ปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญแพร่ไปในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ไม่เพียงในวงการไอทีและคอมพิวเตอร์ วงการแพทย์ การขนส่ง อีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่ร้านค้ารายย่อย ปัญญาประดิษฐ์ช่วยสร้างทางลัดการทำงานและเพิ่มรายได้ได้ในทางหนึ่ง บริษัทจึงมีแนวโน้มต้องการผู้เชี่ยวชาญ AI มากขึ้น และแน่นอนย่อมมาพร้อมกับแรงจูงใจค่าแรงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ AI ตามบริษัทไอทีใหญ่ 9 คน (ไม่ประสงค์ออกนาม) พวกเขาบอกว่าตัวเองมีรายได้ถึงปีละ 3-5 แสนดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 10-16 ล้านบาทต่อปี) แม้จะเพิ่งจบการศึกษาใหม่หรือมีประสบการณ์เพียงปีสองปีก็ได้รับค่าจ้างอัตราสูง
บริษัท DeepMind ที่มีชื่อเสียงด้าน AI เฉพาะปีที่แล้วใช้เงินไปกับการเพิ่มบุคลากรถึง 138 ล้านดอลลาร์ เป็นพนักงาน 400 คน เฉลี่ยแล้วตกคนละ 345,000 ดอลลาร์
ประเด็นสำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญ AI ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการในตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดที่มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมไอที ยังมีอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อทำรถไร้คนขับ ข้อมูลจาก Element AI ระบุว่าในโลกนี้มีผู้เชี่ยวชาญ AI โดยเฉพาะอย่างแท้จริงไม่ถึงหมื่นคน
อีกปรากฏการณ์คือนอกจากผู้เชี่ยวชาญ AI จะน้อยแล้ว บรรดาบริษัทไอทีใหญ่ยังพิจารณาจากผู้สมัครจากมหาวิทยาลัยดังๆ ก่อน และยังพิจารณ์ว่าใครเป็นอาจารย์ที่สอนด้วย อาจารย์บางคนก็ลาออกจากงานสอนมาทำที่บริษัทไอทีเลย (มีอาจารย์จากสแตนฟอร์ด 4 ราย และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน 6 ราย) เพราะแรงจูงใจทางรายได้มันสูงจนห้ามกันได้ยาก
สำหรับบริษัทไอทีรายเล็ก ก็จะมองหาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอื่นที่อาจไม่มีชื่อเสียงเท่า หรือจ้างคนทำสตาร์ทอัพ คนต่างชาติ ชาวเอเชีย อินเดีย ที่อาจจ่ายค่าแรงถูกกว่าได้ (แต่วิธีนี้ Google, Facebook, Microsoft ก็ทำเหมือนกัน)
สรุปแล้วตลาดงาน AI จะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่การเสนอค่าจ้างแพงขึ้นตามความต้องการของตลาด เพราะทั้งบริษัทไอทีรายใหญ่และเล็กต่างต้องการผู้เชี่ยวชาญ AI เป็นจำนวนมากเพื่อแข่งขันในสนามธุรกิจและตามให้ทันยุคสมัย ในขณะที่การฝึกอบรมสร้างคนต้องใช้เวลาหลายปี
ที่มา - The New York Times