สรุปเสวนาพินิจอินเทอร์เน็ตไทยยุค 4.0 (?): กฎหมายและการควบคุมสื่อเป็นอุปสรรคของ 4.0

by nismod
18 July 2017 - 10:29

วันนี้การประชุม Asia Pacific Regional Internet Governance Forum (APrIGF) ถูกจัดขึ้นโดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ และเมื่อช่วงเช้ามีการจัดเสวนาหัวข้อ "พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 (?)"

วิทยากรที่เข้าร่วมได้แก่ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน TDRI, คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน), ผศ.ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และคุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw

สาระสำคัญของการเสวนาครั้งนี้ วิทยากรหลายท่านได้พูดถึงองค์ประกอบและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเกิดจากฝั่งรัฐบาลเอง

เมื่อกฎหมายปิดกั้นการสร้างนวัตกรรม

ดร.สมเกียรติ ระบุว่าถึงแม้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบดิจิทัลจะน่าสนใจ แต่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญคือตัวบทกฎหมายและความพยายามในการควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ Uber, Grab ในไทยยังผิดกฎหมาย ขณะที่ GoJek สตาร์ทอัพเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างของอินโดนีเซีย ที่เคยประสบปัญหาคล้าย Uber, Grab Bike แบบบ้านเรา กลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประธานาธิบดีโจโกวี และสามารถให้บริการภายใต้กฎหมายแล้วในปัจจุบัน


GoJek

ขณะที่สตาร์ทอัพบ้านเราถึงแม้แนวทางจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ อย่างการจุดประกายให้คนไทยสร้างนวัตกรรม แต่ปัญหาคือคนไทยจะสร้างนวัตกรรมยังไง ถ้ายังติดกฎหมายอยู่เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งคือกฎหมายควบคุมโดรน ที่การขออนุญาตค่อนข้างยาก มีเงื่อนไขและข้อห้ามเยอะ ไปจนถึงกฎเกณฑ์การนำเข้าปริ๊นเตอร์ 3 มิติ ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้ที่ออกแนวห้าม ต่างๆ นานาจะเป็นตัวปิดกั้นไอเดียต่างๆ ของสตาร์ทอัพ

ดังนั้นปัญหาสตาร์ทอัพของไทยไม่ใช่ขาดการสนับสนุนไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน แต่คือไม่มีเวที ไม่มีพื้นที่ให้ได้คิด ให้ได้ลองมากเท่าที่ควร

อยากให้ต่างชาติมาลงทุน แต่รัฐกลับพยายามปิดกั้นการสื่อสาร

นอกเหนือจากสตาร์ทอัพแล้ว หนึ่งในแผนการภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 คือการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุน แต่ทว่านโยบายของรัฐกลับพยายามควบคุมและปิดกั้นการสื่อสาร (อย่างแนวคิด OTT, Single Gateway เป็นต้น) ซึ่งส่งผลให้บริษัทด้านดิจิทัลต่างชาติ กลัวที่จะมาลงทุนในไทย ไม่เว้นแม้แต่บริษัทสัญชาติเอเชีย ทีระยะหลังก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่แพ้บริษัทตะวันตก

หากมองไปที่จีนที่ปิดกั้นสื่อเหมือนกันแล้วเอามาเป็นโมเดล ความ niche ของตลาดจีนคือใหญ่และประชากรมากพอที่จะไม่ต้องง้อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งใช้ไม่ได้แน่นอนกับบ้านเรา

อย่างไรก็ตามประเด็น OTT, Single Gateway หรือความพยายามปิดกั้นสื่อของรัฐบาลอื่นๆ อย่าง พ.ร.บ. คอมชุดใหม่นี้ ทาง iLaw มองว่าเป็นเพียงการใช้จิตวิทยาของทหาร ในการขู่ให้ประชาชนกลัวเท่านั้นเอง เพราะรัฐไม่คิดจะทำจริงหรือทำไม่ได้จริง แต่ก็ส่งผลเป็นลูกโซ่กับการลงทุนของต่างชาติ

