ช่วงนี้มีคนแชร์ข่าวเรื่อง "Google/Facebook ยอมจ่ายภาษีในออสเตรเลีย กว่า 2 พันล้านเหรียญ" ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดอยู่พอสมควร บวกกับกระแสความพยายามเก็บภาษีบริษัทออนไลน์ต่างชาติของบ้านเรา ทาง Blognone จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะขยายความในเรื่องนี้ครับ
อย่างแรกเลยคือข่าวการเก็บภาษีของออสเตรเลียไม่ใช่ข่าวใหม่ เพราะกฎหมายผ่านสภาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 และเพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2017 มันจึงถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง
อย่างที่สองคือ Google/Facebook ไม่ได้จู่ๆ หันมา "ยอมจ่ายภาษี" ให้กับออสเตรเลียแบบง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมันคือกฎหมายฉบับใหม่ของออสเตรเลีย ที่พยายามเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติทุกราย ไม่ใช่แค่ Google/Facebook ตามที่เป็นข่าว
กฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า Diverted Profits Tax (เรียกกันย่อๆ ว่า DPT) มันคือกฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการภาษี (Commissioner of Taxation) มีอำนาจเรียกเก็บภาษีของบริษัทข้ามชาติที่เลี่ยงการจ่ายภาษีในออสเตรเลีย โดยหันไปจ่ายภาษีในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า
The Diverted Profits Tax, announced in the 2016-17 Budget, targets multinationals that enter into arrangements to divert their Australian profits to offshore related parties in order to avoid paying Australian tax.
บริษัทที่เข้าข่ายจะต้องมีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี (คิดตามค่าเงินปัจจุบันคือ 2.6 หมื่นล้านบาท) และมีรายได้ในออสเตรเลียมากกว่า 25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (650 ล้านบาท) โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 40% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีนิติบุคคลของออสเตรเลียที่กำหนดไว้ 30%
กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงกองทุนของต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในออสเตรเลีย รวมถึงบริษัทที่มีรัฐบาลต่างชาติเป็นเจ้าของ
ตัวอย่างบริษัทที่เข้าข่ายก็คือบริษัทที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง Apple, Google, Facebook ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่าง Chevron ตัวเลขของทางการออสเตรเลียระบุว่ามีทั้งหมด 175 บริษัท
ภาพประกอบจาก Pexels
ออสเตรเลียพยายามเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติมานานแล้ว โดยมีมาตรการต่างๆ หลายอย่าง ทั้งการออกกฎหมาย และการสอบบัญชี ในส่วนของกฎหมายนั้น ออสเตรเลียมีกฎหมายอีกฉบับคือ Multinational Anti-Avoidance Law (MAAL) ใช้งานอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถครอบคลุมได้กับบริษัทข้ามชาติทุกราย จึงต้องออกกฎหมาย DPT มาเพิ่มเติม
Scott Morrison รัฐมนตรีการคลังของออสเตรเลีย ระบุว่ากฎหมาย DPT จะช่วยให้รัฐบาลออสเตรเลียเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น และลดการต่อต้านของบริษัทข้ามชาติลงไป (เช่น อ้างว่าไม่มีกฎหมายครอบคลุม) ส่งผลให้ระยะเวลาการเรียกเก็บภาษีลดลงไปได้ด้วย
ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกที่มีกฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ เพราะสหราชอาณาจักรก็มีกฎหมายชื่อ Diverted Profits Tax แบบเดียวกัน
เว็บไซต์ The Conversation ของออสเตรเลีย แสดงความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องรอดูว่าในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานเก็บภาษีของออสเตรเลียจะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้อย่างไร
กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหาบริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลทั่วโลกต้องเจอ และรัฐบาลแต่ละประเทศก็มีมาตรการที่แตกต่างกันไป ในข่าวนี้เป็นตัวอย่างของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ออกกฎหมายมาเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานเก็บภาษี พร้อมกับการใช้การเจรจากดดันให้บริษัทข้ามชาติยอมมาเสียภาษีด้วยนั่นเอง
ดังนั้นในข่าวนี้คงไม่ได้แปลว่า "Google/Facebook ยอมจ่ายภาษีให้ออสเตรเลียแล้ว" แต่เป็น "ออสเตรเลียออกกฎหมายใหม่เพื่อเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ" ซึ่งบริษัทข้ามชาติจะยอมจ่ายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะเพิ่งมีผลในปีภาษีปีนี้ (2017)
ปัญหาการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่โด่งดังเมื่อปีที่แล้วคือ คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสิน แอปเปิลเลี่ยงภาษีในไอร์แลนด์นาน 11 ปี มูลค่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งแอปเปิลก็มีปัญหานี้ในประเทศอื่นๆ เช่น นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, อิตาลี
ที่มา - กระทรวงการคลังออสเตรเลีย Australian Taxation Office, Baker McKenzie, Sydney Morning Herald, The Independent