รีวิว Galaxy Note 8 - ถ้าไม่ใช่ Galaxy Note ยังไงก็ไม่ใช่ Galaxy Note

by sponsored
25 September 2017 - 02:48

Galaxy Note 8 ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าจับตามากในปี 2017 โดยเหตุผลสำคัญมาจากปัญหาของ Galaxy Note 7 จนต้องสั่งเลิกขายอย่างถาวรจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก มาถึงปีนี้ ทุกคนจึงจับตาดูว่าซัมซุงจะนำซีรีส์ Note กลับคืนสู่วงการอย่างไร

คำตอบของซัมซุงต่อชาวโลกคือ Galaxy Note 8 ที่กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน แต่มันก็มาพร้อมกับค่าตัวที่ยกระดับความแพงขึ้นอีกหลายจุด จึงส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่าคุณสมบัติของ Note 8 คุ้มค่าตัวมากน้อยแค่ไหน

Blognone ได้รับเครื่องทดสอบจากซัมซุงประเทศไทยมาใช้งานเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ และนี่คือรีวิว Galaxy Note 8 เพื่อตอบคำถามข้างต้น

เข้าใจตำแหน่งของ Galaxy S และ Galaxy Note

ก่อนเข้าสู่การรีวิวตัวผลิตภัณฑ์ Galaxy Note 8 คงต้องขอย้อนความกลับไปยังประวัติของซีรีส์ Galaxy Note ก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่าซัมซุงมองตำแหน่ง (positioning) ของซีรีส์ Galaxy Note ในสายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของตัวเองอย่างไร

ถ้าเราย้อนดูประวัติการออกมือถือรุ่นเรือธงของซัมซุงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ถ้านับตั้งแต่ปี 2011 ที่ซีรีส์ Galaxy Note เปิดตัวเป็นครั้งแรก ถือว่าซัมซุงใช้ยุทธศาสตร์ "2 เรือธงใน 1 ปี" มาโดยตลอด

แต่ถ้าเราดูการออกรุ่นอย่างละเอียด จะพบว่าในช่วงครึ่งแรก (ก่อนปี 2015) แนวทางที่ซัมซุงใช้คือออกมือถือเรือธงทุก "ครึ่งปี" ความแตกต่างระหว่าง S กับ Note ที่ออกในปีเดียวกันจะมีค่อนข้างมาก ตั้งแต่สเปกของตัว SoC ที่ดีขึ้นทุกๆ ครึ่งปี และดีไซน์ตัวเครื่องที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย (ลองเทียบดีไซน์ของ Galaxy S4 กับ Note 3 หรือเทียบ Galaxy S5 กับ Note 4)

จุดเปลี่ยนในแนวทางการออกมือถือของซัมซุง เกิดขึ้นในปี 2015 พร้อมกับ Galaxy S6 (ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ "ซัมซุงยุคโลหะ" หลังจาก "ยุคพลาสติก") เราจะเห็นการจัดวางผลิตภัณฑ์ซีรีส์ Note ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

หลังจากปี 2015 เป็นต้นมา Galaxy Note เปลี่ยนจากการเป็น "เรือธงครึ่งปีหลังที่สเปกดีขึ้นจาก Galaxy S" กลายมาเป็น "Galaxy S ที่มีปากกา" แทน เพราะใช้สเปกภายเหมือน Galaxy S ที่ออกในปีเดียวกัน และใช้ดีไซน์ตัวเครื่องในทิศทางเดียวกัน

แนวทางนี้เกิดขึ้นกับคู่ของ Galaxy S6/Note 5 และ Galaxy S7/Note 7 (แม้เคส Note 7 จะแท้งไปอย่างไม่ได้ตั้งใจก็ตาม)

"ยุคโลหะ" ของซัมซุงมีระยะเวลานาน 2 ปี กินระยะเวลาตั้งแต่ S6 > Note 5 > S7 > Note 7 ที่ยึดโครงสร้างเดียวกัน แต่ขัดเกลาคุณสมบัติย่อยๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พอมาถึงปี 2017 ซัมซุงก็ก้าวเข้าสู่ "ยุคกระจก" ด้วยการเปิดตัว Galaxy S8 ที่มีเอกลักษณ์คือหน้าจอ Infinity Display

