การมาถึงของ Windows Mixed Reality (ที่มาพร้อม Windows 10 Fall Creators Update) ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของไมโครซอฟท์ ในการเข้าสู่สมรภูมิ VR/AR ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในตอนนี้
ถ้าลองนับผู้เล่นในตลาด VR/AR รายใหญ่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ป้อมค่าย ได้แก่ Facebook (Oculus), Valve (SteamVR), Sony (PlayStation VR), Apple (ARKit), Google (Cardboard/Daydream/ARCore) และ Microsoft (Windows Mixed Reality)
สงครามยังเพิ่งเริ่มต้นและยังห่างไกลกับบทสรุป แต่บทความนี้เราจะมาวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อดูภาพรวมว่า ค่ายไหนขั้วไหนมีอาวุธอะไร มีพันธมิตรรายไหนอยู่ในสังกัดกันบ้าง
ไมโครซอฟท์เป็นผู้เล่นรายล่าสุดที่ลงมาเล่นในตลาด VR/AR (แถมมีคำเรียกของตัวเองว่าเป็น MR หรือ Mixed Reality) จุดเด่นของไมโครซอฟท์คือเทคโนโลยี internal tracking ของ HoloLens ไม่ต้องใช้เซ็นเซอร์ภายนอกช่วย ทำให้ใช้งานสะดวกกว่าคู่แข่งอย่าง Oculus หรือ SteamVR/Vive
ไมโครซอฟท์ยังขนพันธมิตรฮาร์ดแวร์มาอีกหลายราย (ได้มาแม้กระทั่งซัมซุงที่เป็นพันธมิตรกับ Oculus อยู่ก่อน) มีแว่นหลากหลายตั้งแต่ถูกไปจนถึงแพง, การจับมือกับ SteamVR ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเกมน้อย แถมก่อนหน้านี้ไมโครซอฟท์ก็ไปทำตลาด HoloLens กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไว้มาก เริ่มมีแอพที่ไม่ใช่เกมสำหรับงานเฉพาะทางด้วย
จุดอ่อนของ Mixed Reality ในตอนนี้คงเป็นว่ามันเพิ่งเริ่มต้น ยังมีคนใช้ไม่เยอะนัก และยังเน้นเฉพาะการใช้บนพีซีเพียงอย่างเดียว ไม่มีเวอร์ชันสำหรับคอนโซล Xbox และไม่มีเวอร์ชันสมาร์ทโฟน (แค่กๆ Windows Mobile)
ตัวอย่างเกม Halo Recruit เกมฟรีที่เปิดตัวพร้อม Windows Mixed Reality
Minecraft VR หมัดเด็ดของไมโครซอฟท์ที่ยังไม่เสร็จ
จุดแข็ง
จุดอ่อน
ต้องให้เครดิต Oculus ว่าเป็นผู้จุดกระแส VR ยุคใหม่ให้กลับมาดังได้สำเร็จ ชื่อแบรนด์ Oculus กลายเป็นตัวแทนของโลก VR และยิ่งมาอยู่ใต้ร่มเงาของ Facebook ก็ยิ่งเพียบพร้อมไปด้วยกำลังเงินและคน
ตัวแพลตฟอร์ม Oculus ดั้งเดิมเน้นตลาดพีซี แต่บริษัทก็มีความร่วมมือกับซัมซุงทำแว่น GearVR สำหรับสมาร์ทโฟน และการอยู่ใต้ Facebook ก็ยังมีโครงการผลักดัน VR/AR แบบไม่ใช้แว่น ผ่านแอพของ Facebook Camera Platform
อย่างไรก็ตาม หลังวางขายแว่น Rift ในเดือนมีนาคม 2016 แล้วบริษัทก็เจอปัญหามากมาย ถึงขนาดผู้ก่อตั้ง Palmer Luckey ต้องลาออก, คดีความกับ ZeniMax และมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่ รวมถึงดึงเอา Hugo Barra อดีตผู้บริหาร Android/Xiaomi มาคุมงาน VR ทั้งหมด
ความคืบหน้าล่าสุดของค่าย Oculus คือการออกแว่นราคาถูก Oculus Go มาเตรียมรับมือแว่น Windows Mixed Reality แต่แว่น Rift รุ่นหน้าโค้ดเนม Santa Cruz ที่มีระบบ tracking ภายใน ยังดูน่าจะใช้เวลาอีกนาน
จุดแข็ง
จุดอ่อน
ถ้าเทียบกับฝั่ง Oculus แล้ว ต้องบอกว่า Valve ซุ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม SteamVR แบบเงียบๆ และเลือกจับมือกับ HTC ผลิตแว่น Vive ออกมาขายโดยไม่เป็นข่าวมากเท่ากับ Rift แต่เทคโนโลยีของ Valve กลับเหนือกว่าจนเป็นตัวเลือกที่นักพัฒนาจำนวนมากนิยมใช้งาน
จุดอ่อนของ SteamVR คือ ณ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตแว่นรายอื่นนอกจาก HTC แม้ Valve ยินดีเปิดเทคโนโลยีให้ใช้ และมี LG ผลิตแว่นต้นแบบมาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน Valve เลือกปิดจุดอ่อนนี้ด้วยการเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์ และเปิดให้แว่น Windows Mixed Reality เข้าถึงเนื้อหาใน SteamVR ได้
