รีวิว Nikon D7500 กล้องเซมิโปร ถอดความเร็วจาก D500 มาใส่ในบอดี้ขนาดเล็กลง

by nutmos
11 October 2017 - 03:14

เมื่อช่วงกลางปี Nikon D7500 ได้เปิดตัวมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่หลาย ๆ ส่วนยกมาจาก D500 มาลงบอดี้ขนาดเล็กลง จึงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ใช้กล้องที่อยากได้กล้องตัวไม่ใหญ่เกินไป และมีความสามารถที่ดีเพียงพอกับการใช้งาน

ด้วยการที่ Nikon เลือกนำฟีเจอร์จาก D500 มาลง D7500 จึงทำให้กล้องรุ่นนี้พัฒนาด้านความเร็วได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง D7200 พอสมควร ภายใต้บอดี้ที่ใกล้เคียงกัน

รีวิวนี้จะเน้นรายละเอียดในด้านการทดสอบการใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นหากต้องการดูรายละเอียดสเปคสามารถอ่านได้จากเว็บ Nikon

การออกแบบภายนอก

Nikon D7500 นั้น มีการออกแบบภายนอกในลักษณะ Nikon เช่นเดียวกับรุ่นอื่น ๆ โดยขนาดตัวของกล้องถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และถ้าคาดหวังการจับตัวกล้องแล้วอยากได้ความรู้สึก grip เต็มมือ อาจจยากหน่อยถ้าเป็นคนมือใหญ่ระดับปานกลางถึงใหญ่มาก เพราะตัว grip นั้นไม่ได้ใหญ่ แต่ก็จับแล้วให้ความรู้สึกดีกว่ารุ่นเล็ก ๆ

น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างเบา (หนักกว่ารุ่นเล็กกว่าไม่มาก) สามารถพกพาไปมาได้อย่างไม่เป็นภาระมากนัก และด้วยน้ำหนักพอตัวทำให้พอใส่เลนส์ตัวใหญ่เข้าไปจะดูสมส่วนกว่ารุ่นเล็ก

D7500 มีจอสัมผัสขนาด 3.2 นิ้ว พร้อมระบบสัมผัสและกระดกได้ (ที่ไม่ใส่จอหมุนมาคาดว่าเพราะติดปุ่มฟังก์ชันด้านซ้ายมือของจอ) ซึ่งจะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นเมื่อถ่ายในมุมแปลก ๆ การกระดกนี้สามารถกระดกขึ้นและลงได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถกระดกพลิกจอมาเซลฟี่ได้ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ใช้กล้องระดับนี้มากนัก และยังมี Snapbridge ที่ทดแทนได้ในระดับหนึ่ง (แม้จะไม่ได้เต็มร้อยก็ตามที)

ส่วนระบบสัมผัสก็ทำให้การใช้งานกล้องสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับ UI ของกล้องก็สามารถเรียนรู้จากระบบสัมผัสไปก่อนได้

ส่วนสิ่งที่มีใน D7200 แต่ถูกตัดออกใน D7500 ก็คือช่องเสียบการ์ด 2 ช่อง ถูกลดเหลือเพียงช่องเดียวเท่านั้น

เหนือช่องมองภาพ มีเซนเซอร์วัดแสง ซึ่งจะคอยปรับแสงหน้าจอตามสภาพแสงรอบข้าง รวมถึง UI ก็มีสีขาวและสีดำ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามแสงรอบข้างด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ตัวกล้องก็ยังมีจอบนและปุ่มปรับอยู่ทางด้านซ้ายที่มีตัวล็อกกันการหมุนปุ่มพลาดอย่างไม่ตั้งใจด้วย ตามมาตรฐานอุปกรณ์กล้องระดับกึ่งโปรในปัจจุบัน รวมถึงยังมีปุ่ม Fn ด้านหน้าตัวกล้องและข้าง ๆ เมาท์เลนส์ให้ตั้งเป็นฟังก์ชันได้ตามต้องการด้วย อำนวยความสะดวกในการกดในขณะที่กำลังรีบ ๆ

