 6 คอร์ 12 เธรด เบสคล็อก 3.6GHz บูสท์คล็อก 4.0GHz XFR ได้ 4.1GHz ราคา 9,490 บาท สเปคความร้อน 95 วัตต์
  • Ryzen 7 1700 8 คอร์ 16 เธรด เบสคล็อก 3.0GHz บูสท์คล็อก 3.7GHz XFR ได้ 3.8GHz ราคา 12,900 บาท สเปคความร้อน 65 วัตต์
  • Ryzen 7 1700X 8 คอร์ 16 เธรด เบสคล็อก 3.4GHz บูสท์คล็อก 3.8GHz XFR ได้ 3.9GHz ราคา 14,900 บาท สเปคความร้อน 95 วัตต์
  • Ryzen 7 1800X 8 คอร์ 16 เธรด เบสคล็อก 3.6GHz บูสท์คล็อก 4.0GHz XFR ได้ 4.1GHz ราคา 18,900 บาท สเปคความร้อน 95 วัตต์

และในแพลตฟอร์มโมบายล์ Ryzen ยืนยันว่าจะมีด้วยเช่นกัน ตามบทสัมภาษณ์ของ Digital More

กล่อง AMD Ryzen รุ่นขายจริง

Ryzen รอบนี้มีอะไรใหม่?

ชิป AMD Ryzen ออกแบบใหม่โดยใช้สถาปัตยกรรมที่ชื่อว่า “Zen” ซึ่งละทิ้งการออกแบบแนว “โมดูล” ที่แต่ละคอร์แชร์ทรัพยากรร่วมกันแบบที่ชิปรุ่นก่อนอย่าง FX-8150, FX-8350 (Bulldozer) ใช้ กลับมาออกแบบเป็นคอร์แยกกัน มีแคช L2 แยกชิ้น (AMD ว่าจ้าง Jim Keller ผู้พัฒนาชิปตระกูล K8, K9 ที่รุ่งเรืองกลับมาทำ Zen) ผลิตบนเทคโนโลยีระดับ 14 นาโนเมตรที่ GlobalFoundary ทำงานบนฟอร์มแฟคเตอร์ใหม่เป็นซ็อกเก็ต AM4


ภาพประกอบ

เมื่อมองลึกลงไปอีก แม้แต่ละคอร์จะทำงานแยกกัน แต่ Zen จะจัดเรียงคอร์เป็นกลุ่มละ 4 คอร์ที่เรียกชื่อว่า CCX (CPU Complex) ซึ่งสามารถเปิดปิดการทำงานได้ ตัดเป็นรุ่นย่อยได้หลากหลาย ยกเว้นส่วนแคช L3 ความจุ 8MB ที่ยังเหลือและใช้งานร่วมกัน โดย CCX แต่ละกลุ่มสื่อสารกันภายในด้วยระบบบัสแบนด์วิดธ์สูงแบบใหม่ชื่อ AMD Infinity Fabric แทน HyperTransport ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยชิปซ็อกเก็ต 754 หรือ 939

เพราะ CCX เป็นแบบนี้ ทำให้ Ryzen 7 ตัว 8 คอร์ เปิด CCX ได้เต็ม 4+4, Ryzen 5 ตัว 6 คอร์ ทำงานแบบ CCX 3+3 เลยได้แคช L3 16MB ส่วน Ryzen 5 ตัว 4 คอร์ เปิด CCX มาแบบ 2+2 ได้แคช L3 ที่ 8MB

รู้จัก XFR ยิ่งเย็น ยิ่งเข็นความเร็วต่อให้อีกแบบอัตโนมัติ

นอกจาก AMD Ryzen จะมีเทคนิค TurboCore ที่เพิ่มความเร็วในแต่ละช่วงเวลาเฉพาะให้กับแต่ละคอร์แล้ว ยังมากับเทคนิค XFR (eXtended Frequency Range) หากอุณหภูมิระบบเอื้ออำนวยซีพียูก็จะเร่งความเร็วขึ้นไปให้อีก 100MHz ในระยะเวลาสั้นๆ เช่นจากภาพ R7 1800X มากับความเร็วเบส 3.6GHz, บูสต์พร้อมกันทุกคอร์ที่ 3.7GHz และถ้าวิ่งคอร์เดียวจะบูสต์ได้ถึง 4.0-4.1GHz

