ปัญหามัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCrypt ที่ระบาดทั่วโลกในวันนี้ เกิดจากช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการตระกูล Windows ที่ไมโครซอฟท์อัพเดตแพตช์ไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม (MS17-010) อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่ได้อัพเดตแพตช์นี้ตามไปด้วย จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้ถูกโจมตีและสูญเสียข้อมูลได้ง่าย
ผมเชื่อว่าสมาชิก Blognone ทุกท่านคงทราบดีถึงความสำคัญของการอัพเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี แต่กระบวนการอัพเดตซอฟต์แวร์ (ในที่นี้คือ Windows Update) ที่มีความยุ่งยากและน่ารำคาญอยู่ไม่น้อย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ยอมกดอัพเดตกัน
บทความนี้จึงเป็นการแนะนำข้อมูลและเทคนิคการใช้งาน Windows Update เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อระบบอัพเดตซอฟต์แวร์ตัวนี้ และหวังว่าจะช่วยให้ผู้ใช้ขยันกดอัพเดตกันบ่อยขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม
เราเริ่มต้นกันที่พื้นฐานกันก่อน Windows Update เป็นชื่อทางการค้าของระบบอัพเดตของระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows โดยไมโครซอฟท์เริ่มใช้ชื่อนี้ครั้งแรกในสมัย Windows 95
หน้าที่ของ Windows Update คืออัพเดตระบบปฏิบัติการให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบันที่สุด ด้วยเหตุผลหลัก 4 ประการ
ในบางครั้ง การอัพเดตช่องโหว่ความปลอดภัยหรือแก้บั๊กของระบบคือการเขียนทับไฟล์ของระบบปฏิบัติการ ให้เป็นไฟล์เวอร์ชันใหม่ที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว เราจำเป็นต้องรีสตาร์ตเครื่องเพื่อให้ฮาร์ดแวร์โหลดไฟล์เวอร์ชันใหม่เข้ามาในหน่วยความจำ
ในบางครั้ง การอัพเดตย่อยบางอย่าง เช่น การอัพเดตฐานข้อมูลไวรัส-มัลแวร์ของ Windows Defender ที่ไม่ใช่ไฟล์ของระบบ ก็ไม่จำเป็นต้องรีสตาร์ตเครื่อง
ในแง่ที่ว่าเราทำงานบางอย่างค้างไว้ หรือหลายคนก็ใช้วิธีการ sleep/hibernate แทนการปิดเครื่องไปเลย การรีสตาร์ตเครื่องแล้วต้องมาไล่เปิดโปรแกรมใหม่ เปิดไฟล์งานใหม่ ก็ถือเป็นความน่ารำคาญจริงๆ นั่นล่ะ แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าเพื่อความปลอดภัยที่ดีขึ้นของข้อมูลของเราเอง ยอมรีสตาร์ตกันสักหน่อยก็คงพอไหว
ตามปกติแล้ว ไมโครซอฟท์แยกประเภทของการอัพเดตออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ การอัพเดตเพื่อเพิ่มฟีเจอร์ ซึ่งถือเป็นอัพเดตใหญ่ และการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัย/แก้บั๊ก ที่เป็นอัพเดตย่อย
ปัจจุบัน ในโลกของ Windows 10 เราจะมีการอัพเดตใหญ่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยกำหนดเป็นรอบเดือนมีนาคมและรอบเดือนกันยายน เท่ากับว่าในหนึ่งปี เราจะมีการอัพเดตใหญ่ที่กินเวลานานเป็นชั่วโมงแค่ 2 ครั้ง และการอัพเดตใหญ่แบบนี้เราสามารถเลือกเวลาติดตั้งอัพเดตได้เอง