Galaxy Note 8 ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่สองใน "ยุคกระจก" ก็ยังคงแนวทางเดิม ใช้ดีไซน์และฮาร์ดแวร์เหมือนกับ Galaxy S8 แล้วเพิ่มปากกา S Pen กับกล้องตัวที่สองเข้ามา ถือเป็นครั้งแรกของซัมซุงกับแนวทางกล้องคู่นั่นเอง

Galaxy Note 8 ต่อยอดจากรากฐานของ Galaxy S8

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงไม่น่าแปลกใจนักว่า Galaxy Note 8 มีความคล้ายคลึงกับ Galaxy S8 มาก (จะมองว่ามันเป็น family เดียวกันก็ได้) ตั้งแต่สเปกฮาร์ดแวร์ ดีไซน์ของตัวเครื่อง และกล้องหลักที่เป็นตัวเดียวกัน จุดที่ต่างไปมีแค่ปากกา S Pen และกล้องตัวที่สองเท่านั้น (บวกด้วยฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ อีกนิดหน่อย)

คนที่เคยใช้ Galaxy S8 มาก่อนแล้วมาจับ Note 8 ก็เรียกว่าใช้งานต่อได้ทันที เพราะทุกอย่างเหมือนกันหมด ตั้งแต่หน้าจอ Infinity Display สัดส่วน 18.5:9 เกือบเต็มด้านหน้าเครื่อง, ปุ่มโฮมที่อยู่ใต้จอ, ตัวสแกนลายนิ้วมือด้านหลัง, ฟีเจอร์การปลดล็อคหน้าจอด้วยเรตินา-ใบหน้า, การใช้ปุ่มบนหน้าจอทั้งหมด รวมถึงดีไซน์ของซอฟต์แวร์ (อ่านรายละเอียดในบทความ เก็บตกรายละเอียด Galaxy S8 จากการใช้งานจริง ไม่มีปุ่มโฮมจริงแล้วเปลี่ยนไปอย่างไร)

จุดต่างในแง่ดีไซน์ระหว่าง S8 กับ Note 8 อยู่ที่ความโค้งของขอบเครื่อง โดย S8 จะมีความโค้งมนกว่า ในขณะที่ Note 8 ลดความโค้งลง ดูเหลี่ยมมากขึ้น ในภาพรวมจึงให้อารมณ์ดูเป็นผู้ใหญ่กว่า ดูเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ในเชิงธุรกิจ มากกว่า S8 ที่ดูโฉบเฉี่ยวและสปอร์ตกว่า

ในแง่ของขนาดเครื่อง ถ้าวัดขนาดหน้าจออย่างเดียว Note 8 มีหน้าจอใหญ่ที่สุดในบรรดาซีรีส์ Note ทั้งหมด (สโลแกนของ Note 8 คือ Do Bigger Things) คือใหญ่ถึง 6.3" แต่ด้วยหน้าจอแบบ Infinity Display เกือบไร้ขอบ ทำให้ขนาดของตัวเครื่องกลับ "ผอม" ลงคือ 74.8 มิลลิเมตร ลดลงจาก Galaxy Note 5 ที่กว้าง 76.1 มิลลิเมตร สามารถจับสะดวกด้วยมือข้างเดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยสัดส่วนจอแบบ 18.5:9 (เกือบเป็น 2:1) ทำให้ตัวเครื่อง "สูง" ขึ้นเป็น 162.5 มิลลิเมตร มากกว่า Note 5/7 ที่ขนาดพอๆ กันราว 153 มิลลิเมตรอยู่พอสมควร ตรงนี้จึงเริ่มมีความยากเกิดขึ้น หากจะเอื้อมนิ้วไปกดปุ่มที่อยู่ขอบด้านบนๆ ของหน้าจอ

ดีไซน์ด้านหลังของ Note 8 ยิ่งเรียบเข้าไปใหญ่ เพราะเป็นฝาหลังเรียบๆ มีโลโก้ซัมซุงจางๆ (ยิ่งเครื่องที่ได้มารีวิวเป็นสีดำ ยิ่งดูเรียบมาก) จุดเดียวที่สังเกตได้คือกรอบที่วางตำแหน่งกล้องหลัง (ซึ่งเป็นกล้องคู่) พร้อมแฟลช และเซ็นเซอร์ลายนิ้วมือ

