อังกฤษเตรียมจัดการ hate crime บนโลกออนไลน์ เสมือนเป็นอาชญากรรมบนโลกจริง

by Porplaa
23 August 2017 - 07:11

อังกฤษเตรียมใช้วิธีจัดการอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ให้เหมือนกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความจริง

Alison Saunder อัยการสูงสุด ระบุว่า สำนักงานอัยการ (The Crown Prosecution Service: CPS) จะดำเนินคดีผู้ที่กระทำผิดกฎหมายด้วยการร้องขอให้ศาลพิจารณาโทษ สำหรับผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook ฯลฯ ในการล่วงละเมิดผู้อื่น โดยแผนการดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องขอให้สภาผ่านกฎหมายใหม่

hate crime คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? สร้างปัญหาในสังคมแค่ไหน?

CPS ให้ความหมายของ hate crime ใช้กับผู้กระทำความผิดที่มีพฤติกรรมอันเกิดจากแรงจูงใจที่มีความมุ่งร้าย / มีความเป็นศัตรู (hostility) ต่อเหยื่อที่เป็นคนพิการ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ หรือสิ่งที่เรียกเป็นว่าอัตลักษณ์ของบุคคล โดยการปกป้องผู้คนจาก hate crime หรืออาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังนี้ รวมถึงการปกป้องจากการที่เหยื่อถูกใช้ถ้อยคำในการล่วงละเมิด การข่มขู่ การก่อกวน การรังควาน การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มเหงรังแก (bullying) การทำให้สูญเสียทรัพย์


ภาพจาก CPS Hate Crime Matters campaign

ผู้ที่กระทำผิดนี้อาจจะเป็นได้ทั้งเพื่อน เป็นผู้ดูแล เป็นคนคุ้นเคย หรือเป็นผู้ที่หาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีต่อเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเงินหรือเป้าประสงค์อื่น ตอนนี้ยังไม่มีการให้คำนิยามสำหรับ hostility (การมุ่งร้าย การเป็นปรปักษ์ หรือเป็นศัตรูกัน) ในทางกฎหมาย แต่สามารถทำความเข้าใจได้จากถ้อยคำเหล่านี้ เช่น ความรู้สึกไม่เป็นมิตร เจตนาร้าย การหมิ่นประมาท การอคติ ความไม่พอใจ-ความขุ่นเคือง และความไม่ชอบ ไม่ยอมรับ

Alison Saunder อัยการสูงสุด

CPS พูดถึงการช่วยเหลือเหยื่อจาก hate crime ว่า ส่วนใหญ่คดีเหล่านี้ทั้งเหยื่อและจำเลยมักจะไม่ต้องไปขึ้นศาล เพราะจำเลยจะไม่สู้คดีหรือยอมรับผิด แต่ถ้าต้องการไปศาลจริงก็สามารถให้หลักฐานได้ CPS จะสอบถามทั้งเหยื่อและจำเลยว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สำหรับมาตรการพิเศษในการให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายนี้ CPS จะทำเรื่องขอไปยังศาล ให้ศาลเป็นฝ่ายตัดสินใจลำดับสุดท้ายว่าจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือหรือไม่

มาตรการพิเศษสำหรับการดำเนินคดีเหล่านี้ เช่น การขอให้มีม่านในห้องพิจารณาคดีเพื่อที่พยานจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับจำเลย หรือพยานสามารถถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอได้เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าห้องพิจารณาคดี หรือสามารถแยกห้องได้ หรือจะถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอจากภายนอกอาคารของศาลได้ เป็นต้น CPS มองว่ากลุ่มคนพิการมักจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด จึงได้ทำคู่มือเพื่อให้ความช่วยเหลือพวกเขา หลังจากที่อาชญากรรมบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นมากทุกวัน ก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษก็เคยจัดตั้งหน่วยสืบสวนอาชญากรรมสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์มาแล้ว

หากประเมินจากตัวเลขของ hate crime ที่เกิดขึ้น CPS พบว่าแค่ไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20% ศาลตัดสินลงโทษระหว่างปี 2016-2017 มากถึง 83.4% ขณะที่ปี 2015-2016 นั้น มีคดีที่เกิดจาก hate crime สูงมากถึง 15,442 คดี

ขณะเดียวกัน FBI ก็ให้ความสำคัญกับ hate crime เช่นกัน โดยถือว่าเป็นกรณีที่มีความสำคัญสูงสุดของโครงการสิทธิพลเรือนของ FBI (FBI’s Civil Rights) เนื่องจากสร้างผลกระทบสูงมากและถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะให้เกิดการก่อการร้ายในประเทศด้วย FBI เชื่อว่า hate crime เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยซ้ำ ซึ่ง FBI ได้เก็บสถิติค่อนข้างละเอียดมาก สามารถดูรายละเอียดแบบเข้าใจง่ายได้จากกราฟในลิงก์นี้


ภาพจาก CPS Hate Crime Matters campaign

FBI ได้จำแนกอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ไว้ตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปัจจุบัน

  • ถ้าแบ่งแยกตามสีผิว คือต้านคนผิวดำมากที่สุด รองลงมาคือผิวขาว ตามด้วยผิวเหลือง ฯลฯ
  • หากจัดลำดับจากการเกลียดชังทางเพศ เริ่มจากต้านเกย์ ต้านโฮโมเซ็กชวล ต้านเลสเบียน ต้านฮีทีโรเซกชวล (heterosexual: คนที่รักหรือมีความชอบหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อเพศตรงข้าม) และไบเซ็กชวล
  • ขณะที่ Southern Poverty Law Center ได้จัดระดับสถิติของเหยื่อที่เกิดจาก hate crime ในสหรัฐอเมริกา เริ่มจากเหยื่อที่เป็นเรื่องเพศสภาพ LGBT เป็นลำดับแรก ตามด้วยต้านยิว ต้านคนผิวสี ต้านมุสลิม ต้านละติน และต้านคนผิวขาว

ที่มา - Techcrunch, The Crown Prosecution Service1, 2, 3, CNN, FBI 1, 2, 3, The Guardian

Blognone Jobs Premium