ส่วนการอัพเดตย่อยเพื่ออุดช่องโหว่ความปลอดภัย-แก้บั๊ก ไมโครซอฟท์มีธรรมเนียมการอัพเดตเดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันอังคารที่สองของเดือน ซึ่งเรียกกันว่า Patch Tuesday ยกเว้นมีกรณีฉุกเฉินจริงๆ ไมโครซอฟท์ก็จะออกแพตช์ฉุกเฉินนอกรอบปกติให้ (เช่น WannaCrypt ในรอบนี้)
กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าเราใช้งาน Windows 10 ในกรณีทั่วไปแล้ว ในหนึ่งปีเราจะได้อัพเดตย่อยทั้งหมด 12 ครั้ง และอัพเดตใหญ่ 2 ครั้ง (รีสตาร์ตเครื่อง 14 รอบ) ซึ่งผมก็คิดว่าไม่ได้มากเกินไปจนน่ารำคาญ
ปัญหาสำคัญของผู้ใช้ในบ้านเราที่ไม่กดอัพเดต Windows คือใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันละเมิดลิขสิทธิ์ ที่กดอัพเดตแล้วจะทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้งานต่อเนื่องไป (เช่น ต้องแครกใหม่)
มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว คงต้องพูดกันตามตรงว่าราคาของ Windows มันก็ไม่ได้แพงอะไรขนาดนั้นอีกแล้ว (Windows 10 แบบ OEM ราคา 3,990 บาท) เมื่อบวกกับโลกมัลแวร์ในปัจจุบันมันเถื่อนกว่าสมัยก่อนเยอะ มีอะไรแอบยัดไส้มาตลอดเวลา (แม้แต่ซอฟต์แวร์แท้ยังถูกแฮ็กเซิร์ฟเวอร์เพื่อแอบฝังมัลแวร์) ข้อมูลของเรามีค่ามากกว่านั้นเยอะครับ ยอมกัดฟันจ่ายซื้อของแท้เพื่อแลกกับการได้อัพเดตล่าสุดเสมอ คุ้มกว่าการใช้ของเถื่อนแล้วชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงแน่นอน
เมื่อเข้าใจแนวคิดของ Windows Update แล้ว เรามาดูการทำงานและตัวเลือกต่างๆ ของ Windows Update กันครับ บทความนี้จะอ้างอิง Windows 10 Creators Update (เวอร์ชัน 1703) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบัน ตัวเลือกอาจแตกต่างไปจาก Windows 10 รุ่นย่อยก่อนๆ อยู่บ้าง
สำหรับผู้ที่ใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันที่เก่ากว่านี้ (โดยเฉพาะ Windows 7) ผมแนะนำว่าควรอัพเกรดเป็น Windows 10 กันได้แล้วเพราะมีสถาปัตยกรรมด้านความปลอดภัยที่ทันสมัยกว่ากันมาก
บทความนี้จะกล่าวถึงการใช้ Windows Update สำหรับผู้ใช้ทั่วไป (consumer) เท่านั้น สำหรับท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์ขององค์กรที่อาจอัพเดตระบบด้วยวิธีการอื่น เช่น Windows Server Update Services (WSUS), Windows Update for Business (WUfB), System Center Configuration Manager ก็จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่สามารถดูข้อมูลจากลิงก์ที่ให้ไว้
วิธีง่ายที่สุดในการมองหา Windows Update คือเข้าไปที่แอพ Settings หมวด Update & Security หรือจะกดปุ่ม Start แล้วพิมพ์คำว่า Update ก็ได้เช่นกัน
เมื่อกดเข้ามายังหน้า Windows Update แล้ว จะเห็นหน้าจอดังภาพ ซึ่งมีตัวเลือกหลายอันพอสมควร ขอไล่ไปตามลำดับ ดังนี้