สิ่งหนึ่งที่ซัมซุงทำได้ค่อนข้างดีในช่วงหลัง คือการออกแบบกล้องหลังโดยแทบไม่นูนขึ้นมาเลย กรณีของ Note 8 คือมีขอบของตัวกรอบนูนขึ้นมาเล็กน้อยจากฝาหลัง ตอนจับจริงแทบไม่รู้สึก

ส่วนการวางตำแหน่งปากกาก็ยังอยู่ที่เดิมคือมุมขวาล่างของเครื่อง ซึ่งใช้ดีไซน์เหมือนซีรีส์ Note รุ่นก่อนๆ คือ ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร (ยังอยู่!), พอร์ต USB-C, ไมโครโฟนและลำโพง, ปากกา S Pen

ขอบด้านซ้ายและขวาของ Note 8 เรียงปุ่มเหมือนกับ S8 ทุกประการ นั่นคือด้านซ้ายมีปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่ม Bixby ส่วนด้านขวาเป็นปุ่ม Power

ฟีเจอร์ส่วนของ Bixby ใน Note 8 ไม่ต่างอะไรกับ Bixby บน S8 ที่ Blognone เคยรีวิวไปแล้ว ตรงนี้คงไม่ขอกล่าวซ้ำ

ในภาพรวมแล้ว Note 8 สร้างขึ้นบนรากฐานของ Galaxy S8 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมือถือตระกูล Galaxy ระดับเรือธง ในแง่การใช้งานจริง นอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นจาก S8 และความโค้งที่ลดลง ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย รีวิวในหัวข้อถัดไปจึงจะโฟกัสไปที่ฟีเจอร์สำคัญ 2 อย่างคือ ปากกา S Pen และกล้องคู่เท่านั้น

ปากกา S Pen ที่สืบทอดมาจาก Note 7

ตัวฮาร์ดแวร์ปากกา S Pen ของ Note 8 เป็นปากกาตัวเดียวกับ Note 7 ที่รองรับแรงกด 4096 ระดับ (Note 5 รองรับ 2048 ระดับ) หัวปากกาเล็กลงเหลือเพียง 0.7 มิลลิเมตร และเขียนตอนจอเปียกได้ (เขียนในน้ำก็ได้!)

ถึงแม้มันจะไม่มีอะไรใหม่ไปจากปากกาของ Note 7 แต่เนื่องจาก Note 7 ไม่ได้วางขายทั่วไป คนที่เคยใช้ Note 5 มาก็จะได้อัพเกรดมาใช้ฮาร์ดแวร์ที่ดีขึ้นอยู่ดี (แม้จะได้ใช้งานช้าไป 1 ปี) ปากกาตัวใหม่เขียนได้ลื่นและเส้นเล็กกว่าเดิม น่าประทับใจกว่าของเดิมมาก

เทียบปากกา S Pen ของ Note 8 กับ Note 5

ฝั่งซอฟต์แวร์การจดโน้ตด้วยปากกา ก็พัฒนาต่อเนื่องมาหลายปีจนค่อนข้างลงตัวแล้ว ตัวฟีเจอร์แกนหลัก (ใช้ปากกาจดโน้ต) แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม จุดที่เปลี่ยนคงมีแค่แอพ S Note เดิม กลายร่างมาเป็นแอพ Samsung Notes ตัวใหม่แทน (เปลี่ยนครั้งแรกตอน Note 7)

ส่วนฟีเจอร์ลูกเล่นอื่นๆ ของปากกา ก็ยังเหมือนของเดิม ตั้งแต่การจับหน้าจอ (Smart Select), การเขียนทับไปบนหน้าจอ (Screen Write) รวมถึงฟีเจอร์ที่เพิ่มมาใน Note 7 ปีที่แล้วคือ การย่อแอพขนาดเล็กลอยทับแอพอื่น (Glance), แปลภาษา (Translate) ซูมหน้าจอ (Magnify) รวมถึงการเขียนโน้ตแล้วปักไว้บนหน้าจอ Always On

