คุยกับ Covr และ FundRadars สตาร์ตอัพฟินเทคโครงการ Bangkok Bank InnoHub

by sponsored
9 October 2017 - 09:40

ต้องยอมรับว่ากระแสเรื่องของสตาร์ทอัพในประเทศไทย อยู่ในจุดที่เป็นความสนใจมาโดยตลอดจากหลายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารชั้นนำของประเทศ และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีสินทรัพย์สูงที่สุดในประเทศ

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพล ธนาคารกรุงเทพจึงจัดตั้ง InnoHub โครงการ Fintech Accelerator Program ระดับโลกในไทยครั้งแรก เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่มีผลงานเด่นชัด มาเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์และความพึงพอใจที่ดีให้กับลูกค้าในประเทศไทยและอาเซียน

รู้จัก InnoHub ศูนย์บ่มเพาะระดับโลกของธนาคารกรุงเทพ

คุณวริทธิ์ ธโนปจัย หนึ่งในทีมงานผู้ดูแลโครงการนี้ ระบุว่า InnoHub เป็นโครงการ accelerator ระดับโลกและมุ่งไปที่เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เป็นสำคัญ มีสตาร์ทอัพจากหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งจากประเทศไทย สวีเดน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์โครงการนี้ยังเป็นความร่วมมือกับ Nest ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม จากฮ่องกง

สิ่งที่ InnoHub สนใจคือเรื่องที่เกี่ยวกับระบบชำระเงิน การยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (eKYC: Electronic Know Your Customer) และปัญญาประดิษฐ์ โดยคัดเลือกจากสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 119 ราย จนเหลือเพียง 8 รายที่ทางธนาคารสนใจ เพื่อมาเข้าร่วมโครงการที่ InnoHub Space เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เป้าหมายคือการเรียนรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการจากนวัตกรรมร่วมกัน

ในแง่นี้ บทบาทของธนาคารจึงมีหน้าที่ในการแนะนำสตาร์ทอัพเหล่านี้ ให้สามารถปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงการทำงานร่วมกับ Corporate ซึ่งในโครงการนี้คือการให้คำปรึกษาโดย Mentor ที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินและเทคโนโลยีของธนาคาร เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้งานจริงได้มากที่สุด

ตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ทำงานกับทางธนาคารอย่างเหนียวแน่นได้แก่ Covr Security จากสวีเดน ที่พัฒนาโซลูชั่นด้านความปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถือ และ FundRadar จากประเทศไทย ที่พัฒนาแพลตฟอร์มให้คำแนะนำด้านการลงทุนในกองทุนรวม

Covr Security โซลูชันยืนยันตัวตนแบบไร้พาสเวิร์ด

Covr Security เป็นสตาร์ทอัพของสวีเดนที่ทำเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านระบบความปลอดภัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมาจากการพบกันระหว่าง Peter Alexanderson และ Patrick Malmberg พูดคุยกัน จนกระทั่งตัดสินใจก่อตั้งบริษัทขึ้นมา

Peter เล่าว่า เขามีประสบการณ์ทำงานกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 1980 และเริ่มผันตัวมาเป็นนักธุรกิจในปี 1992 โดยก่อตั้งบริษัททำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ โจทย์ใหญ่ตั้งแต่แรกที่เขาคิดคือการมีระบบความปลอดภัยที่ไม่ต้องใช้รหัสผ่าน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กับ Covr Security ในเวลาต่อมา ส่วน Patrick เอง เดิมทำงานด้าน Management Consulting อยู่ที่ San Francisco และแต่งหนังสือเป็นงานอดิเรก ส่วนทีมในตอนนี้มี 25 คน


Peter Alexanderson (ซ้าย) และ Patrik Malmberg (ขวา)

การเป็นสตาร์ทอัพในสวีเดนถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะวัฒนธรรมขององค์กรในสวีเดนไม่ได้มีลำดับชั้น (hierarchy) มากมาย และสภาพของประเทศสวีเดนเองก็เอื้อทำให้ต้องคิดออกไปสู่ตลาดโลก ทำให้มีบริษัทอย่าง Spotify หรือ King (ผู้พัฒนาเกม Candy Crush) เป็นตัวอย่างของบริษัทไอทีสวีเดนที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก

โจทย์ใหญ่ของ Covr คือบริษัทมองว่า รหัสผ่าน (password) เป็นสิ่งที่มีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่ารหัสผ่านเหล่านี้ถูกจัดเก็บ-ส่งผ่านอย่างปลอดภัยหรือไม่ มีการใช้ซ้ำหรือเปล่า ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยใช้ OTP ผ่านช่องทาง SMS ก็ไม่รับประกันในความปลอดภัยเสมอไป ทางออกคือการยืนยันตัวตน (authentication) แบบไร้รหัสผ่าน จากอุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีอยู่ นอกจากจะตัดปัญหาและความเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังรวดเร็วกว่ามากด้วย

ผลงานของ Covr จึงเป็นระบบการยืนยันตัวตน (authentication) โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน แต่ใช้อุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีอยู่แล้ว ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือของผู้ใช้ สิ่งที่ผู้ใช้ต้องทำคือการใส่ชื่อผู้ใช้ (username) แล้วไปกด “อนุมัติ” รายการบนแอพเท่านั้น โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่านเลย

