รีวิว HP EliteBook x360 1030 G2 โน้ตบุ๊กธุรกิจพับจอได้ ที่เพียบพร้อมด้วยฟีเจอร์

by mk
14 October 2017 - 10:28

ทิศทางของโน้ตบุ๊กฝั่งพีซีในช่วงหลัง มีฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างจอสัมผัส, ฟอร์มแฟคเตอร์แบบถอดจอ (detachable) หรือพับจอ (convertible), การใช้ปากกาเขียนบนหน้าจอ, การล็อกอินด้วยนิ้วมือหรือใบหน้า ฯลฯ ในภาพรวมแล้วถือว่ามีของใหม่ขึ้นจากการเป็นแค่โน้ตบุ๊กฝาพับธรรมดาอยู่พอสมควร

Blognone จึงสำรวจพัฒนาการของโน้ตบุ๊กพีซีว่าไปถึงไหนกันแล้ว ผ่านการรีวิวโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปๆ ที่มีฟีเจอร์เหล่านี้ครบครัน สินค้าตัวแรกที่รีวิวมาจากค่าย HP ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของวงการพีซีโลกรายล่าสุด (แซงหน้า Lenovo) กับ HP EliteBook x360 รุ่นย่อย 1030 G2 ซึ่งเป็นโน้ตบุ๊กตัวท็อปสุดในสายธุรกิจของ HP

รู้จัก HP EliteBook x360

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามโน้ตบุ๊กสาย HP คงมีงงกับการเรียกชื่อรุ่นแน่นอน ต้องย้อนประวัติกันสักหน่อยว่า HP มีสินค้าแยกเป็น 2 สายคือ คอนซูเมอร์ (home หรือ consumer) กับ ธุรกิจ (business หรือ commercial) ในแต่ละสายก็มีซีรีส์ย่อยแยกตามกลุ่มเป้าหมาย ฟีเจอร์ และระดับราคา (เช่น Pavilion, Envy, ProBook, Omen)

ซีรีส์ท็อปที่สุดในฝั่งคอนซูเมอร์คือ Spectre ส่วนซีรีส์ท็อปของฝั่งธุรกิจคือ EliteBook นั่นเอง นอกจากซีรีส์ย่อยแล้ว HP ยังมีวิธีเรียกชื่อรุ่นด้วยการห้อยท้ายตามฟอร์มแฟคเตอร์หรือรูปทรงของเครื่อง ที่พบบ่อยคือ x360 สำหรับโน้ตบุ๊กพับจอได้ (convertible) และ x2 สำหรับโน้ตบุ๊กถอดจอได้ (convertible แบบเดียวกับ Surface)

ส่วนโน้ตบุ๊กที่เรารีวิวกันในคราวนี้คือ HP EliteBook x360 ซึ่งเป็นโน้ตบุ๊กพับจอได้ตัวท็อปสุดของฝั่งธุรกิจ และเนื่องจากมันเป็นโน้ตบุ๊กชื่อนี้ ในเจเนเรชั่นที่สอง (อัพเดตเมื่อเดือนมกราคม 2017 มาใช้ซีพียู Kaby Lake) มันเลยมีชื่อรุ่นแบบเต็มๆ ว่า HP EliteBook x360 1030 G2 (ข้อมูลสินค้าบนเว็บ HP)

EliteBook x360 ยังมีคู่แฝดในฝั่งคอนซูเมอร์คือ HP Spectre x360 ที่หน้าตาและสเปกคล้ายๆ กันแต่ใช้ดีไซน์ที่แตกต่าง (เช่น มีรุ่นสีโทนดำทอง) และไม่มีฟีเจอร์ของฝั่งธุรกิจบางอย่าง ล่าสุด Spectre x360 เพิ่งอัพเดตอีกรอบเป็น Core 8th Gen แต่ฝั่ง EliteBook x360 ยังไม่มีอัพเดตในลักษณะเดียวกันนะครับ

