สรุปการประชุม Huawei Connect 2017 วันที่ 2: ตัวอย่างใช้งานจริง เครื่องมือใหม่บน Huawei Cloud

by nrad6949
8 September 2017 - 07:57

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาในการประชุม Huawei Connect 2017 วันที่ 2 มีการพูดถึงกรณีตัวอย่างในการใช้งานจริงที่ใช้โซลูชั่นของบริษัท รวมถึงบริการและสินค้าใหม่ๆ ที่บริษัทได้เปิดตัวในงานนี้ด้วย

หมายเหตุ ผมเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยคำเชิญของทาง Huawei ครับ

เวทีเริ่มต้นด้วย David Wang ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของ Huawei กล่าวถึงผลการใช้งาน (implementation) โซลูชั่นและบริการของ Huawei ใน 4 ตลาดสำคัญ เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมจำหน่ายสินค้า (retail) ที่ Huawei มองว่ายังคงมีความจำเป็น โดยจะมีทั้งโซลูชั่นการซื้อขายของผ่าน AR/VR, การใช้ IoT เข้ามาช่วยในเรื่องของการดำเนินการ, การแนะนำสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อผ่านการใช้ Analytics โดยยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยี Wi-Fi

โอกาสนี้บริษัทแถลงเปิดตัว X-Gen Wi-Fi ซึ่งเป็นโซลูชั่นใหม่ บริษัทระบุว่าได้ความเร็วเพิ่มขึ้น 3 เท่า (สูงสุด 9.6 Gbps), รองรับผู้ใช้ได้มากขึ้น 4 เท่า (เป็น 400 คน ต่อ 1 AP), และลดค่าใช้จ่ายลง 50% ทำให้รองรับประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างเช่น VR/AR ในอนาคต

จากนั้นจึงข้ามมายังตลาดภาคการศึกษา ด้วยโซลูชั่น CloudCampus ที่นำเอาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ Agile Controller ที่มาควบคุมระบบ SDN ขององค์กรเข้ามาใช้งานเป็นแกนหลัก

กรณีศึกษามาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการเปลี่ยนระบบเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยโดยใช้เทคโนโลยีจากทางบริษัท ซึ่งมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันขึ้นกล่าว

ดร.สุชัชวีร์ เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นถึงนโยบายหลักของรัฐบาลว่าด้วยเรื่อง Thailand 4.0 จากนั้นจึงเริ่มพูดถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะฐานของเศรษฐกิจสมัยใหม่ และพูดถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยทาง สจล. ใช้เทคโนโลยีของ Huawei เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานาน ทำให้เปลี่ยนผ่านระบบเครือข่ายทั้งหมดได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ระบบเครือข่ายแกนหลัก (core network) ทำความเร็วได้สูงสุด 100 Gbps, SDN ทั้งเครือข่ายและศูนย์ข้อมูลที่แรกของไทย, ระบบศูนย์ข้อมูลใน container, สร้าง Wi-Fi ครอบคลุมมหาวิทยาลัย และร่วมมือกับทาง Huawei ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ทั้งหมดทำให้การเรียนการสอนดีขึ้น และเป็นการวางรากฐานในอนาคตให้กับมหาวิทยาลัย

จากนั้นจึงเป็นกลุ่มของ EC-IoT (Edge Computing IoT) ที่ Huawei เป็นหนึ่งในสมาชิกของ Edge Computing Consortium และร่วมมือกับ Schindler Group ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Schindler Ahead อันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับจัดการอุปกรณ์สาย IoT ไม่ว่าจะเป็นลิฟท์หรือบันไดเลื่อนต่างๆ

ปิดท้ายในช่วงแรกด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบ eLTE ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่ง Huawei ร่วมมือกับ ABB ในการเป็นพันธมิตรและพัฒนาโซลูชั่นร่วมกัน ก่อนจะเปิดตัว SD-WAN (Software Defined WAN) สำหรับใช้งานในองค์กร

จากนั้นเป็นคิวของ Joy Huang รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ไอทีของบริษัท โดยกล่าวถึงบริการและคุณสมบัติใหม่ๆ ของ Huawei Cloud ในปัจจุบัน จากนั้นจึงแถลงเปิดตัว Atlas แพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์สำหรับคลาวด์โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัททำงานร่วมกับ Nvidia ในการปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ของใหม่อีกอันคือ App Builder บริการสร้างแอพบน Huawei Cloud ที่ใช้งานได้ง่าย เพียงแค่ลากแล้วปรับแต่งให้เชื่อมกันก็สามารถรันได้ทันที

ในช่วงถามตอบ ผมมีโอกาสสอบถามว่าความร่วมมือระหว่าง Huawei กับทาง สจล. จะเป็นอย่างไรบ้าง ดร.สุชัชวีร์ อธิบายว่านี่เป็นแค่เริ่มต้น ตนนี้กำลังจะสร้างสถาบัน (academy) ร่วมกัน เพื่อผลิตและสร้างเทคโนโลยีร่วมกันในอนาคตครับ

Blognone Jobs Premium