EFF ประกาศลาออกจาก W3C หลังไม่สามารถหาจุดร่วมในมาตรฐาน DRM

by lew
19 September 2017 - 08:35

มาตรฐาน Encrypted Media Extensions (EME) หรือมาตรฐาน DRM บนเว็บ เป็นมาตรฐานที่สร้างความขัดแย้งในชุมชนมาตรฐานเว็บตั้งแต่มันออกร่างแรกมา ความพยายามต่อต่านจากชุมชนโดยเฉพาะองค์กรโอเพนซอร์สอย่าง Free Software Foundation ก็ยังไม่เป็นผลนัก โดยฝั่งผู้ผลิตเบราว์เซอร์อย่างไมโครซอฟท์และกูเกิลเห็นด้วยกับมาตรฐานนี้ ทาง EFF ซึ่งต่อสู้เพื่อเสรีภาพอินเทอร์เน็ตเสนอแนวทางคือให้สมาชิกทำข้อตกลงเพิ่มเติม ในการมอบสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาให้กับชุมชน จากเดิมที่มอบให้สามารถอิมพลีเมนต์มาตรฐานได้อย่างเสรี ให้เพิ่มข้อตกลงว่าสมาชิกจะไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายคุ้มครอง DRM เช่น DMCA หรือ EUCD

ปัญหาของกฎหมายเหล่านี้คือการคุ้มครองตัวเทคโนโลยี ทำให้การย้อนรอยหรือหาช่องโหว่ของเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยฝั่งผู้ถือลิขสิทธิ์ระบุว่าจำเป็นเพราะต้องป้องกันความพยายามย้อนรอยเทคโนโลยีเพื่อละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ผลกระทบต่อกฎหมายเหล่านี้กลายเป็นนักวิจัยด้านความปลอดภัยที่ศึกษาระบบเหล่านี้ก็กลายเป็นการทำผิดกฎหมายไปด้วย

EFF ระบุว่าการยอมรับมาตรฐานเช่นนี้ทำให้เบราว์เซอร์จำนวนมากมีซอฟต์แวร์ที่ตรวจสอบไม่ได้ติดไปด้วย และกระทบต่อความปลอดภัยของคนนับพันล้าน บริษัทสื่ออาจจะฟ้องผู้ที่เก็บข้อมูลในเว็บและผู้ที่พยายามแปลงวิดีโอให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายขึ้น

EFF จึงประกาศลาออกจาก W3C โดยมีผลทันที และทางองค์กรจะต่อสู้กับ DRM โดยฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยกเลิกกฎหมายนี้, เรียกร้องกับสภานิติบัญญัติให้แก้ไขความผิดพลาด, และปกป้องผู้ที่ออกมาเปิดเผยช่องโหว่ของระบบ DRM

ที่มา - EFF

Blognone Jobs Premium