ตัวอย่างฟีเจอร์ปากกาของ Note 8, หน้าจอ Samsung Notes, ฟีเจอร์แปลภาษา

ฟีเจอร์ใหม่จริงๆ ของ S Pen ใน Note 8 คือ Live Message

Live Message เป็นการสร้างแอนิเมชัน GIF ด้วยการเขียนบนหน้าจอ โดยมีเอฟเฟคต์ฟรุ้งฟริ้งขึ้นมาตามการลากปากกาของเรา ฟีเจอร์นี้อาจดูไม่มีประโยชน์สักเท่าไร แต่ถือเป็นฟีเจอร์ชูโรงของ Note 8 เลยก็ว่าได้ เพราะมันเห็นภาพชัดเจนว่าเป็นฟีเจอร์ของ Note (แถมส่งแล้วสนุกด้วย) ข้อจำกัดคงมีแค่ว่าการเซฟเป็นไฟล์ GIF อาจจะมีขนาดไฟล์ที่ค่อนข้างใหญ่อยู่สักหน่อย

ในภาพรวมแล้ว ฟีเจอร์ปากกาของ Note 8 แทบไม่ต่างจาก Note 7 (เรียกว่าเวลาห่างกันปีนึง แทบไม่มีอะไรเพิ่ม ก็น่าผิดหวังอยู่บ้าง) เพียงแต่ Note 7 ไม่ได้วางขายทั่วไป ดังนั้นถ้าเทียบกับ Note 5 ก็ต้องบอกว่าพัฒนาขึ้นอย่างมาก ผู้ที่ชื่นชอบปากกาของ Note รุ่นก่อนหน้านี้ ก็น่าจะประทับใจกับปากกาของ Note 8 ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เขียนสนุกขึ้น มีฟีเจอร์ลูกเล่นต่างๆ (ที่อาจใช้ไม่บ่อยนัก) มากขึ้นหลายอย่าง

กล้องคู่ Dual Camera

กล้องหลักของ Note 8 ยังเป็นตัวเดิมกับ S8 คือกล้องมุมกว้างปกติ (wide-angle) ความละเอียด 12MP ที่มีพิกเซลขนาดใหญ่ (Dual Pixel Sensor) เก็บภาพในที่มืดได้ดี ส่วนกล้องตัวใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นกล้องซูม (telephoto) ความละเอียด 12MP (แต่ไม่ใช่ Dual Pixel) มีมุมมอง (field of view) 45 องศา

แนวทางการใส่ "กล้องคู่" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกสมาร์ทโฟน และเป็นสัญญาณว่าพัฒนาการของกล้องสมาร์ทโฟนแบบตัวเดียวลำพัง เริ่มจะตันแล้ว จึงต้องมีกล้องตัวที่สองที่ช่วยจับภาพในมิติอื่นเพิ่มเข้ามา ส่วนกล้องตัวที่สองจะเป็นกล้องแนวไหน ก็ขึ้นกับแนวทางของแต่ละค่าย เช่น LG จะเพิ่มกล้องมุมกว้างกว่าเข้ามา, Huawei เพิ่มกล้องโมโนโครม

แนวทางของซัมซุงถือเป็นแนวทางค่อนข้างมาตรฐานคือ เพิ่มกล้องซูม telephoto แบบเดียวกับค่ายอื่นอย่าง iPhone และ OnePlus แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า กล้องตัวที่สองจะทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานของกล้องหลักในบางโอกาสเท่านั้น ไม่ได้ใช้งานในทุกกรณีไป

การมาถึงของกล้องตัวที่สอง ทำให้เราสามารถถ่ายภาพที่แตกต่างออกไปได้ 2 อย่างคือ การซูมภาพแบบ optical zoom 2x และฟีเจอร์ Live Focus หรืออธิบายง่ายๆ ว่าหน้าชัดหลังเบลอนั่นเอง

ซัมซุงได้ปรับหน้าจอของแอพ Camera ใหม่เล็กน้อย เพื่อให้สองฟีเจอร์นี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เรียกว่าอยู่ตรงกลางจอ ข้างปุ่มชัตเตอร์เลยทีเดียว

