มีอะไรอยู่ใน PromptPay QR แกะสเปค QR ที่จะใช้จ่ายผ่าน mobile banking ได้ทุกธนาคารในอนาคต

by lew
30 August 2017 - 20:08

เมื่อวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัว PromptPay QR แต่การใช้งานก็ยังจำกัดบางพื้นที่โดยต้องใช้แอปพลิเคชั่นของธนาคารในการสร้างตัว QR อย่างไรก็ดี PromptPay QR นี้เป็นมาตรฐานเปิดของ EMVco ที่เปิดให้อ่านฟรีโดยไม่ต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เอกสารฉบับนี้คือ "EMVCo QR Code Specification for Payment Systems: Merchant-Presented Mode" หรือสเปคสำหรับการสร้าง QR จากฝั่งผู้ขายเพื่อขอรับเงินจากผู้รับ

ตอนนี้เราจะมาดูกันว่าข้อมูลใน QR นี้มีข้อมูลอะไรบ้าง อย่างไรก็ดีบทความนี้ข้ามข้อมูลที่ยังไม่สามารถหาได้ จากการดู QR ที่เปิดเผยออกมา

หากเราสแกน QR ที่ใช้จ่ายเงินตอนนี้ด้วยแอปพลิเคชั่นสแกน QR โดยเฉพาะ ไม่ใช่แอปของธนาคาร จะเห็นตัวเลขและข้อความยาวๆ เป็นชุดเดียว เช่นตัวอย่าง "00020101021129370016A000000677010111011300660000000005802TH530376463048956" (ตัวอย่างนี้ใช้ข้อมูลหลอก ด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 000-000-0000)

แนวทางการอ่านข้อมูลของมาตรฐาน EMVco คือ หมายเลขประจำฟิลด์ข้อมูล (เป็น 00-99), ความยาวของข้อมูลในฟิลด์นั้น (เป็น 01-99), และตัวข้อมูลจริงๆ การอ่านข้อมูลตัวอย่างจะทำเป็นขั้นได้ดังนี้

  • หมายเลขเวอร์ชั่น ฟิลด์ 00 ความยาว 02 ข้อมูลตอนนี้คือ 01 เสมอ ดังนั้นข้อมูลชุดแรกคือ "000201"
  • ประเภทของ QR ฟิลด์ 01 ความยาว 02 ข้อมูล "11" แปลว่า QR นี้สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการขายหลายครั้ง เช่นระบุผู้ขาย หรือระบุราคาสินค้า ถ้าเป็น 12 คือ QR สร้างขึ้นเพื่อใช้ครั้งเดียว เช่น เป็นการจ่ายสำหรับใบเสร็จใบเดียว
  • ข้อมูลผู้ขาย (merchant account information) ฟิลด์ 29 ความยาว 37 ข้อมูล "0016A00000067701011101130066000000000" โดยข้อมูลนี้แบ่งออกเป็นสองฟิลด์ย่อย
    • หมายเลขแอปพลิเคชั่น (application ID - AID) เป็นหมายเลขที่ปกติแล้วใช้อ้างอิงประเภทบัตรสมาร์ตการ์ดแบบต่างๆ ตั้งแต่บัตรประชาชนไปจนถึงบัตรเครดิตทั้งหลาย ในกรณีนี้มีการนำหมายเลขนี้มาใช้ใน QR เพื่อระบุว่า QR นี้เป็น PromptPay หมายเลขฟิลด์ย่อย 00 ความยาว 16 ข้อมูล "A000000677010111"
    • หมายเลขบัญชี เป็นหมายเลข PromptPay โดยตรง ตอนนี้มีหมายเลขฟิลด์ เช่น
    • 01 หมายเลขโทรศัพท์ ความยาว 13 นำหน้าด้วย 00 แล้วตามด้วยรหัสประเทศ 66 แล้วจึงเป็นหมายเลขโทรศัพท์ตัดศูนย์นำหน้าออก 00-000-0000
    • 02 หมายเลขบัตรประชาชนไม่มีขีดคั่น
  • ประเทศ ฟิลด์ 58 ความยาว 02 ข้อมูล "TH" หมายถึงประเทศไทย
  • สกุลเงินที่ใช้งาน ฟิลด์ 53 ความยาว 03 ข้อมูล "764" โดยหมายเลข 764 เป็นหมายเลขประจำค่าเงินบาทตาม ISO 4217
  • ค่า check sum ฟิลด์ 63 ความยาว 04 ข้อมูล "8956" ข้อมูลนี้ต้องอยู่ท้ายสุดเสมอ โดยค่า check sum เป็นการคำนวณจากข้อมูลทั้งหมด รวมถึงหมายเลขฟิลด์ของ check sum และความยาวของฟิลด์ check sum เอง กระบวนการหาค่า check sum ใช้ CRC-16 และ ค่าคงที่ polynomial 0x1021 (XMODEM) พร้อมกับค่าเริ่มต้น 0xFFFF (อันนี้ต้องระวังเพราะไลบรารีส่วนมากมักใส่ค่าเริ่มต้นเป็น 0x0000) ตัวไลบรารีสามารถใช้ pycrc16 ได้โดยตรง