จุดเด่นอีกประการของ SteamVR คือการผูกกับแพลตฟอร์ม Steam ที่มีฐานเกมเมอร์จำนวนมากอยู่แล้ว และการที่ Valve พัฒนาเกมได้ ต้องรอดูกันว่า เกม VR ของ Valve จำนวน 3 เกม จะออกมาดีแค่ไหน
จุดแข็ง
จุดอ่อน
ถ้าวัดกันในแง่ยอดขายแว่น ต้องบอกว่า Sony นำมาเป็นที่หนึ่งด้วยยอดทะลุ 1 ล้านชิ้น จากจุดเด่นเรื่องฐานผู้เล่น PS4 ที่มีเครื่องอยู่แล้ว เพียงแค่ซื้อแว่นเพิ่มก็ใช้งานได้เลย (ไม่ต้องอัพเกรดคอมก่อนเหมือน Oculus/Vive) และแว่น PlayStation VR เองก็ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (399 ดอลลาร์ตอนเปิดตัว) กวาดลูกค้ากลุ่ม early adopter ที่เป็นเกมเมอร์และมี PS4 ไปได้มาก
การที่ Sony มีสตูดิโอพัฒนาเกมเอง ยังช่วยให้มีเกม exclusive ที่เด่นๆ เป็นตัวดึงดูดผู้เล่น เช่น Gran Turismo Sport ที่แค่ชื่อก็เหนือกว่าเกมคู่แข่งมาก ล่าสุด Sony เพิ่งโพสต์ในบล็อก PlayStation ว่ามีเกม VR รอออกขายในช่วงปลายปี 2017 ต่อต้นปี 2018 อีกกว่า 60 เกม
ส่วนจุดอ่อนของ PlayStation VR คงเป็นว่ามันผูกกับแพลตฟอร์ม PS4 เพียงอย่างเดียว นำไปใช้ในงานอื่นนอกจากเกมได้ยาก เอาไปใช้กับพีซีก็ยาก ต้องรอดูว่าในระยะยาว มันจะกลายเป็นแพลตฟอร์ม VR เฉพาะเกมเมอร์เท่านั้นหรือไม่ หรือ Sony จะสามารถขยายผลออกมาในวงกว้างกว่านี้ได้
จุดแข็ง
จุดอ่อน
แอปเปิลเป็นม้ามืดอีกรายที่เข้าสู่วงการ AR ได้อย่างสวยงาม แนวทางของแอปเปิลแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเน้นไปที่ AR แบบไม่ใช้แว่นเพียงอย่างเดียว (Tim Cook บอกยังไม่รีบทำแว่น AR เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่ดีพอตามที่แอปเปิลต้องการ)
จุดเด่นของ ARKit คือการที่มันผนวกมาใน iOS 11 จึงมีฐานผู้ใช้ iPhone/iPad จำนวนมหาศาล ที่พร้อมจะเปิดกล้องใช้งาน AR ทันที ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม บวกกับฐานนักพัฒนาแอพสายแอปเปิล ที่มีจุดเด่นเรื่องการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของแอปเปิลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดคอนเทนต์บน ARKit มากมาย
จุดอ่อนของแอปเปิลคงเป็นว่า ARKit ผูกกับแพลตฟอร์มของแอปเปิลเอง จะไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น (แม้แต่ macOS) ก็คงยาก แถมการอิงกับสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว อาจจับได้เฉพาะกลุ่ม casual gamer เข้าไม่ถึงกลุ่ม hardcore gamer ที่หันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น
จุดแข็ง
จุดอ่อน
กูเกิลออกตัวแรงมากกับ Google Cardboard ที่ใช้ง่ายและราคาถูก (ยอดขาย 100 ล้านชุด) แต่พอจะขยับไปยังแพลตฟอร์มที่คุณภาพดีขึ้น แผนการ Google Daydream กลับเดินหน้าช้ามาก แถมแว่น Daydream ก็เป็นไปตามแนวทาง "อินดี้ไม่เน้นขาย" ของกูเกิล ส่วน Project Tango ที่เป็นหัวหอกด้าน AR ก็ถูกโอนไปให้ Lenovo แล้วตัวมันเองกลายร่างเป็น ARCore ที่ยังตามหลังคู่แข่งอย่าง ARKit อยู่ไกล
จุดแข็ง
จุดอ่อน
อย่างที่เขียนไปในตอนแรกว่า สมรภูมิ AR/VR เพิ่งเริ่มต้น คงต้องต่อสู้กันอีกนานกว่าจะเห็นผลแพ้ชนะ แต่ตอนนี้เราสามารถแยกสนามรบได้เป็น 3 สนามใหญ่ๆ คือ
จุดที่น่าจะต่อสู้กันดุเดือดที่สุดคงหนีไม่พ้นฝั่งพีซี ซึ่งการเข้าสู่สนามรบของไมโครซอฟท์ พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรกับ Valve ย่อมทำให้ Facebook/Oculus เป็นฝ่ายตั้งรับ ส่วนในสนามสมาร์ทโฟน แอปเปิลที่ออกตัวไปก่อนเพื่อนน่าจะกวาดส่วนแบ่งได้เยอะกว่าฝั่ง Android มาก
ส่วนฝั่งคอนโซลที่ผูกกับแพลตฟอร์มชัดเจน ตอนนี้ Sony ยังตีกินแบบสบายๆ ไร้คู่แข่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าเกมหลายๆ เกมเป็น cross platform ที่เล่นในพีซีได้ด้วย และในอนาคตก็คงหนีไม่พ้นที่ไมโครซอฟท์จะดัน Mixed Reality สู่ Xbox เช่นกัน