ชิปเซ็ตที่มาคู่กัน: มีหลายระดับ เลือกให้เพียงพอความต้องการ

Ryzen มากับชิปเซ็ตของตนเองหลายรุ่น X370, B350 และ A320 ตามลำดับ ตัวท็อปสุดจะรองรับการโอเวอร์คล็อกและการใช้งานกราฟิกการ์ดหลายใบ ทั้งนี้ชิป Ryzen ทุกรุ่นไม่ล็อกตัวคูณสัญญาณนาฬิกาครับ และมีเมนบอร์ดจากผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้อแล้ว ทั้ง ASUS, Gigabyte, ASRock, MSI ฯลฯ

ด้านพอร์ต I/O ของแต่ละชิปเซ็ตก็มีจำนวนต่างกันไป และรองรับ USB3.1 Gen2 เรียบร้อยแบบไม่ง้อคอนโทรลเลอร์แยก ตลอดจนพอร์ตต่อไดรฟ์แบบ NVMe ก็แบ่งเลน PCI-Express ใช้งานได้เพียงพอ

ที่น่าสนใจคือฟอร์มแฟคเตอร์อย่าง Mini-ITX ก็มีเมนบอร์ด Ryzen กับเขาแล้วเหมือนกัน เป็นของ Biostar รุ่น X370GTN และ B350GTN โอกาสที่จะได้เห็นระบบที่แรงระดับ HEDT, Core i7 เบอร์ใหญ่ เก่งเรนเดอร์ในแบบเคสเล็กก็น่าจะฝันง่ายขึ้น

ระวังเรื่องแรม: รองรับ DDR4 แต่ความเร็วสูงสุดขึ้นกับจำนวนโมดูลและจำนวนเม็ดแรมต่อแผง

ดูเป็นเรื่องจุกจิกไปสักนิด ไม่ใช่แค่รู้ว่าซีพียู AMD Ryzen รองรับการใช้งานกับแรมแบบ DDR4 แบบ Dual-Channel เท่านั้นแล้วจบ เพราะการใส่แรม 2 หรือ 4 โมดูล โดยจำนวนเม็ดแรมบนแผงไม่เท่ากันก็จะได้ความเร็วไม่เท่ากัน คอนฟิกที่จะทำงานกับแรมความเร็วสูงสุดที่ DDR4-2666MHz ได้ คือต้องใช้แรม 2 โมดูล แต่ละโมดูลมีเม็ดแรมด้านเดียว (single rank) นอกเหนือจากนี้น่าจะต้องพึ่งพาการตั้งค่าแบบแมนนวลหรือโอเวอร์คล็อกเอา

ประสิทธิภาพ AMD Ryzen เป็นอย่างไร?

เนื่องจากทางผมได้รับเครื่อง Ryzen 1800X จากทาง AMD ประเทศไทยมาทั้งระบบ ซึ่งเป็นพีซีประกอบเสร็จแบรนด์ CyberpowerPC แต่ไม่สามารถหาระบบเทียบเคียงมาร่วมทดสอบในระยะเวลาช่วงเปิดตัว ดังนั้นเพื่อให้บทความนี้มีมรรคผลต่อการเสพอ่าน จึงขอโฟกัสไปที่การวิเคราะห์ผลทดสอบจากต่างประเทศที่ละเอียดและน่าสนใจกว่านะครับ

