รู้จักกับ Discord บริการสื่อสารระหว่างเกมเมอร์แบบครบวงจร จะคุย จะแชท จบได้ในที่เดียว

by geekjuggler
26 July 2017 - 07:35

ที่ผ่านมา เกมเมอร์มีช่องทางหลากหลายในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทั้งในขณะกำลังเล่นเกม หรือ พูดคุยสนทนาหลังเกมจบลง แต่ ณ เวลานี้ ไม่น่าจะมีแอปหรือโปรแกรมไหนที่จะมาแรงไปกว่า Discord แพล็ตฟอร์มช่องทางติดต่อพูดคุยกันระหว่างเกมเมอร์แบบครบวงจร ซึ่งทำให้คนทั้งนอกและในวงการเกมต่างต้องจับตามอง

ง่าย ครบทุกความต้องการ เข้าใจไลฟ์สไตล์เกมเมอร์

Discord คือแพล็ตฟอร์มการให้บริการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเกมเมอร์ที่สามารถทำได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแชทผ่านข้อความ พูดคุยกันด้วยเสียง หรือ ส่งไฟล์อัพโหลดถึงกัน ซึ่งสิ่งนี้คือจุดตายที่ทำให้ Discord สามารถเอาชนะเจ้าตลาดเดิมอย่าง Teamspeak หรือ Mumble ลงได้ (และกำลังจะมีฟีเจอร์คุยกันผ่านวิดีโอแชท และ การแชร์หน้าจอตามมาอีกในอนาคต)

ความง่ายในการเริ่มต้นใช้งาน คืออีกหนึ่งจุดเด่นของ Discord เพราะสามารถใช้งานได้ทั้งบนเว็บไซต์ แอปบนเดสก์ท็อป หรือ แอปในสมาร์ทโฟน เพียงแค่คลิกลิงก์ invite ที่ได้รับมา ตั้งชื่อ username ก็สามารถใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องติดตั้งแอปแต่อย่างใด

ฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอาใจเกมเมอร์ก็มาอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับ Youtube และ Twitch สำหรับสตรีมเมอร์ที่ต้องการพูดคุยกับแฟนๆ การแสดงสถานะเกมที่กำลังเล่นอยู่ในขณะนั้น และ Discord ยังทำให้เกิดการดีเลย์ในขณะเล่นเกมน้อยกว่าคู่แข่งอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ Discord เปิดให้ใช้กันได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (มีค่าบริการรายเดือน 4.99 ดอลลาร์สำหรับฟีเจอร์พิเศษที่เพิ่มขึ้น เช่น รูปอวาตาร์ขยับได้ emoji ที่ออกแบบเองได้ หรือ การอัพโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น)

จากความสามารถที่กล่าวมา จึงทำให้ Discord ได้รับสมญานามว่า “Slack สำหรับเกมเมอร์” ไปโดยปริยาย
(อ่านเรื่องราวของ Slack ได้ที่นี่

เริ่มต้นจากการสร้างเกม จบที่บริการเพื่อคนเล่นเกม

Discord เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 จากสองผู้ให้กำเนิดอย่าง Jason Citron ในตำแหน่ง CEO และ Stanislav Vishnevskiy ในตำแหน่ง CTO


2 ผู้ก่อตั้ง Stanislav Vishnevskiy (คนซ้าย) และ Jason Citron (คนขวา) ที่มาภาพ: Forbes

แรกเริ่มเดิมที Citron ทำงานสตูดิโอออกแบบเกม และสร้างเกมของตัวเองในรูปแบบคล้าย Tetris ขึ้นขายบน App Store ของ Apple แต่มันกลับทำเงินได้ไม่ดีนัก เขาจึงนำฟีเจอร์สื่อสารสังคมออนไลน์จากเกมนี้มาพัฒนาต่อยอดเป็นบริการสำหรับผู้พัฒนาเกม ก่อนจะขยายบริษัทของตัวเองและขายไปให้กับ GREE บริษัทสื่อญี่ปุ่นในราคา 104 ล้านดอลลาร์ในปี 2011

หลังจากนั้น ในปี 2012 เขาได้เปิดบริษัท Hammer & Chisel เพื่อมุ่งพัฒนาเกมแบบ Multiplayer บน iPad Citron ได้ชวน Vishnevskiy จาก GREE มาร่วมงานด้วย ซึ่งเกมดังกล่าวได้รับรางวัลด้านการออกแบบเป็นจำนวนมากแต่พบปัญหาว่ามีคนมาเล่นจำนวนไม่มากนัก Vishnevskiy จึงเชียร์ให้ Citron ลองทำในไอเดียที่เขาเคยคิดเอาไว้อย่าง แพล็ตฟอร์มการพูดคุยด้วยเสียงและข้อความสำหรับเกมเมอร์ ซึ่ง Citron ซื้อไอเดียนี้ และสุดท้าย พวกเขาตัดสินใจยุบแผนกการพัฒนาเกมทิ้ง ก่อนจะมาลุยกับสิ่งที่จะกลายมาเป็น Discord ในภายหลังอย่างเต็มตัว

เติบโตต่อเนื่อง ช่องทางหารายได้ยังเปิดกว้าง

หลังจากเปิดตัวมาแล้ว 2 ปี Discord มีผู้ใช้งานมาลงทะเบียนแล้วมากกว่า 45 ล้านคน มีการส่งข้อความถึงกันมากกว่า 200 ล้านข้อความต่อวัน และมีผู้ใช้งานในแต่ละวันกว่า 9 ล้านคน และมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคนต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นเกมเมอร์ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี (เปรียบเทียบกับ Slack ที่เมื่อผ่านไปสองปีมีผู้ใช้งานในแต่ละวันอยู่ที่ 2.3 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคนในขณะนี้)

สำหรับในด้านการเงิน Discord ได้รับเงินลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์จากจากหลากหลายกลุ่มนักลงทุนซึ่งรวมถึง Spark Capital และ Index Ventures ทั้งนี้รายได้ของ Discord นั้นไม่เป็นที่เปิดเผย แต่จากการระดมทุนครั้งล่าสุด 50 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ Discord มีมูลค่าราว 770 ล้านดอลลาร์

ส่วนการหาไรได้ของ Discord ผู้ก่อตั้งทั้งสองยืนยันที่จะไม่เก็บค่าบริการสำหรับการใช้งานแบบพื้นฐาน และ จะไม่มีโฆษณาในแอปหรือขายข้อมูลการใช้งานของลูกค้า ในขณะที่บริษัทโตขึ้นทุกขณะ รายได้จากการสมัครใช้บริการพิเศษเดือนละ 4.99 ดอลลาร์อาจจะไม่เพียงพอ แต่นักวิเคราะห์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า Discord ยังมีช่องทางหารายได้ทางอื่นอยู่อีกมาก เช่น การเป็นช่องทางการขายเกมหรือสินค้าต่างๆ รวมถึง การขายเครื่องมือและบริการสำหรับผู้พัฒนาเกมที่ต้องการผนวกฟีเจอร์การแชทของ Discord เข้าไปในเกมของตัวเอง

จากการวิจัยของ Newzoo รายงานว่า ตลาดของอุตสาหกรรมเกมซึ่งรวมทั้งเกมบน PC และ เกมมือถือน่าจะทำรายได้แตะ 94 พันล้านดอลลาร์ อาจจะกล่าวได้ว่า อนาคตของ Discord น่าจะยังคงสดใสต่อไปได้อีกนาน

ที่มา: เรียบเรียงจาก Forbes

Blognone Jobs Premium