HP Spectre x360 มีสองสีคือ เงิน และดำ-ทอง แต่ EliteBook มีสีเดียวคือเงิน

สเปก

HP EliteBook x360 ตัวที่ได้มารีวิวจาก HP Thailand มีสเปกดังนี้

  • หน้าจอ 13.3" Full HD (1920x1080) จอสัมผัสบวกกระจก Gorilla Glass
  • ซีพียู Intel Core 7th Gen (Kaby Lake) i7-7600U (2.8GHz)
  • จีพียู Intel HD Graphic 620
  • แรม 8GB
  • สตอเรจ SSD 256GB (ระบบเห็นเป็น SanDisk SD8TN8U M.2)
  • รองรับ LTE มีช่องเสียบซิม
  • แบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนไม่ได้ ขนาด 57 Wh
  • ตัวอ่านลายนิ้วมือ และกล้องหน้า IR Camera รองรับ Windows Hello
  • Windows 10 Pro
  • เครื่องบาง 14.9 มิลลิเมตร น้ำหนักตามสเปก เริ่มที่ 1.28 กิโลกรัม

HP EliteBook x360 รุ่นนี้มีราคาเริ่มต้นในไทยที่ 51,900 บาท (Core i5 แรม 4GB) ส่วนรุ่นที่ได้มารีวิวเป็นตัวท็อปที่สุด ราคาประมาณ 69,xxx บาทครับ

EliteBook ตัวนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมขายแยกคือปากกา HP Active Pen ให้มาด้วย แต่ไม่ได้ระบุว่าราคาในไทยขายเท่าไร (ราคาในสหรัฐขาย 59.99 ดอลลาร์)

ดีไซน์

HP EliteBook x360 เป็นโน้ตบุ๊กธุรกิจที่หน้าตาเรียบๆ ใช้ดีไซน์ unibody โทนสีเงินทั้งตัว ดูไกลๆ อาจคล้าย MacBook อยู่บ้าง แต่ดีไซน์นี้ก็เป็นดีไซน์ที่ HP ใช้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และแน่นอนว่ามันมาแบบนี้ถอดเปลี่ยนอะไรเองแทบไม่ได้เลยนะครับ

จุดเด่นที่สังเกตได้ง่ายคือบนฝาเครื่องมีโลโก้ HP แบบเส้นขีด 4 เส้น ซึ่งเป็นโลโก้ที่ใช้กับโน้ตบุ๊กเกรดพรีเมียมของ HP เท่านั้น (EliteBook และ Spectre) แตกต่างจากสินค้ารุ่นอื่นๆ ที่ใช้โลโก้ HP รูปวงกลมที่เราคุ้นเคยกันดี

งานประกอบก็ต้องบอกว่าแน่นหนามาก สมราคาพรีเมียมครับ

ที่ฝาพับแอบมีสลักข้อความ EliteBook ตัวเล็กๆ ต้องเล็งมุมกับแสงดีๆ จึงจะมองเห็น เป็นดีไซน์เชิงพรีเมียมอีกประการหนึ่ง ส่วนตัวข้อพับก็เป็นโลหะ แข็งแรงดีมาก

เนื่องจากมันเป็นโน้ตบุ๊กจอสัมผัสที่พับจอได้ 360 องศา เราก็สามารถใช้งานมันได้หลายท่า เช่น หันจอออกสำหรับดูหนัง หรือคว่าลงเป็นตัว V กลับหัว (tent mode)

ปัจจุบัน Windows 10 รองรับการใช้งานจอสัมผัสค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว การใช้งาน EliteBook x360 ในแง่การเป็นแท็บเล็ตก็ทำได้ดี การสัมผัสทำได้สมบูรณ์ (น้ำหนักอาจเยอะไปนิดสำหรับการถือนานๆ) แต่ประสบการณ์ใช้งานก็คงไม่ต่างอะไรกับแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กสายวินโดวส์ตัวอื่นๆ ครับ

พอร์ตเชื่อมต่อ

จุดเด่นที่สุดของ HP EliteBook x360 ตัวนี้คือพอร์ตเชื่อมต่อ ที่มีให้หลากหลายและครบถ้วนมาก ในขนาดเครื่องที่ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กสายบางเบา พกพาสะดวก (ชวนให้คิดว่าทำไม HP ยัดพอร์ตมาให้เยอะขนาดนี้ได้ แต่ไมโครซอฟท์ทำไม่ได้กับ Surface Pro)

