AI ของเฟซบุ๊กไม่ได้ลุกขึ้นมาสร้างภาษาเอง และนักวิจัยไม่ได้ปิดการทำงานเพราะกลัว

by lew
31 July 2017 - 04:07

รายงานวิจัยเฟซบุ๊กกลายเป็นข่าวในบ้านเรามาอีกครั้ง แม้ตัวรายงานวิจัยถูกรายงานมาตั้งแต่หกสัปดาห์ที่แล้ว โดยข่าวมักถูกสร้างความหวือหวาด้วยการระบุว่านักวิจัยของเฟซบุ๊กต้องปิดการทำงานของแชตบ็อตเมื่อมันสร้างภาษาของมันเองขึ้นมา รายงานนี้มักถูกเขียนจากหลายแหล่งแต่มักอ้างอิงไปจากรายงานของ Fast Co. Design ที่พาดหัวว่า "AI กำลังสร้างภาษาที่มนุษย์ไม่เข้าใจ และเราควรหยุดมันหรือไม่" พาดหัวถูกแปลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น "เฟซบุ๊กหยุดการทำงานบอตหลังมันเริ่มสร้างภาษาที่เราไม่เข้าใจ" ใน GlobalNews

ย้อนกลับไปที่รายงานของเฟซบุ๊กครั้งแรก มันคือรายงานวิจัยการสร้างแชตบอตสำหรับการเจรจา โดยรายงาน "Deal or No Deal? End-to-End Learning for Negotiation Dialogues" (รายงานฉบับเต็มใน ArXiV) เป็นการฝึกบอตจากภาษาธรรมชาติ เพื่อการเจรจาแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน งานวิจัยนี้สมมติเหตุการให้ มีของอยู่จำนวนหนึ่งที่มีคนสองคนแบ่งของกัน โดยยกตัวอย่าง หนังสือ, หมวก, และลูกบอล จากนั้นมีคนสองคนที่ให้มูลค่าของสองอย่างไม่เท่ากัน เช่น คนหนึ่งอาจจะอยากได้ลูกบอลเป็นสองเท่าของหนังสือ อีกคนไม่อยากได้หมวกเลย ทั้งสองคนต้องเจรจากันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาข้อยุติได้ว่าจะแบ่งของกันอย่างไร

โมเดล AI ที่เฟซบุ๊กพยายามฝึกต้องทำสองอย่างพร้อมๆ กัน คือการจำลองการพูดภาษามนุษย์ ไปพร้อมๆ กับการเจรจาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด เฟซบุ๊กพบว่าหากพยายามฝึก AI ให้จำลองภาษามนุษย์มากๆ จะกลายเป็นผู้เจรจาที่ไม่ดีนัก จึงต้องหาทางปรับให้ AI สามารถเจรจาได้ดีขึ้นโดยที่ยังคงความสามารถในการพูดคุยให้เหมือนภาษามนุษย์ ด้วยการฝึกให้มันเจรจากับตัวเองไปพร้อมๆ กับการฝึกการพูดให้เหมือนมนุษย์

ไม่มีใครกลัวที่ AI ขึ้นมาสร้างภาษาของตัวเอง (นอกจากนักข่าวบางสำนัก) การที่ AI สร้างภาษาที่คนอ่านไม่รู้เรื่องคือความล้มเหลวของงานวิจัย และทีมวิจัยได้หาทางออกที่เหมาะสมได้สำเร็จ ไม่มีใครปิดการทำงานของบอตตัวนี้เพราะกลัว ผลสำเร็จของงานวิจัยสามารถสาธิตด้วยการทดลองกับมนุษย์และพบว่าคนส่วนมากไม่รู้ตัวว่ากำลังเจรจากับบอต ความสามารถในการเจรจาของบอตสุดท้ายกับมนุษย์ ได้ผลดีที่สุดพอๆ กับแย่ที่สุด

เฟซบุ๊กปล่อยซอร์สโค้ดของบอตตัวนี้บน GitHub ทุกคนสามารถนำไปรันเองได้ ไม่ต้องกลัวมันกลายพันธุ์ มันใช้ PyTorch ในการพัฒนาโมเดล และตัวโค้ดมาพร้อมกับชุดข้อมูลที่เฟซบุ๊กใช้ฝึก

ที่มา (อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่สำนักข่าวอื่นที่อ่านต่อมา) - Facebook Research

Blognone Jobs Premium