เว็บไซต์รัฐสภาเผยแพร่รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ เรื่อง "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฎิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media)" แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาจากการใช้โซเชียลมีเดียที่เข้าถึงเนื้อหาไม่เหมาะสม ตั้งแต่เนื้อหาทางเพศ, การพนัน, เนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ไปจนถึงการใช้เวลาไม่สร้างสรรค์ ไม่อ่านหนังสือ และติดเกม
รายงานนี้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น กำหนดมาตรการดังนี้
- จัดระเบียบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือเพิ่มเติม บังคับเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและใบหน้าทั่วประเทศ, จัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิม, จำกัดขอบเขตการใช้โทรศัพท์มือถือเฉพาะจังหวัด หากมีการใช้ข้ามจังหวัดต้องแสดงตัวตน, เปิดศูนย์กลางบริหารข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ให้ทุกรายนำข้อมูลมารวมกันเป็นชุดเดียว, จำกัดการลงทะเบียนซิมของแต่ละคน, กำหนดช่วงเวลาลงทะเบียนใหม่, เปิดเผยข้อมูลผู้ครอบครองโทรศัพท์ (คนทั่วไปสามารถส่งหนังสือไปยังกสทช. เพื่อขอข้อมูลโทรศัพท์และหมายเลขโทรศัพท์ได้), บังคับมาตรการทางภาษีกับสื่อออนไลน์ต่างประเทศ โดยบังคับให้ผู้ให้บริการแสดงข้อมูลผู้ซื้อ, ต้องลงทะเบียนสื่อออนไลน์โดยใช้ข้อมูลราชการยืนยัน
- จัดศูนย์กลางเฝ้าระวัง ติดตามข้อความ รูปภาพ และเนื้อหาในสื่อออนไลน์ทุกประเภท หาระบบจดจำใบหน้าเพื่อติดตามบุคคล, ตรวจค้นเครื่องราวในสื่อออนไลน์ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการตลาด เช่น Zanroo หรือ SocialEnable, จัดหน่วยประชาสัมพันธ์ตอบโต้เรื่องราวอันผิดศีลธรรมอันดี, สนับสนุนงบประมาณภาคประชาชนเพื่อให้มีกิจกรรมลักษณะ "ประชารัฐ" อย่างต่อเนื่อง, จัดสรรงบประมาณสร้างเนื้อหาสาระอันมีประโยชน์
รายงานฉบับเต็มยาว 25 หน้าไม่รวมภาคผนวก อัดแน่นไปด้วยแนวคิดอันน่าตื่นตาตื่นใจ โดยรายงานฉบับนี้ผ่านที่ประชุมสปท. เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา รอการส่งครม. ต่อไป
หมายเหตุ: รายงานนี้เผยแพร่ครั้งแรกโดยระบุว่ารายงานยังไม่ได้เข้าที่ประชุมสปท. แต่เมื่อเวลา 17.30 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสปท. ผ่านรายงานฉบับนี้ไปแล้วด้วยคะแนนเสียง 144 ต่อ 1
ที่มา - edoc.paliament.go.th, The Matter