ตัวอย่างการหาค่า check sum ด้วย crc16pure.py เช่น

In [7]: hex(crc16pure.crc16xmodem("00020101021129370016A000000677010111011300660000000005802TH53037646304",0xffff))
Out[7]: '0x8956'

สังเกตว่าหมายเลขฟิลด์กระโดดจาก 01 ซึ่งเป็นฟิลด์บังคับ ไปยัง 29 ทันที เพราะหมายเลข 02-25 นั้นสงวนไว้สำหรับผู้ให้บริการบัตรเครดิตโดยเฉพาะ เช่น 02-03 สำหรับ VISA, 04-05 สำหรับ Mastercard, 06-08, 11-12 สำหรับ Amex, 13-14 สำหรับ JCB, และ 15-16 สำหรับ UnionPay ที่เหลือทาง EMVco ก็ให้เว้นไว้สำหรับการใช้งานในอนาคต

เราได้ข้อมูลหลายอย่างจากการดูว่ามีข้อมูลอยู่ใน QR เช่น

  • ตัว QR ยังคงแสดงข้อมูลหมายเลข PromptPay เช่นเดิม ซึ่งอาจจะหมายถึงหมายเลขโทรศัพท์หรือหมายเลขบัตรประชาชน หากใครมีความไม่สะดวกใจที่จะให้หมายเลขทั้งสองกับผู้ซื้อก็อาจจะต้องระวัง
  • QR เหล่านี้ไม่มีกระบวนการยืนยันว่าสร้างโดยใคร ที่จริงแล้วตอนนี้ทาง Digio ก็เปิดเว็บสร้าง QR PromptPay แล้ว เท่าที่ทดสอบสามารถใช้ได้กับ PromptPay ทุกธนาคาร ความเสี่ยงมีอยู่บ้างคือธนาคารเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการสร้าง QR ไปแปะทับเพื่อขโมยเงินกันหรือไม่ ดังนั้นการจ่ายเงินควรตรวจสอบชื่อบัญชีของผู้รับเสมอว่าตรงกับคนที่เราต้องการจ่ายไป
  • มีความเป็นไปได้ที่จะสร้าง QR เหล่านี้โดยอัตโนมัติ ในเร็วๆ นี้เราคงได้เห็นไลบรารีโอเพนซอร์ส หรือบริการต่างๆ เพื่อสร้าง QR ทั้งระบุและไม่ระบุจำนวนเงิน ความเป็นไปได้อื่นๆ ของบริการนี้คงมีอีกมาก เช่นร้านค้าออนไลน์อาจจะเริ่มรับเงินผ่าน PromptPay กันมากขึ้นเพราะสามารถส่ง QR ระบุจำนวนเงินไปในแชตหรือเว็บอีคอมเมิร์ชได้โดยตรง

ข้อมูลเปิดเผย: Digio เป็นผู้ลงประกาศหางานบน Blognone แบบเด่นพิเศษ แต่บทความนี้เขียนโดยไม่ได้มีการติดต่อกันมาก่อน (ผมพบโพสประกาศหลังเริ่มเขียนบทความไปแล้ว) อย่างไรก็ดี QR ตัวอย่างสร้างโดยเว็บของ Digio เพื่อปิดบัง QR จริงที่ผมใช้แกะข้อมูล

Blognone Jobs Premium