ในช่วงสิบปีหลังมีความพยายามในการเอาหุ่นยนต์มาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดมากขึ้น (ในเมืองไทยเองก็มีหลายแห่ง) หุ่นยนต์เหล่านี้ได้ผลดีในการผ่าตัดบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ความหวังในการเอาหุ่นยนต์ราคาแพงมาช่วยในการผ่าตัดตลอดเวลานั้นอาจจะเริ่มต้องมาคิดกันใหม่ เมื่องานวิจัยล่าสุดพบว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยทุกเรื่อง
งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสารแพทยสมาคมสหรัฐอมริกา ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร นำโดย David Jayne และคณะ ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ตรง (Rectal cancer) จำนวน 471 รายใน 10 ประเทศทั่วโลก โดยทำการสุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ให้เข้าร่วมการผ่าตัดแบบส่องกล้องธรรมดา (Conventional laparoscopic) หรือผ่าตัดแบบใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic-assisted laparoscopic) ทั้งนี้ศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องมีประสบการณ์ผ่าตัดทั้งสองแบบมาก่อนอย่างน้อย 30 รายขึ้นไปและต้องเคยใช้หุ่นยนต์ช่วยมากกว่า 10 ราย แล้วทำการเปรียบเทียบอัตราความไม่สำเร็จของการผ่าตัด รวมทั้งเก็บระยะเวลาที่ผ่า, คุณภาพชีวิตหลังผ่า และค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบกัน
ผลปรากฎว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนั้นมีอัตราความไม่สำเร็จ (หมายถึงต้องเปลี่ยนวิธีไปผ่าตัดเปิดหน้าท้องธรรมดา) ทั้งสองกลุ่มนั้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยอยู่ที่ราว 10% นอกจากนี้แล้วการผ่าแบบใช้หุ่นยนต์ยังผ่านานกว่าราวๆ 40 นาที และยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ในวารสารฉบับเดียวกันยังมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบการผ่าตัดไตด้วยวิธีใช้หุ่นยนต์ซึ่งพบว่าผ่านานกว่าและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าเช่นเดียวกัน โดยบรรณาธิการของวารสารในฉบับนี้ได้ให้ความเห็นว่า เราควรจะต้องระมัดระวังการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านศัลยกรรมเข้ามาใช้ในระบบสุขภาพด้วย
ที่มา: งานวิจัยหลัก, งานวิจัยรอง, บทบรรณาธิการใน Journal of American Medical Association