พอร์ตเชื่อมต่อมีเฉพาะฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเท่านั้น ขอบหน้ากับขอบหลังไม่มีพอร์ตใดๆ

ด้านซ้ายมือ เริ่มจากปุ่ม Power ที่อยู่ขอบข้าง, USB 3.1 ใช้ชาร์จได้, ช่องเสียบหูฟัง, ปุ่มปรับระดับเสียง, ช่องเสียบซิม (Micro SIM) และช่องเสียบสมาร์ทการ์ดสำหรับองค์กรที่ต้องใช้งาน

ตำแหน่งของปุ่ม Power อาจดูแปลกๆ หน่อย แต่ต้องไม่ลืมว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้มันพับจอเป็นแท็บเล็ตได้ การวางปุ่ม Power ไว้ที่คีย์บอร์ดอาจทำให้กดลำบากตอนแปลงร่างเป็นแท็บเล็ต การนำมันไปไว้ที่ขอบด้านข้างจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองโหมด

ฝั่งขวามือ มีช่องเสียบ microSD, USB-C รองรับ Thunderbolt, สายล็อค, HDMI, USB 3.1, ช่องเสียบสายชาร์จ

ในแง่ของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ต้องบอกว่าให้มาเยอะจริงๆ (ถ้าเป็นคู่แฝดอย่าง Spectre x360 จะมีพอร์ตน้อยกว่านี้) ถึงขั้นคิดไม่ออกเลยว่าจะสามารถเพิ่มพอร์ตอะไรมาได้อีก (ที่น่าจะมีประโยชน์คือ Ethernet แต่ก็ขึ้นกับข้อจำกัดของความหนาเครื่องด้วย)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ HP EliteBook x360 ตัวนี้มีช่องเสียบสายชาร์จแบบปกติ แต่อแดปเตอร์ที่ทาง HP ให้มาพร้อมกับเครื่อง กลับเป็นสาย USB-C ซึ่งก็สามารถเสียบชาร์จได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร (เรียกได้ว่ามีช่องเสียบสายชาร์จได้ถึง 2 ช่องในเครื่องเดียว)

คีย์บอร์ด และทัชแพด

คีย์บอร์ดของ EliteBook x360 เป็นแบบชิคเล็ตตามสมัยนิยม มาพร้อมทัชแพดไร้ปุ่มขนาดใหญ่ (เป็น Precision Touchpad) ที่รองรับ NFC ในตัว ที่ขอบขวาของเครื่องยังมีช่องสแกนลายนิ้วมือแบบแตะ ใช้กับ Windows Hello ได้ทันที

นอกจากการใช้นิ้วมือล็อกอิน Windows Hello แล้ว เรายังใช้กล้องหน้าล็อกอินด้วยใบหน้าได้เช่นกัน (เร็วกว่าด้วย) ใครที่ใช้ Windows Hello ล็อกอินด้วยหน้าแล้วคงไม่อยากกลับไปล็อกอินด้วยวิธีอื่นๆ อีก

คีย์บอร์ดอาจตื้นไปนิดแต่ก็พิมพ์ได้โอเคดี การจัดเรียงปุ่มไม่มีอะไรพิสดารจนน่าหงุดหงิด แถวบนสุดยังมีปุ่มฟังก์ชันสำหรับธุรกิจ เช่น ปุ่มวางสายของ Skype มาให้ด้วย

ระบบเสียงเป็นลำโพง Bang & Olufsen ที่ HP ใช้ในโน้ตบุ๊กหลายๆ รุ่นของตัวเอง

ข้อติคงมีแค่ปุ่มลูกศรบน-ล่าง จับยัดมาในปุ่มเดียวกัน มีขนาดเล็กค่อนข้างกดลำบาก และปุ่มแถวบนสุดก็ขนาดเล็กไปนิด น่าจะเพิ่มขนาดให้เท่ากับแถวอื่นๆ