  • งานด้านเกม ที่กราฟิกการ์ดเบอร์เดียวกันต้องยอมรับว่า Ryzen ยังด้อยกว่า Core i5 และ i7 กลุ่ม เมนสตรีม (LGA1151) ซึ่งห่างกันหลักสิบเฟรมต่อวินาที ทว่าการโอเวอร์คล็อกก็พอช่วยได้บ้าง และบางเกมจำนวนคอร์ก็ไม่มีผล (ที่มา: TPU / TechReport / ExtremeTech)
  • งานด้านเรนเดอร์ แปลงไฟล์ ดูเหมือนว่างานด้านนี้ AMD จะ blow ในพรีเซนเทชั่นกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ด้วยวาทกรรมประมาณว่า Ryzen ตัวละหมื่นกว่าบาททำงานได้ดีกว่าหรือเกือบเทียบเท่า Core i7-6900K (Broadwell-E) กลุ่ม HEDT ที่ตัวละหลายหมื่น สเปคความร้อนก็ต่ำกว่า (95 วัตต์ปะทะ 140 วัตต์) ซึ่งผลการทดสอบหลายที่ก็ออกมาในแนวโน้มนี้ เลยดูเหมือนว่าเป็นความหวังใหม่ของคนทำงานมากกว่าเล่นเกม (ที่มา: Anandtech / Tomshardware)

ทั้งนี้ประสิทธิภาพในบางแอพอาจออกมาไม่ดีอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งตัวแอพและเกมยังไม่ optimize กับซีพียูรุ่นนี้ที่ออกมาทีหลัง ถ้าจะให้โอกาสคือต้องรอแพทช์หรือแอพเวอร์ชั่นใหม่ แนวโน้มนี้ส่งผลแล้วกับเกม Ashes of the Singularity ที่พออัพเดตแพทช์แล้ว Ryzen รีดเฟรมเรตออกมาได้ดีขึ้นกว่า 20 เฟรมต่อวินาที


Windows 10 จะเห็น Ryzen 1800X เป็น 16 เธรด

AMD Ryzen ร้อนไหม?

ที่ค่าสเปคความร้อนของ Ryzen ที่ 95 วัตต์กับความเป็นซีพียู 8 คอร์ 16 เธรด เรามีโอกาสลอง R7 1800X แปะอยู่กับฮีตซิงค์ Noctua NH-U12S บนเมนบอร์ด Gigabyte AORUS AX370-Gaming 5 ในเคส CoolerMaster ที่ด้านในมีการ์ด XFX Radeon RX 480 8GB หนึ่งใบ ในห้องนั่งเล่นอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ทดสอบด้วยการรันฟูลโหลดในแอพ AIDA64 ปรากฎว่า Idle วัดได้ช่วง 36-37 องศาฯ, Full-load วัดได้ราว 55-56 องศาฯ พัดลมเสียงไม่ค่อยดังเท่าไรนัก เมื่อวัดคร่าวๆ โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์

สรุป

ณ นาทีนี้ AMD Ryzen น่าจะเหมาะกับงานเรนเดอร์ แปลงไฟล์ มากกว่าจะนำมาเล่นเกม ไม่ใช่เล่นเกมไม่ได้แต่ถ้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในราคาใกล้เคียงกันแล้วจะรีดประสิทธิภาพกราฟิกการ์ดออกมาได้ไม่ดีเท่า ตอนนี้ก็หวังว่าสารพัดเกมและไดรเวอร์จะออกแพทช์มา optimize เกมของตนให้รีดประสิทธิภาพจากซีพียูสายพันธุ์ใหม่นี้ และเชื่อว่าเกมนี้ต้องมองกันอีกยาวอย่าเพิ่งม้วนเสื่อหมดกำลังใจ

ถ้าส่วนตัว มองว่า Ryzen R7 1700 น่าเล่นสุด เพราะด้วยสเปคความร้อนที่ 65 วัตต์ คุณจะได้ซีพียู 8 คอร์แท้ 16 เธรด ในราคาหมื่นบาทต้นๆ ที่ไม่เขินถ้าจะเอาไปทำงานเป็นหลักแล้วว่างค่อยหลบมาเล่นเกม และด้วยความตนเองหลงใหลเคสเล็ก เมนบอร์ด ITX ตามที่ระบุข้างต้นก็น่าจะจัดการซีพียู 8 คอร์ลงในเคสลูกเต๋าในราคาไม่สูงมากได้ไหว แต่ที่น่าคิดคือไม่มีจีพียูในตัว

Blognone Jobs Premium