ส่วนของปุ่ม Check for updates คงไม่มีอะไรมาก ขอข้ามไปนะครับ
หน้าจอนี้แสดงรายการอัพเดตในอดีตของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ซึ่งเราสามารถถอนการอัพเดต (uninstall) ได้ถ้าอัพเดตไปแล้วเกิดบั๊กหรือข้อผิดพลาดในการทำงาน
ตรงที่วงสีแดงไว้คือการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัยประจำเดือนของไมโครซอฟท์ ตามปกติแล้วไมโครซอฟท์จะแยกอัพเดตเป็น 2 ก้อนคือ Cumulative Update for Windows 10 ที่เป็นแพตช์ของไมโครซอฟท์เอง และ Security Update for Adobe Flash Player ตัวที่ใช้กับ IE/Edge ที่อัพเดตผ่านระบบของไมโครซอฟท์
ถ้าดูจากวันที่ในภาพ จะเห็นว่ารอบการอัพเดตจะเป็นช่วงวันที่สิบกว่าๆ ของแต่ละเดือน (ในที่นี้คือ 11-May และ 14-Apr) แสดงให้เห็นรอบการอัพเดตตาม Patch Tuesday นั่นเองครับ
ปัญหาสุดคลาสสิคของระบบปฏิบัติการ Windows คือนั่งทำงานอยู่ๆ แล้วระบบปฏิบัติการรีสตาร์ต และอัพเดตตัวเองเป็นเวลานาน เสียการเสียงานทุกอย่างไปหมด
ไมโครซอฟท์ถูกก่นด่าเรื่องนี้มานาน จนในที่สุดไมโครซอฟท์ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเลือก Active hours หรือการบอกให้ระบบปฏิบัติการรู้ว่า ช่วงเวลาไหนบ้างที่เรากำลังทำงานอยู่ ห้ามรีสตาร์ตโดยพลการนะ ช่วยแก้ปัญหาการรีสตาร์ตแล้วขัดจังหวะงานลงไปได้มาก
เราสามารถตั้งกรอบเวลาของ Active hours ได้นานสูงสุด 18 ชั่วโมง (เวอร์ชันก่อนหน้านี้จะน้อยกว่านี้) นั่นแปลว่าเราสามารถลากยาวๆ ตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืนได้เลย ส่วนจะให้ Windows รีสตาร์ตตัวเองตอนไหนก็แล้วแต่ช่วงสะดวกของแต่ละคนครับ
เมื่อเราตั้งค่า Active hours ไว้แล้ว เกิดการอัพเดตขึ้นพอดี ระบบก็จะขึ้นเตือนว่ามีอัพเดตนะ แต่ยังไม่รีสตาร์ตเพราะยังอยู่ในกรอบเวลาที่เราตั้งค่าไว้ (แต่เราสามารถกดรีสตาร์ตเองได้)
ตัวเลือกนี้กลับกันกับ Active hours คือเป็นการระบุเวลาตายตัวให้ Windows รู้ว่าเราต้องการให้รีสตาร์ตเครื่องตอนไหน ตัวเลือกนี้จะใช้งานได้ต่อเมื่อ Windows ดาวน์โหลดและติดตั้งอัพเดตไปแล้ว แต่รอให้เรากดรีสตาร์ตอยู่
ฟีเจอร์นี้เป็นของใหม่ใน Windows 10 Creators Update โดยเราจะเห็นหน้าจอดังภาพขึ้นมาถ้าอัพเดตแล้ว
หน้าจอนี้เป็นตัวเลือกยิบย่อยอื่นๆ ของ Windows Update โดยมีหน้าจอตามภาพ
ตัวเลือกแรก (หมายเลข 7 ในภาพ) คือบอกให้อัพเดตซอฟต์แวร์ตัวอื่นของไมโครซอฟท์ (เช่น Office) ผ่านระบบ Windows Update ไปด้วยเลย ไม่ต้องดาวน์โหลดหรือกดอัพเดตแยกเอง อันนี้แล้วแต่ชอบครับ จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้
ตัวเลือกที่สอง (หมายเลข 8 ในภาพ) ออกแบบมาแก้ปัญหาการอัพเดตใหญ่ของ Windows ที่ต้องรอบูตเครื่อง แล้วให้ผู้ใช้ล็อกอินก่อน แล้วรอตั้งค่าอีกสักพักหนึ่งก่อนเครื่องจะพร้อมใช้งานอีกครั้ง
