Google Assistant แสดงให้เห็นว่ากูเกิลเป็นผู้นำในยุค AI First, แต่สงครามจริงอยู่ที่แพลตฟอร์ม

by lew
4 June 2017 - 09:02

งาน Google I/O จบลงไปด้วยการแสดงความเป็นผู้นำของกูเกิลที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างหลากหลาย มีประสิทธิภาพสูง ความแม่นยำที่เริ่มใช้งานได้เป็นธรรมชาติ ผมเองได้ลองใช้งานแพลตฟอร์มผู้ช่วยผ่านเสียงอย่าง Alexa ของ Amazon มาหลายเดือน คู่กับ Google Assistant ในโทรศัพท์มือถือ และจาก Google Home ที่กูเกิลแจกในงาน Google I/O ปีนี้ ก็พบว่าในแง่เทคโนโลยีพื้นฐานนั้นกูเกิลทำผู้ผลิตรายอื่นๆ พอสมควร จากความสามารถของ Google Assistant ที่สามารถฟังสำเนียงภาษาอังกฤษแบบไทยๆ ของผมได้ค่อนข้างแม่นยำ (จนบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษดีเกินจริง) มันสามารถคาดเดารูปประโยค, context ของเรื่องที่กำลังพูด ได้ใกล้เคียงมนุษย์อย่างน่าสนใจ

แต่ทั้งหมดนี้ทำให้กูเกิลเป็นผู้ชนะในยุคสงคราม AI First หรือไม่

ก้าวแรกของชัยชนะอยู่ที่ฐานผู้ใช้

ผมได้รับ Amazon Echo Dot ในงาน AWS re:Invent เมื่อปีที่แล้ว ที่อเมซอนเปิดแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาภายนอกสามารถเข้าไปเพิ่มความสามารถให้กับ Alexa และก่อนงาน Google I/O กูเกิลเองก็เปิด SDK ให้นักพัฒนาภายนอกก่อนงาน Google I/O ไม่นาน

ในแง่ของนักพัฒนา แพลตฟอร์มเหล่านี้เปิดในรูปแบบที่คล้ายกัน แต่ในแง่ของผู้ใช้ทั่วไปแล้ว เมื่อเหตุผลที่จะซื้อลำโพงผู้ช่วยอัจฉริยะในบ้านเหล่านี้มาใช้งานกลับต่างกัน

เมื่อผมได้รับ Amazon Echo Dot มาครั้งแรก สิ่งที่ทำให้ผมใช้งานมันเป็นประจำได้คือการฟังหนังสือจาก Audible หรือแม้แต่ใช้ระบบอ่านหนังสือจาก Kindle เองโดยตรง แนวทางการใช้งานเช่นนี้ทำให้ผมมีเหตุผลที่จะเปิดลำโพงทิ้งไว้ในห้องทุกวันได้เสมอ

กูเกิลมีจุดเด่นที่อีเมลและปฏิทินหลักของผมเป็นบริการบนกูเกิลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในการใช้งานจริงผมกลับพบว่าความอยากได้ลำโพงเพื่อการอ่านอีเมลมีจำกัด โดยเฉพาะข้อมูลในอีเมลมักเป็นภาษาไทย และในแง่ความเป็นส่วนตัว การเชื่อมต่ออีเมลเข้ากับลำโพงให้ทุกคนในบ้านใช้งานก็ดูน่ากลัวกว่าการเชื่อมต่อบริการเพลงหรือหนังสือมาก

Amazon มีบริการครบในตัวเองทั้งเพลง, และหนังสือ แต่ในตลาดเพลงก็ยังเป็นรองแอปเปิลที่มีลูกค้าบริการเพลงอยู่จำนวนมาก หากแอปเปิลออกลำโพงผู้ช่วย Siri ตามข่าวลือ ในปีนี้จริง สำหรับคนจำนวนมากก็จะมีเหตุผลให้ซื้อลำโพงเช่นนี้มาติดบ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ("สิริ เล่นเพลงบอซซ่าจาก playlist")

หากย้อนกลับไปเริ่มต้นของยุคสมาร์ตโฟน ในตอนนี้ Google Home ก็เหมือน BlackBerry ส่วนแอปเปิลก็ยังคงมีความได้เปรียบเรื่องเพลงอยู่ บริการเริ่มต้นเหล่านี้จะกลายเป็นบริการหลักที่ให้คนเลือกซื้อลำโพงผู้ช่วยเข้าบ้าน ความอ่อนแอของบริการเพลงของกูเกิลที่ไม่สามารถขยายบริการ Google Music ออกไปต่างประเทศได้จะกลายเป็นจุดเสียเปรียบสำคัญ

การควบคุมบ้าน และแอปพลิเคชั่น

แม้ว่าตลาดลำโพงผู้ช่วยเช่นนี้ยังอยู่ในวงจำกัด แต่คนจำนวนมากก็คาดกันแล้วว่าแนวทางการใช้งานในขั้นต่อไปนอกจากการรับข้อมูล (อีเมล, เตือนปฏิทิน, ฟังเพลง) น่าจะเป็นการควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน กูเกิลตระหนักถึงแนวทางการใช้งานเช่นนี้ดี การซื้อบริษัท Nest ไว้ในเครือจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น IKEA กลับเลือกแนวทางปลอดภัยด้วยการไม่ผูกตัวเองเข้ากับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่สามารถใช้งานได้กับทุกแพลตฟอร์มหลัก