การถ่ายซูม 2x สามารถทำได้ง่ายๆ โดยกดปุ่ม 2x บนหน้าจอกล้อง แอพจะสลับมาใช้กล้องตัวที่สองให้อัตโนมัติ ตรงนี้ช่วยให้เราสามารถซูม 2 เท่าแบบภาพไม่แตก (เพราะเป็น optical zoom) ได้ ช่วยให้การถ่ายภาพระยะไกลที่ต้องการรายละเอียด (เช่น ถ่ายป้าย ถ่ายสไลด์) ได้ภาพที่คุณภาพดีขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ต้องระวังไว้สักนิดว่า ถ้าหากเราซูมที่ระดับอื่น เช่น 1.x หรือมากกว่า 2x มันจะเป็นการซูมดิจิทัลด้วยกล้องหลัก แทนการซูมด้วยเลนส์ตัวที่สอง

จุดแตกต่างอีกอย่างของกล้อง Note 8 คือเป็นมือถือตัวแรกที่มีระบบกันสั่น OIS กับกล้องทั้งสองตัว (คู่แข่งส่วนใหญ่มี OIS กล้องเดียว) ตรงนี้ก็ช่วยให้การถือกล้องสะดวกมากขึ้น เพราะกันสั่นทุกกรณีไม่ว่าจะถ่ายปกติ ซูม หรือถ่ายวิดีโอ

ส่วนฟีเจอร์ Live Focus คือการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ โดยเป็นการประสานงานระหว่างกล้อง 2 ตัว กระบวนการทำงานของมันถ่าย 2 ภาพพร้อมกันแล้วมาประมวลผลหาระยะตื้นลึก แล้วทำเบลอด้วยซอฟต์แวร์ (ภาพที่ถ่ายด้วย Live Focus จะมีมุมมองแคบเท่ากับกล้อง telephoto เพราะต้องใช้สองภาพมาซ้อนกัน จึงมีมุมมองเท่ากับภาพที่แคบกว่าเสมอ) ในอดีตซัมซุงเคยมีฟีเจอร์แบบเดียวกันคือ Selective Focus แต่เป็นการเบลอด้วยกล้องเดียว

คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็มแบบไม่บีบอัดบน Flickr

ฟีเจอร์หน้าชัดหลังเบลอไม่ใช่ของใหม่ แต่สิ่งที่ Note 8 แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นคือ Live Focus สามารถปรับระดับของความเบลอได้เอง โดยมีแถบ slider มาให้ตอนกำลังถ่ายภาพเลย

เนื่องจาก Live Focus จะถ่าย 2 ภาพพร้อมกันเสมอ เราจึงสามารถปรับระดับโฟกัสหลังจากถ่ายภาพไปแล้วได้ด้วย เพราะเครื่องยังเก็บทั้ง 2 ภาพเอาไว้คำนวณใหม่ได้ตลอดเวลา วิธีการคือถ้าเราถ่ายภาพด้วยโหมด Live Focus แล้วเปิดดูด้วยแอพ Gallery ของซัมซุง จะเห็นปุ่ม Adjust Background Blur เพิ่มขึ้นมา เราสามารถปรับ slider ได้เหมือนกับตอนกำลังถ่ายภาพเลย

เรายังสามารถตั้งค่าให้ Dual Capture คือเซฟภาพมุมกว้างไว้ได้ด้วย นั่นแปลว่าใน 1 ไฟล์จะมีทั้งภาพที่เป็น Live Focus และภาพมุมกว้าง (ไม่เบลอ) มาให้พร้อมกัน (ปุ่ม Normal Picture ในภาพ)

จากการทดลองใช้งาน พบว่า Live Focus เป็นฟีเจอร์ที่ต้องฝึกฝนอยู่บ้าง เพราะมันจะทำงานก็ต่อเมื่อกล้องห่างจากวัตถุ (subject) ของภาพประมาณ 4 ฟุต (ราว 1 เมตร) เท่านั้น หากถ่ายใกล้ไปหรือไกลไป Live Focus จะไม่ทำงาน (พูดง่ายๆ ว่ามันออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพคน)