อย่างกรณีของ Single Gateway ปัญหาคือต้องออกกฎหมายเวนคืนเกตเวย์จากเอกชน ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่, กรณีของ OTT ที่ไม่มีประเด็นหรือสาระสำคัญ อีกทั้ง กสทช. เองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. โดยคุณยิ่งชีพระบุว่าได้อ่าน พ.ร.บ. ที่ระบุอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ทั้ง 23 อนุแล้วก็ไม่พบที่เข้าข่าย , หรือแม้แต่ข้อเสนอของ สปท. ที่ว่าด้วยการเก็บข้อมูลลงทะเบียนซิม ฯลฯ ก็ไม่มีอำนาจ ครั้นจะบอกว่าแนะนำ กสทช. ทาง กสทช. เองก็ไม่มีอำนาจเช่นกัน

คุณยิ่งชีพมองว่า กรณี OTT ของกสทช. และข้อเสนอของ สปท. นั้นเป็นเพียงละคร ที่ทั้งสองฝ่ายต้องการออกมามีบทบาท ก่อนจะหมดวาระ เพื่อหวังจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อ

ข้อมูลภาครัฐยังไม่เปิด ผูกขาดกับเอกชน

อีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคคือข้อมูลภาครัฐ อาทิ ข้อมูลครัวเรือนและการสำรวจทางสถิติต่างๆ ที่สามารถนำไปวิจัยหรือต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพได้ ยังไม่เป็น Public Data กล่าวคือการจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ต้องเสียเงิน บางครั้งหลักหมื่นบางครั้งหลักแสน ขณะที่รัฐกลับยกข้อมูลเหล่านี้ให้เอกชนผูกขาดอยู่เจ้าเดียว


ภาพจาก Pexel

และถึงแม้ข้อมูลบางส่วนจะมีการเปิดเผย แต่ก็เข้าถึงยาก อาทิ ข้อมูลการครองที่ดิน หรือแม้แต่อยู่ใน format ที่นำไปประมวลผลหรือใช้ต่อได้ยากอย่าง PDF เป็นต้น

อินเทอร์เน็ตประชารัฐ แก้ปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ด้วยความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลจาก กสทช. ชี้ว่าปัจจุบันประชากรมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 60% แต่ทว่าค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเมือง ยังมีช่องว่างทางโอกาสของกลุ่มคนามพื้นที่ตามชนบทและชายขอบ ซึ่งถึงแม้รัฐจะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐ แต่คำถามคือเป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่

ปัจจุบันการครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมของเอกชนมีมากถึง 98% จากการแข่งขัน ในขณะที่นโยบายเน็ตประชารัฐก็วางโครงข่ายไร้สายตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นการลงทุนซำ้ซ้อนกับเอกชน ยังไม่นับความด้อยของคุณภาพในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ปลายทาง กล่าวคือภาครัฐแค่ลากสายไฟเบอร์ไปติดไว้ที่ Access Point หมู่บ้านต่างๆ โดยไม่มีการคำนึงถึงการครอบคลุมของสัญญาณทั้งหมู่บ้าน


ภาพจาก Pixel

อยากให้ Thailand 4.0 เป็นจริง รัฐต้องเปลี่ยนนโยบาย

ด้วยปัญหาข้างต้น สิ่งที่รัฐควรจะทำเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ คือการปรับตัวของรัฐเอง ที่ผ่านมาเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามกฎของ Moore ขณะที่ภาคธุรกิจก็ปรับตัวอย่างต่อเนืองเป็นเส้นตรง แต่ถ้าหากรัฐเดินหน้าไปเดินหน้าไปด้วยข้อจำกัดข้างต้น โอกาสของ Thailand 4.0 ก็คงเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ตัวกฎหมายเองก็ต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต้องรัดกุม มีกระบวนการที่ชัดเจน (Due Process) และมีหลักนิติธรรม (Rule of Law)

Blognone Jobs Premium