Pure Storage เป็นบริษัทผู้ขายฮาร์ดแวร์สตอเรจองค์กรแบบ all-flash (ทั้งหมดเป็นแฟลช ไม่ใช้ฮาร์ดดิสก์) อีกรายที่มาแรงในช่วงหลัง ล่าสุด Pure Storage เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และทาง Blognone ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของ Pure Storage ในระดับเอเชียแปซิฟิกคือคุณ Micheal Alp และ Jason Nadeau
Pure Storage เพิ่งจัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี Pure//Accelerate 2017 ไปเมื่อเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ผู้บริหารนำข้อมูลจากงานใหญ่มาเล่าต่อที่ประเทศไทยได้แบบสดใหม่ไม่ทิ้งช่วงจนนานเกินไป
บริษัท Pure Storage เพิ่งก่อตั้งในปี 2009 มีอายุยังไม่ถึง 10 ปีดี แต่ขายหุ้น IPO เข้าตลาดเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าของบริษัทมีทั้งกลุ่ม private cloud, public cloud และกลุ่ม SaaS คือซื้อฮาร์ดแวร์ของ Pure Storage เพื่อไปให้บริการออนไลน์แก่ลูกค้า (ตัวอย่างลูกค้ากลุ่มนี้คือ Adobe และ SurveyMonkey)
จุดเด่นของ Pure Storage คือสตอเรจแบบแฟลชที่ประสิทธิภาพสูง ใช้ง่าย ดูแลรักษาง่าย และที่ไม่เหมือนใครคือโมเดลธุรกิจที่บริษัทเรียกว่า Evergreen หรือการจ่ายค่า subscription เป็นรายปี (เหมือนกับซื้อบริการเชิง SaaS) สำหรับการอัพเกรดซอฟต์แวร์และบำรุงรักษา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือ Pure Storage จะอัพเกรดฮาร์ดแวร์ส่วนของคอนโทรลเลอร์รุ่นใหม่ให้ฟรี ตราบเท่าที่ยังจ่ายค่า subscription
ส่วนตัวแฟลชที่ใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูล โมเดลของ Pure Storage ไม่อัพเกรดให้ฟรี แต่เราสามารถใช้แฟลชเก่าไปแลกเป็นแฟลชใหม่ได้ 25% ของความจุที่ซื้อ เช่น ต้องการความจุเพิ่มอีก 100TB ก็สามารถนำเครดิตแฟลชเก่ามาแลกคืนได้ 25TB ดังนั้นจ่ายเงินซื้อจริงแค่ 75TB เท่านั้น ลูกค้าของ Pure Storage จึงจะวนรอบเปลี่ยนโมเดลของแฟลชไปทีละส่วนจนได้แฟลชรุ่นใหม่ๆ ตลอดเวลา
Pure Storage ระบุว่าโมเดล Evergreen ออกแบบมาแก้ปัญหาฮาร์ดแวร์สตอเรจตกรุ่นทุกปี แล้วลูกค้าต้องซื้อใหม่ ข้อดีของโมเดลนี้คือลูกค้าจ่ายเท่าเดิมทุกปี การันตีได้เทคโนโลยีใหม่ที่สุดเสมอ แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่ความจุไปเรื่อยๆ ถือเป็นการลงทุนในระยะยาวที่คุ้มค่ากว่า
ส่วนข่าวใหม่ที่ Pure Storage เปิดตัวในปีนี้ คือการขยับขยายตัวเองจากการขายฮาร์ดแวร์สตอเรจ มาสู่การเป็น "แพลตฟอร์ม" การเก็บข้อมูลที่ครบวงจร
ผมถามผู้บริหารของ Pure Storage ว่าในอดีต บริษัทสร้างตัวขึ้นมาได้จากเทคโนโลยีแฟลชที่มีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง แต่ตอนนี้ สตอเรจทุกยี่ห้อมีแบบแฟลชล้วนกันหมด อะไรคือจุดเด่นของ Pure Storage ที่เหลืออยู่ คำตอบที่ได้คือภารกิจของ Pure Storage คือการสร้างสตอเรจที่มีประสิทธิภาพ โดยแฟลชเป็นแค่เทคโนโลยีหนึ่งในนั้นที่ช่วยให้บริษัททำตามวิสัยทัศน์ได้จริง (เป็นตัว enabler) แต่บริษัทก็ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะฝั่งซอฟต์แวร์ (ที่คุยว่าเหนือกว่าคู่แข่ง)
ซอฟต์แวร์ของ Pure Storage ประกอบด้วยซอฟต์แวร์หลัก Purity ที่รันอยู่ในฮาร์ดแวร์ทุกรุ่น และ Pure1 บริการสำหรับบริหารจัดการสตอเรจที่รันอยู่บนคลาวด์
