มุมมอง แนวทาง ความท้าทายและก้าวต่อไปของ Steam สู่การเป็นร้านค้าเพื่อเกมเมอร์ทุกคน

by trinakub
9 May 2017 - 06:54

ด้วยจำนวนเกมนับพันนับหมื่นและยูสเซอร์กว่า 125 ล้านคน แทบจะเป็นที่แน่นอนว่า Steam คือแพลตฟอร์มเกมที่ใหญ่ที่สุดบนพีซี เป็นแพลตฟอร์มที่่มีผู้คนหลากหลายแบบมาเยี่ยมใช้งานเป็นประจำ ไม่ว่าจะในฐานะผู้เล่นหรือผู้พัฒนาเกม

อย่างไรก็ตามเวลาที่ Steam มีอัปเดตอะไรบางอย่าง ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่ออะไร ด้วยเหตุนี้ Valve จึงชี้แจงและอธิบายให้ทุกคนเห็นถึงมุมมอง แนวทางและหลักการของ Steam ในภาพรวม โดยมีประเด็นดังนี้

“Steam คือร้านค้าเพื่อทุกคน”

หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายที่สุดของ Steam คือจำนวนลูกค้ามหาศาล ไม่เพียงแต่พวกเขาจะมีรสนิยมและความสนใจที่แตกต่างกัน ในบางครั้งความชอบเหล่านี้ก็อยู่คนละขั้วกันเลยด้วยซ้ำ

ร้านค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในสายตา Valve คือร้านค้าที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม โดย Valve แบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 9 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

กลุ่มผู้เล่น

  • กลุ่มผู้เล่นที่มาเยี่ยมชมคอมมิวนิตีเกมและพูดคุยโต้ตอบเป็นประจำ กับ กลุ่มผู้เล่นที่ไม่สนใจด้านนี้เลย
  • กลุ่มผู้เล่นที่มาเยี่ยมร้านค้าเพื่อชมเกมต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ กับ กลุ่มผู้เล่นที่รู้อยู่แล้วว่าต้องการซื้อเกมอะไร
  • กลุ่มผู้เล่นที่มาเยี่ยมร้านค้าเดือนละครั้ง กับ กลุ่มผู้เล่นที่มาหลายครั้งภายในวันเดียว
  • กลุ่มผู้เล่นที่ต้องการซื้อเกม AAA ตัวล่าสุด กับ กลุ่มผู้เล่นที่มาตามหาเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่
  • กลุ่มผู้เล่นที่ต้องการเล่นเกมล่วงหน้า ที่ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและอยากมีส่วนร่วมในการเติบโตของเกม
  • กลุ่มผู้เล่นที่ต้องการลักษณะพิเศษจำเพาะบางอย่าง เช่น เกมเพลย์ การรองรับเทคโนโลยี ภาษาที่รองรับ ฯลฯ

กลุ่มผู้พัฒนา

  • กลุ่มผู้พัฒนาเกม AAA ที่มีฐานแฟน ๆ ใหญ่โตอยู่แล้ว กับ กลุ่มผู้พัฒนาที่เป็นที่รู้จักน้อย แต่เกมของพวกเขาต้องเป็นที่นิยมแน่นอน ถ้ามีคนหาเจอ
  • กลุ่มผู้พัฒนาที่อยากสร้างเกมเฉพาะเจาะจงผู้เล่นบางกลุ่ม และต้องการให้ผู้เล่นเหล่านี้หาเกมของเขาเจอ
  • กลุ่มผู้พัฒนาที่อยากได้ความเห็นจากคอมมิวนิตีในระหว่างการพัฒนาเกม

Valve เชื่อว่าร้านค้าจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้แบบแฟร์ ๆ ทุกกลุ่มแล้วเท่านั้น แต่เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงทำให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร

ดังนั้น Valve จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า บางครั้งที่ Valve ไม่ได้ทำตามความต้องการของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นเป็นเพราะ Valve ลองนำความต้องการนั้นไปชั่งน้ำหนักและเปรียบเทียบกับความต้องการของกลุ่มอื่น ๆ แล้ว

ไม่ใช่แค่ผู้พัฒนาเท่านั้นทีมีความเห็นขัดแย้งกัน กลุ่มผู้เล่นเองก็ด้วย เช่น ผู้เล่นบางกลุ่มอาจชอบเล่นเกมในช่วง Early Access ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่อยากแม้แต่จะเห็นระบบนี้เลย

“พวกเราสามารถเลือกแก้ปัญหานี้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการเมินกลุ่มผู้เล่นหรือกลุ่มผู้พัฒนาบางกลุ่มไปเลย แต่มันก็มีร้านค้าที่เลือกทำแบบนี้อยู่แล้ว และการคิดหาวิธีสร้างร้านค้าที่รองรับลูกค้าได้ทุกประเภทก็ดูน่าสนใจกว่ามาก”

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน Steam พัฒนาขึ้นมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบ Discovery ที่คอยช่วยหาเกมที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับผู้เล่นมาให้, ระบบ Refund ที่ให้นำเกมมาแลกเงินคืนได้, ระบบ Curator ที่ให้กลุ่มผู้เล่นที่มีความสนใจคล้ายกัน สร้างคอมมิวนิตีขึ้นมารีวิวและแนะนำเกมให้กันเอง เป็นต้น

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ Steam พัฒนาไปมากที่สุดก็คืออัลกอริทึมที่นำเสนอเกมที่ผู้เล่นสนใจ โดยอิงจากข้อมูลในส่วนต่าง ๆ เช่น ประวัติการซื้อขาย เกมอื่น ๆ ที่คนซื้อเกมเดียวกันสนใจเป็นต้น แต่ปัญหาที่เกิดคือมันเป็นอัลกอริทึมแบบกล่องดำ และ Valve ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอัลกอริทึมทำงานได้ตามที่ Valve ต้องการหรือไม่

เพื่อให้ทำความเข้าใจกับอัลกอริทึมนี้ได้ดีขึ้น Valve จึงวางแผนที่จะปล่อยฟีเจอร์ใหม่ แสดงสาเหตุที่ระบบเลือกเกมนั้น ๆ มานำเสนอแก่ลูกค้า โดยจะแสดงอยู่ในมุมหนึ่งของหน้าร้านค้า

“ฟีเจอร์นี้จะทำให้ลูกค้าได้มองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในกล่องดำ และเข้าใจได้ว่าร้านค้ากำลังคิดอะไรอยู่ พวกเราเองก็หวังว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณ”

“การที่รู้ว่าเพื่อนของคุณชอบเกมนี้หรือไม่ ก็อาจทำให้มันชัดเจนขึ้นได้ว่าคุณจะชอบเกมนี้ด้วยหรือเปล่า กลับกันถ้าระบบนำเสนอเกมที่ไม่ต้องตาต้องใจคุณ คุณก็จะรู้ได้ว่าระบบตัดสินใจผิดพลาดไปตรงไหน และสามารถแจ้งให้พวกเรารับรู้ได้”

“หวังว่าโพสต์นี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้มากขึ้นว่าพวกเรากำลังวางแผนที่จะทำอะไรกับร้านค้า Steam กันแน่”

ที่มา – GameSpot, Steam

Blognone Jobs Premium