ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายนที่ผ่านมาบริษัท Schneider Electric ได้จัดงานสัมมนา Innovation Summit 2017 ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแสดงนวัตกรรมของบริษัท โดยผมได้รับเชิญจาก Schneider Electric ประเทศไทยให้เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย
ในบ้านเรือนเราอาจเคยเห็นโลโก้สีเขียวๆ ของ Schneider Electric ตามกล่องคัตเอาท์ หรือชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าต่างๆ (ไม่ใช่บริษัททำลิฟต์นะครับ อันนั้นชื่อ Schindler) แต่จริงๆ แล้ว Schneider ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก เพราะเป็นผู้ให้บริการโซลูชันหลักๆ ถึง 4 อย่าง คือด้านการวางระบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ด้านอุตสาหกรรม, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ระบบไฟฟ้า) และสุดท้ายคือโซลูชันด้านไอทีและดาต้าเซ็นเตอร์
Schneider เรียกโซลูชันทั้งหมดนี้ว่า EcoStruxure (อีโคสตรักเจอร์) จึงมีหลายชื่อแบ่งย่อยตามโซลูชันแต่ละอัน เช่น EcoStruxure Building ก็เป็นโซลูชันด้านอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, EcoStruxure Plant ก็เป็นระบบในโรงงาน หรือ EcoStruxure IT ก็เกี่ยวข้องกับระบบไอทีและดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นโซลูชันตัวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในงานนี้
ในส่วนของคีย์โน้ตหลักของงาน พูดโดย Jean-Pascal Tricoire ซีอีโอของ Schneider เขากล่าวถึงเรื่อง Efficiency ก่อน โดยบอกว่าภายใน 20 ปีโลกจะมีความต้องการพลังงานมากขึ้นอีก 1.5 เท่า แต่เราต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ครึ่งหนึ่ง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้ 3 เท่า อีกทั้ง Internet of Things หรือ IoT จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราอีกมาก
Jean-Pascal ระบุว่าโซลูชันของ Schneider สามารถช่วยธุรกิจให้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ 30%, ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ลงได้ถึง 50% และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านอุตสาหกรรมได้ 30%
เขายังบอกว่าภารกิจหลักของ Schneider อยู่ภายใต้แนวคิด “Life is On” ซึ่งมี 3 คำที่บริษัทยึดเป็นหลัก คือ Energize (กระตุ้น), Efficient (มีประสิทธิภาพ) และ Connected (มีการเชื่อมต่อกัน) นอกจากนี้ยังได้ชูคำถามใหญ่ว่า “โรงงานไหน, อาคารไหน หรือเครื่องจักรเครื่องไหนจะไม่มีการเชื่อมต่อ (กับระบบอื่น) ภายใน 5 ปีหลังจากนี้?” เป็นการบอกกลายๆ ว่า IoT คือเรื่องใหญ่นั่นเอง
มาดูเรื่อง EcoStruxure กันบ้าง Jean-Pascal กล่าวว่าแนวคิดของ EcoStruxure ถูกวางไว้บน “ความเปิด” หรือ openness สามารถทำงานหรือเชื่อมต่อกับระบบของเจ้าอื่นได้ หรือระบบเก่าๆ (legacy) ก็ยังได้ และตัวมันเองก็ถูกพัฒนาขึ้นบนมาตรฐานเปิด (open standard) เช่นกัน
ในด้านอาคาร เขาบอกว่าอาคารต่างๆ บริโภคพลังงานคิดเป็น 30-40% ของการใช้พลังงานทั้งโลกเลยทีเดียว ซึ่งโซลูชัน EcoStruxure Building ของ Schneider สามารถช่วยลดการใช้พลังงานของอาคารลงได้ และขณะนี้อาคารสำนักงานของบริษัท Deloitte ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นอาคารที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก โดยใช้ระบบของ Schneider นั่นเอง
ส่วนด้านโรงงาน ทาง Schneider บอกว่าต่อไปโรงงานจะมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (self-learning) และสุดท้ายจะกลายเป็นระบบอัตโนมัติ (autonomous) ทั้งหมด ต่อมาคือระบบสาธารณูปโภคในด้านไฟฟ้า Jean-Pascal กล่าวว่าระบบโครงข่ายไฟฟ้า (electrical grid) จะเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดย SA Power Networks ผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าของรัฐ South Australia ประเทศออสเตรเลีย ได้นำโซลูชันของ Schneider ไปใช้ และสามารถลด performance cost ได้ถึง 40 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี
ในด้านไอที Jean-Pascal ยกคำถามว่าต่อไปจะมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ไหนที่ไม่พร้อมต่อการรับมือกับข้อมูลจำนวนมหาศาล? (data deluge) ซึ่ง Schneider ก็มีโซลูชันสำหรับการนี้พร้อมแล้ว และยกตัวอย่างของ Animal Logic สตูดิโอทำแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟคจากออสเตรเลียที่ใช้ EcoStruxure for Data Center เข้ามาช่วยให้สามารถเพิ่มความเร็วในการเรนเดอร์ภาพได้ถึงระดับ 1.25 เพตาฟลอปส์ต่อวินาที (เดี๋ยวเรื่องราวของ Animal Logic จะมีแยกเป็นอีกบทความหนึ่งครับ)
ปิดท้ายคีย์โน้ต Jean-Pascal ระบุว่าขณะนี้ระบบ EcoStruxure ถูกใช้แล้วทั่วโลกราว 450,000 ระบบด้วย System Integrators และนักพัฒนาราว 22,000 คน