เดิม ความหมายของการกลั่นแกล้งกัน หรือที่เรียกว่า Bullying คือการข่มขู่ข่มเหง ทั้งใช้กำลังและใช้จิตวิทยาเพิกเฉยให้บุคคลนั้นรู้สึกไร้ตัวตน ส่วนคำใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ตอนนี้คือ Cyber Bullying หมายถึงการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ กำลังเป็นปัญหาที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลก เพราะเผยแพร่ในวงกว้างกว่า ลบเลือนยากกว่า และสร้างความอับอายแก่ผู้ถูกแกล้งได้มากกว่า ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในกลุ่มวัยรุ่นไทย ยกตัวอย่าง เช่นการตัดต่อรูปล้อเลียน การปล่อยข่าวลือผ่านกระทู้อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ดีแทคร่วมมือกับมูลนิธิ P2H (path2health) ทำช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์แก่เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์หรือ Cyber bullying ในชื่อเว็บไซต์ว่า stopbullying.lovecarestation.com ด้านแพทย์จิตเวชและวัยรุ่นเด็กชี้ เด็กไทยตกเป็นผู้ถูกรังแกและเป็นทั้งผู้รังแกคนอื่นบนโลกออนไลน์มากอย่างน่าเป็นห่วง
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรของดีแทคเผยว่า ดีแทคได้ลงนามกับยูนิเซฟว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน และปีที่แล้วก็ได้ปล่อยวิดีโอหนังสั้น Thank You for Sharing เพื่อให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบสำคัญจากการ Cyber bullying ปัจจุบันทางดีแทคได้ต่อยอดเพิ่มเติมด้วยการร่วมมือกับ มูลนิธิ P2H ที่ดูแลเรื่องเด็กและเยาวชน จัดทำช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ เปิดบริการทดลองตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนนี้ และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการ lovecarestation ของมูลนิธิ P2H ระบุว่าลักษณะการทำงานภายใต้แพลตฟอร์มนี้จะมีพี่ๆ คอยให้คำปรึกษาเยาวชนผ่านแชท ผู้ที่เข้ามาพูดคุยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยใบหน้าหรือชื่อ โดยจะให้คำปรึกษาตั้งแต่ 4 โมงเย็น - เที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก หากเด็กคนไหนแสดงอาการน่าเป็นห่วงหรืออยากฆ่าตัวตาย เจ้าหน้าที่จะรีบต่อสายไปยังคลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคอลเซนเตอร์สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
นอกจากช่องทางแชทกับเจ้าหน้าที่แล้ว ในเว็บไซต์ยังมีบทความให้ความรู้เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง และมีเว็บบอร์ดให้ตั้งกระทู้ปรึกษาปัญหาด้วย
รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.ศิริราช เผยงานวิจัยขั้นต้นเรื่อง "ความชุกและปัจจัยเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์" พบว่าเด็กไทย 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง และ 45% ถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง
เนื่องจากเป็นงานวิจัยขั้นต้น จึงสำรวจความคิดเห็นนักเรียนมา 4 โรงเรียน รวมแล้ว 1,149 คน ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมออนไลน์ที่เด็กไทยทำและเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งออนไลน์คือ
รศ.นพ. ชาญวิทย์ ยังระบุเพิ่มเติมว่าสถานการณ์การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์น่าเป็นห่วงกว่าในชีวิตจริง เพราะสามารถแพร่กระจายเนื้อหารวดเร็ว มีคนเห็นมาก คนแกล้งสามารถซ่อนตัวได้ คำแนะนำเบื้องต้นคือ ผู้ถูกกลั่นแกล้งไม่ควรคิดว่าเป็นความผิดของตนเองที่โดนกลั่นแกล้ง เก็บหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้งไว้เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ปกครองและครู Unfriend และ Block คนที่แกล้ง ส่วนผู้ปกครองและครูต้องส่งเสริมการเคารพรักตัวเองของลูกหลานด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กทำร้ายตัวเอง