กสทช. ยกการกำกับดูแลทีวี/หนังออนไลน์จากต่างประเทศ, ไทยยังไม่ได้ข้อสรุป จะมีความชัดเจนภายใน 4-5 เดือน

by nismod
28 April 2017 - 10:23

หลังจากช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นว่า กสทช.กำลังผลักดันหามาตรการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top) พร้อมตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแล วันนี้ทางกสทช. ได้จัดการบรรยายในประเด็นเรื่องการกำกับดูแล OTT นี้โดย พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ประธาน กสท. ย้ำว่าการบรรยายนี้ เป็นเพียงการนำเอา "งานวิจัยหรือผลการศึกษาของทีมที่ปรึกษา" มานำเสนอเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดนั้นเกี่ยวกับรูปของสื่อ รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาและโมเดลการหารายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก จากการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปดูวิดีโอออนดีมานด์รูปแบบต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น


*พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ พ.อ. ดร. นที ได้ยกตัวอย่าง 3 ประเทศที่มีการกำกับดูแลกิจการ OTT ได้แก่สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้และสิงคโปร์ โดยที่ไม่พูดถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาด OTT ที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะกฎหมายด้านนี้ของสหรัฐไม่ได้มีโมเดลเดียว แต่แตกต่างกันไปตามแต่ละมลรัฐ

สหราชอาณาจักร

  • มีหน่วยงานกำกับดูแลชื่อ Ofcom (Office of Communication) ลักษณะเดียวกับ กสทช. เป็นผู้ดูแลเรื่องการอนุญาตเนื้อหาและคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ Advertising Standard Authority ดูแลเรื่องโฆษณา
  • Ofcom กำหนดให้ผู้ให้บริการท้องถิ่นจะต้องแจ้งข้อมูลกับ Ofcom ก่อนเริ่มให้บริการในสหราชอาณาจักร
  • ผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านเนื้อหา อย่างการคุ้มครองเด็กและเยาวชน, Hate Speech, การเข้าถึงของผู้พิการ, สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ และการส่งเสริมเนื้อหาที่ผลิตในยุโรป

เกาหลีใต้

  • Korea Communication Commission (KCC) ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์, ไอซีทีและการวางแผนอนาคต (MSIP) เป็นผู้กำกับดูแล OTT โดยมีกฎหมายหลักคือ Internet Multimedia Broadcasting Business Act (2013)
  • ผู้ให้บริการการแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต จะต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก MSIP และต้องรายงานและลงทะเบียนเนื้อหาด้วย
  • คอนเทนท์บน OTT ถูกกำกับดูแลเช่นเดียวกับสื่อประเภทอื่น อาทิ ความรุนแรงและสิ่งเสพติด

สิงคโปร์

  • ผู้กำกับดูแลคือ Infocomm Media Development Authority
  • ผู้ให้บริการ OTT ทั่วไปถือว่าเข้าข่าย Internet Content Provider จะได้รับใบอนุญาตอัตโนมัติและต้องปฏิบัติตาม Internet Code of Practice
  • OTT แบบจ่ายเงินดูรายเดือน (SVoD) นับเป็น Pay TV ต้องได้รับใบอนุญาต Subscription Television Service License
  • กฎเกณฑ์บังคับใช้เหมือนกันหมดทั้งผู้ให้บริการท้องถิ่นและต่างประเทศ

ส่วนกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลของไทยนั้น ประธาน กสท. ระบุว่าคงจะแตกต่างจากของประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศเราก็มีบริบทและสภาพแวดล้อมเฉพาะตัว ขณะที่รายละเอียดยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะตอนนี้เป็นเพียง Day 1 เท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุป รูปแบบหรือความชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น และคาดว่าภายในระยะเวลาราว 4-5 เดือนเป็นอย่างเร็ว น่าจะพอมีได้รายละเอียดออกมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Blognone Jobs Premium