หน้าจอที่บอกว่า Live Focus ใช้งานไม่ได้

หน้าจอที่บอกว่า Live Focus ทำงานได้

หากวัตถุมีสีหรือพื้นผิวใกล้เคียงกับพื้นหลังมากเกินไป Live Focus ก็จะทำงานได้ไม่ดีนัก เนื่องจากซอฟต์แวร์แยกไม่ค่อยออกนั่นเอง

สังเกตความเบลอของกิ่งไม้ สีแดงและสีเขียวที่ไม่เท่ากัน เพราะสีเขียวถูกเบลอไปพร้อมกับใบไม้

เท่าที่ทดสอบมา อัลกอริทึมการทำเบลอของ Live Focus ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในบางกรณี โดยเฉพาะภาพที่พื้นหลังมีระยะใกล้กับตัววัตถุข้างหน้าค่อนข้างมาก (เช่น วาง subject อยู่เกือบติดผนัง)

ตัวอย่างการเกลี่ยความเบลอที่ไม่สมบูรณ์

ถ้าปรับระดับของความเบลอเป็นขั้นสูงสุด ขอบของวัตถุอาจจะเบลอได้ไม่ถูกต้อง 100% นัก ถ้าปรับความเบลอให้ลดลงมาเหลือสักครึ่งหลอด ภาพจะดูเป็นธรรมชาติมากกว่า

เบลอ 100%

เบลอ 50%

ส่วนฟีเจอร์ด้านกล้องอื่นๆ ก็เหมือนกับในสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นก่อนๆ อย่างการถ่าย slow motion, hyperlapse, panorama, food mode, virtual shot คงไม่ต้องกล่าวถึงซ้ำในรีวิวนี้

ในภาพรวมเรื่องกล้อง ต้องบอกว่ากล้องของ Note 8 อยู่บนพื้นฐานของกล้อง S8 ที่ทำได้ดีมากอยู่แล้ว การเพิ่มกล้อง telephoto ตัวที่สองเข้ามา ช่วยให้การถ่ายภาพสนุกขึ้นเพราะสามารถซูมได้

ส่วน Live Focus ก็ช่วยให้ถ่ายภาพที่มีเทคนิคพิเศษได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ฟีเจอร์ที่ใช้บ่อยๆ ทุกครั้งไป (เหมาะมากกับบรรจงการถ่ายลง Instagram แต่ไม่ใช่ว่าทุกครั้งเราจะถ่ายกันแบบนี้) ส่วนอัลกอริทึมการเบลอก็ยังไม่ 100% ถ้าองค์ประกอบของภาพเหมาะสมก็ดีใจหาย แต่ถ้าอยู่นอกขอบเขตความสามารถของมัน ก็จะพบความไม่เนียนอยู่บ้าง

App Pair

ฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์ที่เพิ่มเข้ามาใน Galaxy Note 8 และควรค่าแก่การกล่าวถึงคือ App Pair

App Pair เป็นการต่อยอดฟีเจอร์ multi-window หรือการรัน 2 แอพพร้อมกัน (แบ่งจอบน-ล่าง) ที่สมาร์ทโฟนของซัมซุงทำได้มานานแล้ว แต่มันเพิ่มความสะดวกให้อีกหน่อย จากเดิมที่ต้องเลือกทีละแอพมาแบ่งครึ่งจอ เราก็สามารถ "จับคู่" แอพที่ใช้บ่อยไว้ล่วงหน้าได้เลย

การใช้งาน App Pair จะถูกเรียกจากแถบข้างจอ (Edge Screen) โดยมีสถานะเท่ากับปุ่มลัดเรียกแอพตามปกติ ดังนั้นถ้าใครปิดฟีเจอร์ Edge Screen ก็จะไม่สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้

สรุป: ถ้าไม่ใช่ Galaxy Note ยังไงก็ไม่ใช่ Galaxy Note

เอกลักษณ์ของซีรีส์ Galaxy Note ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนคือปากกา S Pen ที่ใช้เทคโนโลยี digitizer ของ Wacom (และซัมซุงก็ซื้อหุ้น 5% ของ Wacom ตั้งแต่ปี 2013) จะด้วยปัจจัยเรื่องสิทธิบัตรหรือข้อตกลงทางเทคโนโลยีใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราแทบไม่เห็นสมาร์ทโฟนค่ายอื่นๆ มีเทคโนโลยีปากกาในลักษณะเดียวกัน