ปากกา

HP ให้ปากกา HP Active Pen ที่เป็นอุปกรณ์เสริมมาด้วย ปากกาตัวนี้ใช้เทคโนโลยีของ Wacom โดยเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth หน้าตาและขนาดก็ใกล้เคียงกับปากกาของ Surface แต่มีปุ่มที่ด้ามให้ 2 ปุ่ม บวกกับปุ่มตรงปลายอีก 1 ปุ่ม (ใช้ถ่าน AAAA เหมือนกัน)

อย่างไรก็ตาม ผมไม่สามารถใช้งานปากกาตัวนี้เขียนบนจอได้ แม้สามารถ pair กับเครื่อง และสั่งงานเรียกแอพด้วยการกดปุ่มได้ จากการลองเอาปากกา Surface มาลองใช้ด้วยก็พบว่าแตะจอแล้วไม่เกิดผลใดๆ เหมือนกัน เลยคาดว่าเป็น defect ที่จอภาพของสินค้าตัวทดสอบมากกว่าครับ

HP Active Pen (ขวา) เทียบกับ Surface Pen (ซ้าย)

การใช้งาน ความร้อน และแบตเตอรี่

เท่าที่ลองใช้งาน HP EliteBook x360 ตัวนี้มาก็ค่อนข้างประทับใจ เครื่องทำงานได้เย็น เงียบ และที่สำคัญแบตเตอรี่อึดมากๆ แม้จะไม่ได้รันการทดสอบแบบเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็รู้สึกได้ว่าอึดมาก สามารถนำเครื่องออกจากบ้านไปทั้งวันโดยไม่ต้องนำสายชาร์จไปด้วยเลย

HP โฆษณาว่าแบตอยู่ได้นานถึง 16 ชั่วโมง ส่วนการทดสอบของเว็บไซต์ต่างประเทศหลายสำนัก (เช่น NotebookCheck) ก็อยู่ได้เกิน 10 ชั่วโมงทั้งนั้น

การซ่อมบำรุงเครื่องต้องใช้วิธีถอดฝาด้านล่างออก โดยมีน็อตแบบ 6 เหลี่ยมจำนวน 5 ตัวครับ (วิธีการถอดดูในลิงก์ของ NotebookCheck)

สรุป

HP EliteBook x360 ถือเป็นโน้ตบุ๊กธุรกิจที่เพียบพร้อมมาก มีฟีเจอร์ครบแทบทุกอย่างเท่าที่โน้ตบุ๊กปี 2017 พึงมี และแทบหาข้อติไม่ได้เลยว่าควรเพิ่มอะไรมากไปกว่านี้อีก

คู่แข่งของ EliteBook x360 คงเป็นโน้ตบุ๊กธุรกิจพับจอได้เกรดเดียวกัน เช่น ThinkPad X1 Yoga หรือ Dell Latitude 7000 13" 2-in-1 ซึ่งทาง Blognone จะหามารีวิวต่อไปครับ

ข้อดี

  • หน้าตาเรียบหรู ดูมีชาติตระกูล งานประกอบคุณภาพ
  • สเปกดี ประสิทธิภาพดี
  • ฟีเจอร์ครบครัน จอสัมผัส พับจอได้ รองรับปากกา สแกนลายนิ้วมือ ล็อกอินด้วยใบหน้า
  • คีย์บอร์ดค่อนข้างดี ทัชแพดโอเค
  • พอร์ตเยอะมากถึงมากที่สุด ใส่ซิมได้ด้วย
  • ทำงานเงียบ ไม่ร้อน
  • แบตเตอรี่อยู่ได้นานมาก

ข้อเสีย (พยายามหาแล้วนะ)

  • ปุ่มลูกศรบนคีย์บอร์ดเล็กไปหน่อย
  • สมาร์ทการ์ดอาจไม่ใช่ฟีเจอร์ที่ทุกคนใช้งาน
  • ราคาค่อนข้างแพงสำหรับลูกค้าทั่วไป
  • หลายคนอาจมีความหลังกับแบรนด์ HP
Blognone Jobs Premium