เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จีนเปิดตัวศาลไซเบอร์ (cyber court) ให้เริ่มดำเนินการครั้งแรกที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง (Hangzhou Court of the Internet) หลังจากที่มีประเด็นข้อพิพาทบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คดีที่ศาลนี้ให้ความสำคัญคือข้อพิพาทระหว่างพลเรือนบนโลกออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ และอีคอมเมิร์ซ
คดีแรกหลังจากเปิดศาลไซเบอร์คือการพิจารณาข้อพิพาทในคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างนักเขียนออนไลน์กับบริษัทที่ทำเว็บไซต์ การพิจารณาคดีนี้ใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น ถือเป็นการรักษาเวลาและต้นทุนต่ำ เพราะจำเลยและโจทก์ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาศาลแต่ดำเนินการผ่านวิดีโอแชท จีนเพิ่งทดลองไต่สวนคดีเช่นนี้เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน Liang Xiaojun ชี้ว่า ถ้าจะถ่ายทอดคดีนี้บนโลกออนไลน์อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไร เพราะผู้ที่เกี่ยวพันกับคดีต่างๆ อาจจะไม่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณชน
เว็บไซต์ Phys.org ระบุว่าจีนเป็นแหล่งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 731 ล้านราย และอีคอมเมิร์ซก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้จีนด้วย โดยเมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา Alibaba มีลูกค้าใช้จ่ายออนไลน์มากถึง 1.78 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์
สาเหตุที่เลือกเมืองหางโจวเป็นที่ตั้งศาลไซเบอร์แห่งแรกนั้น เนื่องจาก หางโจวนั้นถือเป็นเมืองหลวงของอีคอมเมิร์ซ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Alibaba, NetEase ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของจีน การดำเนินคดีความจะใช้สถานที่ที่เป็นแหล่งพำนักของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ศาลที่หางโจวเคยพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซมาแล้วเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2013 จาก 600 คดี เพิ่มเป็นกว่า 10,000 คดีในปี 2016
ที่มา - China Daily, BBC, Phys.org, NetCourt.Gov.Cn, The Verge, China Law Blog