นี่จึงทำให้ Galaxy Note แทบจะเป็นมือถือซีรีส์เดียวในท้องตลาด ที่มีความสามารถการจดโน้ตด้วยลายมือ เมื่อบวกกับตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ระดับเรือธง ที่กล้องดีสเปกแรง ทำให้ที่ผ่านมา Galaxy Note มีฐานแฟนๆ ที่เหนียวแน่นอยู่มาก (เหนียวแน่นระดับไม่ยอมคืนเครื่อง Note 7 แม้จะเรียกคืนหลายครั้งก็ตาม)

ในสายตาของแฟนๆ ซีรีส์ Note ที่ใช้ปากกา S Pen กันอย่างจริงจัง การจะเปลี่ยนไปใช้มือถือยี่ห้ออื่น (หรือแม้แต่ยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างซีรีส์อย่าง Galaxy S) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติการจดโน้ตด้วยปากกาไปในทันที ส่งผลให้แฟนซีรีส์ Note จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากตามซื้อ Note รุ่นใหม่ขึ้นกันต่อไปเรื่อยๆ

Galaxy Note 8 ถูกออกแบบมาสำหรับแฟนๆ ของ Galaxy Note อย่างแท้จริง มันสร้างขึ้นบนฐานที่มั่นคงของ Galaxy S8 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของซัมซุง และฟีเจอร์ปากกาของ Galaxy Note 7 ที่ถูกขัดเกลามาอย่างยาวนานหลายปี ผลคือมันเป็นเรือธงที่สมบูรณ์พร้อมในแทบทุกด้าน ทั้งในแง่หน้าจอขนาดใหญ่เต็มตา ตอบสนองการทำงานรวดเร็ว กล้องคุณภาพสูง และประสบการณ์จดโน้ตที่ลื่นไหล เรียกได้ว่าแทบไม่มีจุดอ่อนอะไรสำคัญให้ต้องวิจารณ์

คำถามสำคัญคือคุณสมบัติของ Galaxy Note 8 สมราคาค่าตัว 33,900 บาท ที่ยกระดับจากเรือธงรุ่นก่อนๆ ขึ้นอีกมากหรือไม่

คำตอบขึ้นกับว่าคุณคือใคร

ถ้าคุณคือแฟนพันธุ์แท้ของซีรีส์ Galaxy Note มาโดยตลอด การอัพเกรดจาก Note 4 หรือ Note 5 มาสู่ Note 8 จะให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด คุ้มราคาค่าตัว (หรือถ้ารอได้จน Note 8 ราคาตก ก็จะยิ่งคุ้ม)

แต่ถ้าคุณต้องการเรือธงฝั่ง Android โดยไม่เน้นการใช้ปากกามากนัก Note 8 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมนัก เพราะมันมีความต่างจาก Galaxy S8 ไม่มาก (ในขณะที่ราคาแพงขึ้นไปมาก) และตอนนี้ซัมซุงเริ่มลดราคา S8 ลงมาบ้างแล้ว การเลือก S8 น่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มกับเงินในกระเป๋ามากกว่า

ข้อดี

  • อยู่บนพื้นฐานของ Galaxy S8 ที่ดีมากอยู่แล้ว หน้าจอใหญ่ไร้ขอบ สเปกแรง กล้องดี
  • กล้องตัวที่สอง ถ่ายซูมได้ ถ่าย Live Focus ได้ เพิ่มประสบการณ์ถ่ายภาพอีกมาก
  • ปากกา S Pen ให้ประสบการณ์จดโน้ตที่ไม่มีใครเสมอเหมือน
  • นี่คือ Galaxy Note ตัวแรกในรอบสองปี ดีขึ้นกว่า Note 5 มาก

ข้อเสีย

  • ตัวเครื่องสวยแบบมีเอกลักษณ์น้อยกว่า S8 อยู่หน่อย
  • Live Focus ยังทำงานได้ไม่เนียนในบางกรณี
  • ตัวสแกนลายนิ้วมือด้านหลัง ตำแหน่งยังกดยากเหมือนเดิม
  • Bixby ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานจริง
  • แพง
Blognone Jobs Premium