ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเงินสกุลดิจิตอลจำนวนมากโดยเฉพาะ Bitcoin (บิตคอยน์) และ Ethereum ผมเองแม้จะเขียนบทความเรื่องเงินดิจิตอลเหล่านี้มาหลายบทความ แต่มักเขียนในจากมุมมองวิศวกรรมเป็นหลัก นับแต่การออกแบบของ Satoshi Nakamoto (ที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงเป็นใคร) สกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ผ่านการพิสูจน์ว่ามันสามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินมูลค่าสูง มีการเปลี่ยนมือวันละนับล้านบาทได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ดีความสนใจของคนในวงกว้างในช่วงหลังจากที่บิตคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บทความที่ผมเขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง (ดีแล้วนะครับ ก่อนจะเล่นอย่างน้อยก็พยายามรู้สักหน่อยว่ามันคืออะไร) ผมคิดว่าควรเตือนถึงข้อจำกัดสำหรับคนทั่วไปที่คิดจะลงทุนในบิตคอยน์สักหน่อย
1.ชื่อ "Bitcoin" ไม่มีการควบคุมจริงจัง
ตัวบิตคอยน์ต่างจากการเงินหรือธนาคารต่างๆ ที่มักมีองค์กรควบคุมอย่างจริงจังและเข้มแข็ง หากเราพิมพ์ธนบัตรเองและไปอ้างกับคนอื่นว่าเป็นเงินบาทจะมีโทษตามกฎหมาย แม้แต่ชื่อธนาคารต่างๆ หากเรานำชื่อธนาคารไปแอบอ้างก็ถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน และมักมีการตรวจตราจากธนาคารอย่างจริงจังด้วยว่ามีคนนำชื่อไปทำเสียหายหรือไม่ แต่ชื่อบิตคอยน์กลับเป็นชื่อสาธารณะ ตัว Satoshi เองระบุชื่อนี้เอาไว้ในเอกสารการออกแบบ มีคนพยายามจดเครื่องหมายการค้ากันอยู่บ้าง แต่จนตอนนี้ยังไม่มีการควบคุมหรือการฟ้องร้ององค์กรใดจากความพยายามแอบอ้างบิตคอยน์
สำหรับคนทั่วไปที่อยากลงทุนบิตคอยน์คำถามแรกคงเป็นว่า "คุณได้ซื้อบิตคอยน์จริงๆ ไหม" สำหรับคนที่เข้าใจกระบวนการทางเทคนิคการพิสูจน์ว่าซื้อ Bitcoin สำเร็จทำได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจกระบวนการดาวน์โหลดฐานข้อมูล การสร้าง Wallet ฯลฯ การตรวจสอบว่าได้ซื้อเงินสำเร็จแล้วจริงหรือไม่อาจจะยากเกินไป การลงทุนที่ถูกชักชวนอาจจะเป็นเพียงการหลอกลวง
2.การสร้างเงิน "คอยน์" ใหม่ๆ ทำได้ไม่ยาก
สิ่งที่ตามมาจากการความนิยมในสกุลเงินดิจิตอล คือการสร้างเงินคอยน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทดลองทางวิศวกรรมหรือการลงทุน สิ่งที่ต้องเตือนคือการสร้างเงินคอยน์เหล่านี้ทำได้ง่ายอย่างยิ่ง ด้วยการรันซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ไม่ซับซ้อนนัก หลายโครงการมีดัดแปลงเงื่อนไขต่างๆ กันไป เช่น การออกแบบให้รองรับธุรกรรมได้มากขึ้นหากได้รับความนิยมสูงในอนาคต หรือการสร้างสัญญาที่ซับซ้อนได้ (Ethereum)
แต่ลำพังการสร้างเงินคอยน์ใหม่ๆ สามารถสร้างได้ในเวลาอันรวดเร็วหาก การลงทุนในเงินคอยน์ใหม่ๆ จึงควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและข้อจำกัดของเงินคอยน์เหล่านั้น รวมถึงมันเป็นระบบไร้ศูนย์กลางแบบเดียวกับบิตคอยน์จริงหรือไม่ หรือทีมพัฒนามีความเชี่ยวชาญจริงหรือไม่
3.บิตคอยน์โดนขโมยแล้วเอาคืนไม่ได้
ระบบการเงินไร้ศูนย์กลางเช่นบิตคอยน์ไม่มีหน่วยงานที่สามารถออกมาแสดงความรับผิดชอบได้เหมือนกับธนาคาร ที่แม้จะมีความผิดพลาดจนเงินถูกขโมยออกไปจากบัญชีได้บางกรณี ก็ยังมีหน่วยงานรับผิดชอบ รวมถึงมีหน่วยงานรัฐคุ้มครองเงินฝาก
ทุกวันนี้โดยตัวบิตคอยน์เองยังไม่มีรายงานการขโมยเงินไป แต่บริการรอบข้างเช่นศูนย์รับแลกเงินต่างๆ ตัวแอปที่ผู้พัฒนาไม่เชี่ยวชาญเพียงพอ รวมถึงความไม่เชี่ยวชาญของผู้ถือบิตคอยน์ก็ทำให้เงินถูกขโมยไปได้เรื่อยๆ กรณีคลาสสิกคือผู้ประกาศข่าว Bloomberg เผลอแสดงโค้ด QR ที่เป็นกุญแจสำหรับบัญชีเงินออกทีวี ทำให้เงินถูกขโมยไปในทันที
4.เงินคอยน์หายไปตลอดกาลได้
ระบบเงินไร้ศูนย์กลางเช่นบิตคอยน์ไม่เหมือนกับเงินฝากในธนาคาร ที่แม้เราจะทำสมุดบัญชีสูญหายไป เราก็สามารถแจ้งความและพิสูจน์ตัวตนเพื่อนำเงินกลับออกมาได้ เนื่องจากระบบเช่นบิตคอยน์ไม่มีหน่วยงานที่มาดูแลพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของเงิน กุญแจบัญชีเงินฝากเป็นเพียงตัวเลขขนาดใหญ่ หากทำตัวเลขนี้หายไปเงินทั้งหมดก็จะหายไปตลอดกาล
รายงานบิตคอยน์ที่เคยหายไปมากที่สุดคือ 7,500 BTC มูลค่าปัจจุบันคือ 722 ล้านบาทและหากไม่สามารถหากุญแจลับกลับมาได้ก็ไม่สามารถนำเงินกลับมาได้อีกเลย
5.ค่าเงินผันผวน แต่ความยากในการขุดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
คนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้ลงทุนบิตคอยน์โดยการซื้อขาย แต่สนใจการขุดบิตคอยน์ด้วยการลงทุนคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ในแง่นี้ควรตระหนักว่าอัตราการแฮชของเงินดิจิตอลที่ได้รับความนิยมเช่นบิตคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบไม่มีช่วงเวลาที่ลดลงเลยในระยะยาว ต่างจากค่าเงินที่มีช่วงเวลาที่ซบเซาเป็นเวลานานๆ และเมื่อสกุลเงินได้รับความนิยมขึ้นมาอีกครั้ง อัตราการแฮชก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่คนอ่าน Blognone ควรตระหนัก (ถ้ายังไม่ได้ตระหนักมาก่อนหน้านี้) คือข่าวรายงานต่างๆ เกี่ยวกับบิตคอยน์ ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าบิตคอยน์กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง เมื่อมูลค่าของมันสูงขึ้นเรื่อยๆ มีธุรกรรมจำนวนมากกระทำผ่านบิตคอยน์มากขึ้นเรื่อยๆ มันคงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงของมัน และความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ในอนาคต