ในปี 2017 บริษัทจึงประกาศวิสัยทัศน์ภาพรวมคือ Data Platform ตามภาพ
ของใหม่ของปี 2017 เน้นไปที่ฝั่งซอฟต์แวร์ที่อัพเกรดความสามารถขึ้นจากเดิม มีทั้งหมด 3 ตัวคือ
สินค้าฮาร์ดแวร์หลักของ Pure Storage ที่สร้างชื่อให้บริษัทคือแฟลชอาร์เรย์ (FlashArray) โดยมีซอฟต์แวร์ Purity คอยทำงานอยู่เบื้องหลัง ของใหม่ใน Purity for FlashArray เวอร์ชัน 5.0 มีหลายอย่าง เช่น
ActiveCluster เทคโนโลยีการซิงก์ 2 ไซต์แบบ active-active โดยไม่ต้องใช้ไซต์ที่สามเข้าช่วยเป็นตัวกลาง (mediator) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพราะโอนงานนี้ไปให้คลาวด์ Pure1 ทำแทน
Policy QoS ช่วยจัดระดับ (tier) ของโหลดตามความสำคัญ (แยกเป็น Gold, Silver, Bronze) ถ้าหากระบบมีโหลดเกิน 100% ก็จะลดการทำงานของงานระดับ Bronze ลงก่อน แล้วไล่ไปยัง Silver และ Gold ช่วยการันตีว่างานสำคัญที่สุดจะยังรันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Snap ตัวช่วยสร้าง snapshot ของไฟล์สำหรับแบ็คอัพไปยังสตอเรจประเภทอื่น และ CloudSnap ที่สร้าง snapshot แล้วส่งไปเก็บบนคลาวด์ AWS
DirectFlash Shelf เมื่อเดือนเมษายน บริษัทเปิดตัวฮาร์ดแวร์ใหม่ FlashArray//X ตัวแรงที่สุด เพราะใช้แฟลชแบบ NVMe
ของใหม่รอบนี้คือฟีเจอร์ฝั่งซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า DirectFlash Shelf สำหรับต่อขยาย FlashArray//X ให้มีความจุมากขึ้นด้วยแร็คเพิ่มเติมขนาด 3U
สินค้าอีกตัวของ Pure Storage คือ FlashBlade ที่อยู่ในรูปของเบลดเซิร์ฟเวอร์ สามารถต่อขยายแบบ scale out ได้ง่าย
รอบนี้ Pure Storage อัพเกรดซอฟต์แวร์ Purity สำหรับ FlashBlade ให้เป็นเวอร์ชัน 2.0 โดยฟีเจอร์หลักคือขยายจำนวนเบลดที่มาต่อเชื่อมเพิ่มเป็น 75 ตัว ให้ความจุรวมสูงสุด 8PB โดยยังรักษาความเร็วในการอ่าน-เขียนเท่าเดิม
ฟีเจอร์ใหม่อีกอย่างคือ Fast Object Storage ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพของการเก็บข้อมูลแบบออบเจคต์ให้ดีกว่าเดิม โดยยังรักษาความเข้ากันได้กับ Amazon S3 สำหรับลูกค้าที่ต้องย้ายข้อมูลไปมาระหว่างคลาวด์กับศูนย์ข้อมูลของตัวเอง
ซอฟต์แวร์ตัวสุดท้ายที่ Pure Storage เปิดตัว อยู่ภายใต้บริการคลาวด์ Pure1 โดยเป็นฟีเจอร์ใหม่ชื่อว่า Meta
Meta เป็นการนำเทคนิค machine learning ตามสมัยนิยม มาช่วยแก้ปัญหาประสิทธิภาพของสตอเรจให้กับลูกค้า โดย Meta จะมีข้อมูลของลูกค้า Pure Storage ทั้งโลก และสามารถดูพฤติกรรมของปัญหาคล้ายๆ กันเพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ลูกค้าคนอื่นได้แบบอัตโนมัติ และถ้าหากไม่พบปัญหาแบบเดียวกันในคลังข้อมูล ก็จะแจ้งเตือนทีมงานซัพพอร์ตของบริษัทให้เข้ามาแก้ปัญหาทันที
ทาง Pure Storage ระบุว่าตอนนี้ยังไม่มีสำนักงานในไทย แต่ก็มีทีมงานคนไทยที่ขึ้นกับสำนักงานภูมิภาค เริ่มออกหาลูกค้าในไทยแล้ว ในภาพรวมก็ต้องถือว่า Pure Storage เป็นบริษัทสตอเรจที่เน้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ต้องการประสิทธิภาพของสตอเรจสูง และยังเน้นตลาด on premise โดยมองคลาวด์เป็นส่วนต่อขยายในงานบางงานเท่านั้น
ภาพประกอบจาก Pure Storage Blog