แม้ว่าภาพฝันของทุกบริษัทคือทุกคนจะมีบ้านอัจฉริยะที่เชื่อมต่อโดยมีลำโพงผู้ช่วยเป็นศูนย์กลาง ทำให้เราสามารถควบคุมแสง, อุณหภูมิ, ความปลอดภัย แต่อุปกรณ์เหล่านี้มักมีรอบการเปลี่ยนที่ยาวนาน กว่าที่เราจะเห็นบ้านที่ใช้ลำโพงผู้ช่วยเป็นศูนย์กลางการควบคุมเป็นเรื่องปกติก็อาจจะใช้เวลาอีกหลายปี

แอปพลิเคชั่นอื่นๆ อาจจะเป็นตัวเสริมความต้องการใช้งานลำโพงผู้ช่วยเหล่านี้ได้มากขึ้น เช่นการเรียกรถ Uber ด้วย Alexa แม้ว่าบริการเหล่านี้จะเสริมประโยชน์ให้ลำโพงผู้ช่วยเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แต่แอปพลิเคชั่นเท่าที่มีในตอนนี้ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะเป็นตัวทำให้ใครตัดสินใจซื้อลำโพงเหล่านี้มาติดในบ้าน

ภาษา โอกาสสำหรับบริษัทท้องถิ่น

ความแตกต่างระหว่างสงครามสมาร์ตโฟนและลำโพงผู้ช่วยคือการรองรับภาษาท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก การแปลเมนูต่างๆ เป็นภาษาท้องถิ่นอาจจะทำได้ไม่ยากนักและใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่การเพิ่มภาษาที่รองรับให้กับลำโพงผู้ช่วยเหล่านี้กลับต้องการงบประมาณและระยะเวลาวิจัยอย่างหนัก

ในงาน Google I/O ที่ผ่านมากูเกิลประกาศเพิ่มภาษาที่รองรับอีก 5 ภาษาได้แก่ฝรั่งเศส, เยอรมนี, โปรตุเกส, บราซิลและญี่ปุ่น ขณะที่ภาษาสเปนและเกาหลีต้องรอถึงปลายปีนี้ ระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ หลังกูเกิลเปิดตัว Google Assistant และยังไม่รองรับภาษาท้องถิ่น ทำให้บริษัทอย่าง SK Telecom ชิงความเป็นบริษัทท้องถิ่นสร้างลำโพงผู้ช่วยที่รองรับภาษาเกาหลีมาได้ก่อน และประสบความสำเร็จพอสมควรด้วยยอดขายนับแสนชุด พร้อมกับการประกาศพันธมิตรสร้างแนวทางการใช้งานครบวงจรก่อนที่ Google Home จะบุกตลาดเกาหลี

บทเรียนจากเกาหลีเช่นนี้อาจจะเป็นตัวเร่งให้บริษัทขนาดใหญ่เร่งรองรับภาษาท้องถิ่นในตลาดรองๆ ลงมารวดเร็วขึ้น อีกทางหนึ่งบริษัทท้องถิ่นที่มีทรัพยากรมากพออาจจะมองบทเรียนแล้วลงทุนสร้างแพลตฟอร์มท้องถิ่นกันมากขึ้น

พื้นที่และโอกาส

โลกของ AI First นับเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีใครแน่ใจนักว่ามันจะมีโอกาสแค่ไหน เราอาจจะได้ลำโพงมาฟังเพลงโดยไม่ต้องกดหาเพลงด้วยมืออีกต่อไป หรือควบคุมแสงสว่างในบ้านจากศูนย์กลาง แต่โอกาสใหม่ๆ แต่เราอยากสั่งสินค้าด้วยคำพูด หรือแม้แต่การเรียกแท็กซี่จากเดิมที่เรากำหนดจุดหมายได้อย่างแม่นยำในโทรศัพท์ มาเป็นการพูดสนทนากับแอป Uber จริงหรือไม่ แม้จะมีโอกาสใหม่ๆ มากมายแต่สุดท้ายก็การปฏิวัติวงการก็อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง เหมือนวงการ Wearable ที่จำกัดอยู่ในหมู่คนรักสุขภาพหรือการใส่เพื่อความสวยงาม มากกว่าจะเป็นเครื่องมือการสื่อสารหรือการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ

สงครามที่เพิ่งเริ่มต้นก็เป็นโอกาสและความเสี่ยงไปพร้อมกัน ถ้าใครพบแนวทางการใช้งานแอปพลิเคชั่นใหม่บนโลกของ AI First ก็คงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่พอๆ กับที่ Instagram สร้างแนวทางการใช้โทรศัพท์มือถือ พื้นที่ใหม่ก็รอให้มีนักพัฒนาเสนอแนวทางกันในเร็ววันนี้ และสงครามนี้ยังคงเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น

Blognone Jobs Premium