เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อินเทลร่วมกับศูนย์วิจัย QuTech จากเนเธอร์แลนด์ ผลิตชิพควอนตัมขนาด 17 คิวบิตเพื่อใช้ในงานทดสอบของตัวเองแล้ว
ชิพควอนตัมขนาดเท่าเหรียญ 25 เซนต์นี้ จะถูกนำมาประกอบเข้ากับแผ่นวงจร (printed circuit board) โดยใช้เทคนิค flip chip แบบเดียวกับที่ใช้ผลิตโปรเซสเซอร์ขนาด 300 นาโนเมตร เทคนิคนี้ทำให้ชิพของอินเทลสามารถรับ/ส่งสัญญาณดิจิตอลจากภายนอกได้มากขึ้น 10–100 เท่า เมื่อเทียบกับชิพที่ถูกเชื่อมต่อแบบ wire bonding นอกจากนี้ ตัวชิพเองก็ยังถูกออกแบบมาให้ทำงานในสภาพแวดล้อมเย็นจัดที่อุณหภูมิ 20 millikelvin และสามารถลดความถี่รบกวน (radio frequency interference) ระหว่างคิวบิต ซึ่งจะช่วยในเรื่องของประสิทธิภาพในการประมวลผลอัลกอริทึมอีกด้วย
ชิพดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ทดสอบอัลกอริทึมบางอย่างที่เกี่ยวกับ quantum error correction ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดใหญ่ในอนาคต โดยทีมวิจัยจงใจสร้างชิพขนาด 17 คิวบิตเพราะเป็นจำนวนคิวบิตที่น้อยที่สุดที่สามารถทำอัลกอริทึมที่ว่านี้ได้
อินเทลและ QuTech มีความร่วมมือระหว่างมาตั้งแต่ปี 2015 ถึงแม้จะดูช้ากว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ แต่ก็มีข้อได้เปรียบที่เป็นเจ้าตลาดด้าน processor องค์ความรู้ด้านการผลิตชิพก็น่าจะช่วยให้อินเทลมีอะไรไปต่อกรกับคู่แข่งได้บ้าง
ที่มา - Intel Newsroom, MIT Technology Review, IEEE Spectrum