การถ่ายภาพ

Nikon ยกเซนเซอร์, ระบบประมวลผลภาพ และระบบวัดแสงมาจาก D500 แทบจะทุกอย่าง โดยสเปคคร่าว ๆ ของ D7500 นั้นใช้เซนเซอร์ APS-C ที่ 20.9 ล้านพิกเซล (5472 x 3648 ซึ่งน้อยกว่า D7200 ที่ 24 ล้านพิกเซล แต่จำนวนพิกเซลที่น้อยลงไม่ใช่ประเด็นใหญ่นัก), ISO 100-51200 ขยายได้ถึง 50-1.64 ล้าน สามารถถ่ายภาพรัวได้ 8 ภาพต่อวินาที (ลดลงจาก D500 ที่ถ่ายได้ 10 ภาพต่อวินาที) และมีบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ถ่ายภาพต่อเนื่องได้นานกว่าเดิม

ถัดไปคือการทดสอบ noise เนื่องจาก Nikon ได้อัด ISO มาให้สะใจถึง 51200 แถมขยายได้สูงสุดจนถึง 1.64 ล้าน (ขอเริ่มทดสอบที่ 400 เนื่องจาก 100-400 ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน) จากผลการทดสอบก็พบว่า ถ้าจะถ่ายภาพในที่แสงน้อย 51200 ยังสามารถใช้งานได้ เมื่อ boost ไปจนถึงระดับ 102400 (H1) ก็เริ่มเกิดอาการภาพเละขึ้นมาให้เห็น แต่ในสถานการณ์ที่จำเป็นก็ยังคงใช้งานได้ ไม่ถึงกับรายละเอียดหายไปเสียทีเดียว

ภาพตัวอย่างจาก Nikon D7500 (ทุกภาพจบหลังกล้องและย่อด้วย Lightroom)

ส่วนวิดีโอรองรับการสูงสุดที่ 4K 30fps นาน 29 นาที แต่มีข้อเสียคือเมื่อถ่ายที่ 4K แล้ว ภาพจะถูกครอปออกบางส่วน จึงทำให้ได้มุมมองที่แคบลง สำหรับงานบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้มุมกว้างก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปถ่ายวิดีโอ 1080p แทน (เพราะ 1080p เลือกได้ว่าจะสั่งให้ครอปหรือไม่ แต่ 4K บังคับว่าต้องครอปเท่านั้น) โดย Nikon D7500 สามารถถ่ายวิดีโอ 1080p ได้สูงสุดที่ 60fps

ส่วนด้านการเชื่อมต่อของ D7500 นี้จะยังคงใช้ SnapBridge เหมือน Nikon รุ่นอื่น ๆ ดังนั้นจึงจะไม่ขอพูดถึงซ้ำ สามารถอ่านได้จากรีวิวของ D5600 (ต่างกันตรงที่ D7500 ไม่สามารถเชื่อมต่อผ่าน NFC เท่านั้น)

สรุป

D7500 เป็นกล้องในระดับกึ่งโปรที่ให้ความรู้สึกไม่หนักมากนัก แต่ภายในแฝงไปด้วยความเร็วเพราะหลายส่วนยกมาจาก D500 ดังนั้นหากใครรู้สึกว่า D5600 ไม่พอก็ขยับมาตัวนี้ได้ เพราะแม้ว่าจะน้ำหนักมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นภาระมากจนเกินไป และยังมีฟีเจอร์ Snapbridge สำหรับการถ่ายโอนภาพเพื่อไปลงโซเชียลเน็ตเวิร์คเพิ่มความสะดวกได้อีกระดับ

สิ่งที่แอบขัดใจเล็กน้อยคือฟีเจอร์อัดวิดีโอ 4K ที่ถูกจำกัดพื้นที่ไปหน่อย คาดว่าในรุ่นถัด ๆ ไป Nikon จะพัฒนาให้เลือกได้เหมือนกับ 1080p รวมถึงระบบโฟกัสใน Live View ที่ช้าไปเล็กน้อย แต่ถ้าใครใช้การถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพเป็นหลัก ประเด็นนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก

Blognone Jobs Premium