สาเหตุที่ล็อกอินแล้วต้องรออัพเดต เป็นเพราะกระบวนการอัพเดตไม่สามารถผ่านหน้าจอยืนยันตัวตนของผู้ใช้ได้เอง (ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว) ถ้าหากเราไม่ซีเรียสเรื่องนี้และขี้เกียจรอหลายๆ ขยัก เราสามารถเลือกตัวเลือกนี้ เพื่อให้ Windows ล็อกอินบัญชีของเราโดยอัตโนมัติ และอัพเดตทุกอย่างให้เสร็จภายในรอบเดียวได้
ตัวเลือกที่สาม (หมายเลข 9 ในภาพ) คือวิธีการดาวน์โหลดไฟล์อัพเดต ซึ่งกดแล้วจะเข้าไปเจออีกหน้าจอครับ
หน้าจอนี้จะอยู่ซับซ้อนหน่อย แต่เป็นเทคนิคเล็กๆ ที่ช่วยให้การอัพเดตเร็วขึ้น ตามปกติแล้วเมื่อมีอัพเดตใหม่ คอมพิวเตอร์ของเราจะดาวน์โหลดไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์โดยตรง ซึ่งถ้าเรามีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวในบ้านก็คงไม่มีอะไร
แต่ถ้าหากเรามีคอมพิวเตอร์ที่เป็น Windows 10 มากกว่าหนึ่งเครื่อง เวลามีอัพเดตใหม่ คอมพิวเตอร์ต้องต่อออกอินเทอร์เน็ตเพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่ทุกรอบ ทั้งที่เป็นไฟล์อัพเดตตัวเดียวกัน (หรือใกล้เคียงกัน) ตัวเลือกนี้คือการอนุญาตให้ Windows สามารถดาวน์โหลดไฟล์อัพเดตจากเครื่องอื่น (ที่ดาวน์โหลดมาแล้ว) แทนการดาวน์โหลดตรงจากไมโครซอฟท์ หรือจะเรียกว่าเป็นการดาวน์โหลดแบบ P2P ก็ได้
เราต้องเป็นคนเปิดตัวเลือกนี้ (เป็น On) เอาเอง มีข้อสังเกตนิดนึงว่าเมื่อเราเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้แล้ว คอมพิวเตอร์ของเราจะทำงานทั้งดาวน์โหลดไฟล์อัพเดตจากเครื่องอื่น และส่งไฟล์อัพเดตไปให้เครื่องอื่นไปพร้อมกัน (เลือกให้ดาวน์โหลดอย่างเดียวไม่ได้)
นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ดาวน์โหลดไฟล์อัพเดตจากที่ไหน ซึ่งมีให้เลือกคือเครือข่ายภายใน (local network) หรือจะเอาจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ตด้วย (ใครที่ใช้เน็ตแบบจำกัดปริมาณ ก็ต้องระวังไว้ในการเปิดตัวเลือกนี้)
Windows Update คงไม่ใช่ระบบการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์แบบ ในโลกของ Windows 10 เราไม่สามารถปิดอัพเดตเองได้ด้วยวิธีการปกติ และไม่สามารถห้ามไม่ให้รีสตาร์ตอัตโนมัติได้ 100% (เพราะ Active hours จำกัดแค่ 18 ชั่วโมง) ทั้งหมดนี้ถือเป็นความจงใจของไมโครซอฟท์ ที่ต้องการให้พีซี Windows 10 ได้อัพเดตล่าสุดเสมอ
อย่างไรก็ตาม ใน Windows 10 Creators Update ก็ปรับปรุงกระบวนการอัพเดตให้ยืดหยุ่นขึ้น จนไม่น่ารำคาญเกินไป เราสามารถใช้ตัวเลือกตั้งเวลาอัพเดตล่วงหน้า และ Active hours กำหนดเวลาห้ามรีสตาร์ต ช่วยกันสองทางเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก
การอัพเดตซอฟต์แวร์ย่อมส่งผลให้การทำงานต้องหยุดชะงัก แต่ข้อดีของการได้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดที่ปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่เราจะถูกขโมยหรือเรียกค่าไถ่ข้อมูล ก็น่าจะคุ้มค่าแก่การยอมหยุดเซฟงาน ปิดโปรแกรมต่างๆ ที่เปิดค้างไว้อยู่แล้ว