ปรัชญาของ Covr คือการมุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและความง่ายในการใช้งาน จึงเป็นความพยายามในการประสานระหว่างความปลอดภัยกับประสบการณ์ของผู้ใช้ ที่ผ่านมา Peter ยอมรับว่าเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก ส่วน Patrick เล่าว่า ปัญหานี้เป็นความท้าทายสำคัญ เขาเองเคยเจอมาแล้วด้วยการซื้อของด้วยบัตรเครดิตผ่านไวไฟที่คิดว่าปลอดภัยแล้วด้วยวิธีการที่เขาใช้ แต่ที่จริงแล้วไม่เลย หนทางจึงออกมาด้วยการออกแบบระบบความปลอดภัยเช่นนี้ คือทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าง่าย แต่ยังต้องปลอดภัย

ระบบของ Covr เองเป็นที่นิยมมากจากธนาคารต่างๆ ของสวีเดน และบริษัทก็มองโอกาสใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น eCommerce, รถยนต์ โรงพยาบาล ด้วยเช่นกัน เพราะแกนของระบบ Covr คือระบบการยืนยันตัวตน ที่สามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท

ปัจจุบัน Covr สามารถระดมทุนได้ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังระดมทุนอีกรอบ เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก เพราะตลาดในแถบประเทศสแกนดิเนเวียค่อนข้างเต็มแล้ว บริษัทจึงพยายามหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ และเริ่มมีตัวแทนจำหน่ายโซลูชั่นทั่วโลกแล้ว

FundRadars

สำหรับผู้ที่ติดตามวงการสตาร์ทอัพหรืออยู่วงการหุ้น น่าจะคุ้นเคยกับ StockRadars แอปดูและติดตามหุ้นที่มีฐานผู้ใช้งานเป็นอันดับต้นๆ ในไทย ซึ่ง FundRadars ก็ยังคงใช้คอนเซ็ปและรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากหุ้นรายตัว มาเป็นกองทุนแทน

คุณแม็กซ์ ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FundRadars เปิดเผยปรัชญาหรือ core believe ของบริษัทคือต้องการให้การลงทุนไปถึงทุกคน (democratized investment) อยากเปลี่ยนชุดความคิดด้านการลงทุนให้กับคนทั่วไป จากเดิมที่จำกัดเฉพาะคนที่มีความรู้และมีเงินอย่างเดียว ให้เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ขยายบริการจากหุ้นมากองทุน เพราะมีลูกค้า StockRadars ถามหาบริการในลักษณะเดียวกันสำหรับกองทุน บวกกับว่าหุ้นและกองทุนเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แถมตลาดกองทุนมีขนาดใหญ่กว่าหุ้นค่อนข้างมาก เพราะคนรู้สึกว่าลงทุนกับกองทุนปลอดภัยกว่าหุ้น และกฎหมายเอื้อให้คนสนใจลงทุนมากกว่า ทางบริษัทก็สามารถดึงลูกค้ากองทุนมาเพิ่มในหุ้น และดึงลูกค้าหุ้นมาเพิ่มในกองทุนได้ด้วยเช่นกัน


คุณแม็กซ์ ธีระชาติ ก่อตระกูล

เมื่อถูกถามเรื่องคู่แข่ง อย่างที่คุณแม็กซ์เกริ่นไปว่าตลาดกองทุนค่อนข้างใหญ่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มมีนโยบายที่เริ่มเปิดและเอื้อให้เกิดการลงทุนด้านนี้มากขึ้น ทำให้ FundRadar ไม่ห่วงเรื่องคู่แข่งมากนัก ไม่รวมว่าผู้เล่นที่อยู่ในตลาดก็เป็นเพื่อนๆ กันอยู่แล้ว

ส่วนจุดแข็งของ FundRadars จากการที่เติบโตมาจากสายวิเคราะห์จาก StockRadars บริษัทเลยพยายามเน้นไปที่การทำความเข้าใจและความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถแนะนำข้อมูลได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด

ก่อนตัดสินใจเข้ามาร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub กับธนาคารกรุงเทพ คุณแม็กซ์ระบุว่าอยากที่จะพัฒนาให้ FundRadars สามารถขายกองทุนได้แต่ด้วยอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมจากสาเหตุด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่รองรับ จึงมีความคาดหวังที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับธนาคาร อีกทั้ง บลจ. บัวหลวง บริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ ก็ถือเป็นที่หนึ่งด้านกองทุนอยู่แล้ว และยังเป็นการสร้างเสริมจุดแข็งให้กับ FundRadars ได้เป็นอย่างดี

การเข้ามาร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub กับธนาคารกรุงเทพ ทำให้ FundRadars เข้าถึงทรัพยากรบุคคลด้านการเงินและบริการ weatlh management ระดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาสอนในโครงการ หรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งในสายงานนี้ล้วนมีใบรับรอง (certificate) ที่เยอะและหลากหลายแบบเดียวกับฝั่งไอที และค่าตัวคนเหล่านี้แพงมาก การได้เข้าถึงคนเหล่านี้ผ่านการเข้าร่วมโครงการกับธนาคาร ทำให้ FundRadars ได้ตกผลึกและหาสูตรเฉพาะของตัวเองที่เวิร์คกับทั้งธนาคารและ FundRadars ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

ปัจจุบัน FundRadars มีการทำ Proof of Concept ร่วมกับธนาคารกรุงเทพแล้ว ขณะที่เป้าหมายคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า และเติบโตจากธุรกิจนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

Blognone Jobs Premium